รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 23 - 27 ธันวาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 7, 2020 14:05 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ 13.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ย. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -16.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน พ.ย. 62 หดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริง ที่ร้อยละ -5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน พ.ย.62 หดตัวร้อยละ -6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ย. ปีงบประมาณ 2563 หดตัวร้อยละ -19.9 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ย. ปีงบประมาณ 2563 หดตัวร้อยละ -13.1 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ย. 62 ขาดดุลจำนวน -8.0 พันล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ย. 62 หดตัวชะลอลงร้อยละ -1.7 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ย. 62 มีมูลค่า 19,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อดูรายละเอียดมิติกลุ่มสินค้า พบว่า สินค้าส่งออกที่หดตัว อาทิ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ ทองคำ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น ขณะที่ การส่งออกบางรายการสินค้าสำคัญยังมีสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง เป็นต้น ด้านมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ตลาดส่งออกที่ส่วนใหญ่ยังคงมีสัญญาณหดตัว ขณะที่ การส่งออกไปยัง จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และกลุ่มตะวันออกกลาง ขยายตัวในเดือนดังกล่าว ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 11 เดือนแรก ปี 62 ยังคงหดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ย. 62 มีมูลค่า 19,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 13.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้านำเข้าที่หดตัวได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง สินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าทุน ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงขยายตัวในเดือนดังกล่าว ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าช่วง 11 เดือนแรกปี 62 ยังคงหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน พ.ย. 62 ยังคงเกินดุลมูลค่า 549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วง 11 เดือนแรกของปี 62 ดุลการค้าของไทยเกินดุล 9.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ย. 62 มีจำนวน 3.36 ล้านคน ขยายตัวที่ ร้อยละ 5.9 ต่อปี (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า หดตัวร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) โดยเป็นผลจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจีน ที่ขยายตัวร้อยละ 18.3 ต่อปี เป็นสำคัญ และนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัว ได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวไต้หวัน อินเดีย และรัสเซีย ที่ขยายตัวร้อยละ 25.3, 22.6 และ 10.8 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน พ.ย. 62 มีมูลค่ารวม 166,897 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี โดยเป็น การขยายตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน ที่ขยายตัว ร้อยละ 14.4 ต่อปี เป็นสำคัญ

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ย. 62 มีจำนวน 29,646 คัน หดตัวที่ร้อยละ -16.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -5.9 โดยเป็นผลจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่มากขึ้น และการรอค่ายรถยนต์ต่างๆ เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงปลายปี ประกอบกับเป็นช่วงเปลี่ยนรุ่นรถยนต์นั่งอีโคคาร์ของหลายบริษัทด้วย ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายนยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี 62 ยังคงขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนพ.ย. 62 มีจำนวน 49,653 คัน หดตัวที่ร้อยละ -16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อปรับผลทางฤดูกาล ตามการหดตัวของปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ร้อยละ -17.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง การอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่ชะลอการซื้อในเดือนก่อนหน้าเนื่องจากรอการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในงานมอเตอร์เอ็กโปช่วงปลายเดือน พ.ย. จนถึงต้นเดือน ธ.ค.62 ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกที่จะช่วยเสริมการเติบโตของยอดรถยนต์เชิงพาณิชย์ในช่วงที่เหลือของปีได้ ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวที่ร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน พ.ย. 62 มีมูลค่า 65,677 ล้านบาท คิดเป็นการหดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ -5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ยังขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 โดยยังเป็นผลจากการชะลอลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -15.6 ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยังคงได้รับอนิสงค์จากมาตรการชิมช้อปใช้ผ่านการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพ.ย.62 หดตัวร้อยละ -6.3 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล หดตัวจากหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ และภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากการขายอสังหาริมทรัพย์บุคคลธรรมดาที่ร้อยละ -1.2 และ -14.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการชะลอตัวของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 62 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ย. ปีงปม. 63 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 181.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -19.9 ต่อปี ทำให้ 2 เดือนแรกของปีงปม. 63 เบิกจ่ายได้ 549.5 คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 16.8 โดย (1) รายจ่ายปีปัจจุบัน เบิกจ่ายได้ 154.6 พันล้านบาทหดตัวร้อยละ -22.6 ต่อปี หรือ 2 เดือนแรกเบิกจ่ายได้ 502.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 16.7 ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น (1.1) รายจ่ายประจำ 148.9 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -17.9 ต่อปี และ 2 เดือนแรกเบิกจ่ายได้ 485.9 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 20.2 และ (1.2) รายจ่ายลงทุน 5.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -62.9 ต่อปี โดย 2 เดือนแรกเบิกจ่ายได้ 16.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมทั้งปีที่ร้อยละ 2.7 (2) รายจ่ายปีก่อน เบิกจ่ายได้ 26.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปี โดย 2 เดือนแรกเบิกจ่ายได้ 47.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 18.0

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.)ในเดือน พ.ย. ปีงปม. 63 ได้จำนวน 172.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -13.1 ต่อปี โดยมาจาก (1) รายได้จาก 3 กรมภาษีหดตัวร้อยละ -12.2 ต่อปี และ (2) รายได้จากหน่วยงานอื่นหดตัวร้อยละ -5.0 ต่อปี ทำให้ 2 เดือนแรกของปี งปม. 63 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิได้ 413.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ย. 62 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -8.0 พันล้านบาททั้งนี้และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 36.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล 44.5 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ 340.8 พันล้านบาท ทำให้ 2 เดือนแรกปี งปม. 63 ดุลเงินงบประมาณขาดดุล -119.8 พันล้านบาท และเงินคงคลังอยู่ที่ระดับ 340.8 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัว ในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงที่ร้อยละ -3.2 และ -5.8 ตามลำดับ ขณะที่ผลผลิตสินค้าในหมวดปศุสัตว์ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง กลุ่มไม้ผล ไข่ไก่ และไก่ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กุ้งขาวแวนนาไม และสุกร

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณา รายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 3.7 และ 1.9 ตามลำดับ โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน กลุ่มไม้ผล ไก่ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสุกร

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -0.8 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการหดตัวดัชนีฯ มาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่หดตัวร้อยละ -21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ทำให้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ดัชนีฯ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 62 หดตัวร้อยละ -3.6 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 63.2 ของกำลังการผลิตรวม จากการเร่งการผลิตเพื่อรองรับกับวันหยุดยาวในช่วงเทศกาล

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ย. 62 หดตัวชะลอลงร้อยละ -1.7 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อเดือน โดยมีปัจจัยมาจากการหดตัวของเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี หดตัวร้อยละ -24.9 และ -16.8 ต่อปี ตามลำดับ จากภาวะการส่งออกที่ชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างกลับมาขยายตัว ได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อยและเหล็กลวด จากความต้องการใช้งานในประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ หดตัวร้อยละ -7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 62 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงเป็นสำคัญ และยอดขายบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ 7.19 แสนหลังต่อปี คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.3 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล)ระดับ เป้นผลจากยอดขายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 52.4 และ 7.5 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ตามลำดับ

Taiwan: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.15 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.64 โดยผลผลิตของภาคการผลิตขยายตัวได้ดี ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.44 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายสิ่งทอและเสื้อผ้าขยายตัวได้ดี อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ -8.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -7.2 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 2560

Japan: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 62 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู๋ที่ร้อยละ 2.2 จากกำลังแรงงานรวมยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -7.0 โดยยอดขายสินค้าทุกหมวดหดตัวชะลอลง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยผลผลิตโลหะและเหล็กหดตัวเร่งขึ้น

UK: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่ลดลงและอุตสาหกรรมภาคบริการที่ชะลอตัวลง

Singapore: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.4 โดยระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทุกหมวด ยกเว้น หมวดสุขภาพที่ปรับตัวลดลง ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยผลผลิตสินค้าประเภทยา และเครื่องหนังชะลอตัวลงมากที่สุด มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -9.3 จากการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันที่หดตัวน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -10.3 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Hong Kong: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าหมวดคงทนปรับตัวลดลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 26 ธ.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,579.03 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 23 - 26 ธ.ค. 62 ที่ 33,052 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนทั่วไปในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 26 ธ.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -1,868 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-11 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีมีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 23 - 26 ธ.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -5,059 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 26 ธ.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 30.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.17 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงินเยน ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.13

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ