รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 13 - 17 มกราคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 21, 2020 14:39 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 62 คิดเป็น 1.96 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ธ.ค. 62 ปรับตัวลดลงขึ้นอยู่ที่ระดับ 91.7 จากระดับ 92.3 ในเดือนก่อนหน้า
  • GDP ของจีน ไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 62 คิดเป็น 1.96 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 ตามความต้องการใช้งานปูนซีเมนต์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก และหากปรับผลทางฤดูกาลพบว่าหดตัวร้อยละ -5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ในไตรมาสที่ 4 และในปี 62 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศหดตัวร้อยละ -4.9 และ -5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ อย่างไรก็ดี การออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล และการออกรายการส่งเสริมการขายของเอกชน จะเป็นตัวช่วยให้การลงทุนด้านการก่อสร้างยังคงเติบโตได้

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ธ.ค. 62 ปรับตัวลดลงขึ้นอยู่ที่ระดับ 91.7 จากระดับ 92.3 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับลดลงอีกครั้งหลังจากค่าดัชนีเพิ่มขึ้นในเดือนก่อน ซึ่งเกิดจากปัจจัยความกังวลของผู้ประกอบการต่อกำลังซื้อภายในประเทศ และภาคการส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 100.1 จากระดับ 101.3 เนื่องจากผู้ประกอบการ มีความกังวลต่อเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ธ.ค. 62 เพิ่มขึ้น 1.45 แสนตำแหน่ง ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากการจ้างงานในหมวดอุตสาหกรรมที่ลดลงเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเดือน ธ.ค. 62 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 63.2 ของประชากรวัยแรงงาน ส่งผลให้อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 62 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม ระดับ ทั้งนี้ รายได้เฉลี่ยภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 988.26 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ และอัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากราคาสินค้าในหมวดการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

China: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวถึงร้อยละ 16.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ในเดือน ธ.ค. 62 จีนเกินดุลการค้าที่ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

Eurozone: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดพลังงานที่ชะลอลง ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดพลังงานและวัสดุจากอุตสาหกรรมเครื่องจักรที่ชะลอลง ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 20.7 พันล้านยูโรผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดโลหะและเหมืองแร่เป็นสำคัญ

India: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 7.4 จากช่วยเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ต้นทุนอาหารและเครื่องดื่มและสินค้าเบ็ดเตล็ด เป็นต้น มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -1.8 จากเดือนก่อนหน้า ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ในเดือน ธ.ค. 62 อินเดียขาดดุลที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

UK: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดทองและเชื้อเพลิงที่เร่งขึ้น ด้านมูลค่าการนำเข้า หดตัวที่ร้อยละ -6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ชะลอลง ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 4.0 พันล้านปอนด์ ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 62 หดตัวที่ ร้อยละ -1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

Malaysia: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นมาจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 3.2

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม และเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 63 ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี

Singapore: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -4.0 หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายจากสถานีบริกการน้ำมัน และ สินค้าที่เกี่ยวกับสายตาที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 62 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวติดต่อกันมาเป็นเวลา 9 เดือน จากสินค้าทุกหมวดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากมูลค่าการนำเข้าก๊าซที่ยังคงหดตัวสูง ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Indonesia: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 62 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวต่อเนี่องมา 13 เดือนจากการส่งออกสินค้าทุกหมวดที่เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นสินค้าประเภทน้ำมันดิบและก๊าซที่หดตัวลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้ายังคงหดตัวที่ร้อยละ -5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.2 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 16 ม.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,595.87 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 13 - 16 ม.ค. 63 ถึง 63,218 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและ นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 13 - 16 ม.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -5,352 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับเพิ่มขึ้น 0-4 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 1.72 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 13 - 16 ม.ค. 63 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -2720 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 16 ม.ค 63 เงินบาทปิดที่ 30.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.01 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สวนทางกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงินยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล โดยดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.40

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ