รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 3 - 7 กุมภาพันธ์ 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 11, 2020 14:15 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของม.หอการค้าไทย ในเดือน ม.ค. 63 ปรับตัวลดลงจากระดับ 56.0 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 54.9
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 41.2 ของ GDP
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ม.ค. 62 สูงขึ้นร้อยละ 1.05 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ม.ค. 63 สูงขึ้นร้อยละ 0.47 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ ร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ธ.ค. 62 เกินดุล 4,108.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP ของฮ่องกง ไตรมาสที่ 4 ปี 62 (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน ม.ค. 63 ปรับตัวลดลงจากระดับ 56.0 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 54.9 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 โดยผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจากจีน อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งภาคการท่องเที่ยวภาคการส่งออก และกำลังซื้อภายในประเทศ นอกจากนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้าออกไป และปัญหาภัยแล้งอาจเป็นปัจจัยลบที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในอนาคต ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในอนาคตยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,953,937 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.2 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 8,588 ล้านบาท ทั้งนี้สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 92.0 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 97.3 ของยอดหนี้สาธารณะ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ม.ค. 62 สูงขึ้นร้อยละ 1.05 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 8 เดือน และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศอีกครั้ง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของหมวดอาหารสด เช่น ข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ และการกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 9 เดือน ของหมวดพลังงาน โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในเดือน ม.ค. 63 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อหักราคาอาหารสดและพลังงาน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ม.ค. 63 สูงขึ้นร้อยละ 0.47

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนม.ค. 63 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 9.2 โดยเป็นการหดตัวทั้งในเขตภูมิภาคร้อยละ -2.1 และเขต กทม. หดตัวที่ร้อยละ -1.7 เนื่องจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ธ.ค. 62 เกินดุล 4,108.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 3,375.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลที่ 2,219.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 1,889.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกที่ลดลงมากกว่ามูลค่าการนำเข้าที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 62 เกินดุลรวม 37,307.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 62 มียอดคงค้าง 18.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่สินเชื่อในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้น เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจหดตัวที่ร้อยละ -0.8 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 62 มียอดคงค้าง 20.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 4.1 และเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ม.ค. 63 เท่ากับ 105.4 หดตัวร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 โดยมีสาเหตุสำคัญ มาจากการหดตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ร้อยละ -8.5 ต่อปี จากราคาวัตถุดิบที่ปรับลดลง และมีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาจำหน่ายเป็นปริมาณมาก ทั้งนี้ สถานการณ์ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงต้นปี 2563 ยังคงหดตัวตามแรงกดดันของเศรษฐกิจในประเทศ และความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ พ.ศ. 2563 อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเริ่ม มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรามาตรการผ่อนคลายการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan To Value : LTV) น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนภาคการก่อสร้างในประเทศให้ดี

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 62 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าในหมวดวัสดุอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้า ยังหดตัวที่ร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าในทุกหมวดที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหมวดวัสดุอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 45.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 43.3 จุด จากดัชนีย่อยในหมวดคำสั่งซื้อใหม่และหมวดการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด

Indonesia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 49.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนจากดัชนีย่อยหมวดยอดคำสั่งซื้อใหม่และการส่งออกที่ลดลง

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ปี 62 โดยเป็นการชะลอลงจากการส่งออก ส่งผลให้ทั้งปี 62 เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 5.02 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 121.7 จุด ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 126.4 จุด จากความเชื่อมั่นที่ลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในเรื่องการจ้างงาน และรายได้

Eurozone: mixed signal

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 47.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 46.3 จุด จากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ด้านยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดอาหารและเครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เป็นสำคัญ

UK: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 50.0 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.5 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ด้านดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 53.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.0 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่ทีเพิ่มมากขึ้น

Australia: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าประเภทสินแร่โลหะ แร่ธาตุ และเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีกอ่น จากสินค้าประเภท อุปกรณ์ขนส่งอุตสาหกรรมและอุปกรณ์ขนส่งที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกินดุลการค้า 5.2 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 63 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

South Korea: mixed signal

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.1 จุด โดยการผลิตปรับตัวลดลงเล็กน้อย

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.7

Hong Kong: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 62(เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 63 หดตัวร้อยละ -19.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายสินค้าหมวดเสื้อผ้าและรองเท้าหดตัวชะลอลง

India: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเดือน ม.ค. 63 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.3 จุด และ 55.5 จุด ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนี PMI รวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.3 จุด เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 63 ธนาคารกลางอินเดียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 5.15 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

Taiwan: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.8 จุด โดยการผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ขยายตัวเร่งขึ้น

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าหมวดเสื้อผ้าปรับตัวสูงขึ้น

Vietnam: worsening economic trend

ดัชนี PMI เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 50.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.8 จากยอดผลผลิตที่ลดลง

Malaysia: mixed signal

ดัชนี PMI เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 47.9 จุด ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากยอดคำสั่งซื้อและผลผลิตที่ลดลง มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 63 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกเกือบทุกหมวดที่เพิ่มขึ้โดยเฉพาะเครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่งขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.9 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -3.6 ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากการผลิตเหมืองแร่ และไฟฟ้าที่ลดลง

Philippines: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ระดับ 52.1 จุด จากผลผลิต และยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยระดับราคาในหมวดอาหาร ไฟฟ้า ก๊าซ และเชื้อเพลิงอื่นๆที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -9.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าจากน้ำมัน และอาหารที่ลดลง เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 63 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.75 ต่อปี ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ตั้งแต่มีนโยบายผ่อนคลายด้านการเงิน

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน ดัชนี SET ณ วันที่ 6 ก.พ. 63 ปิดที่ระดับ 1535.79 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 3 - 6 ก.พ. 63 ที่ 62,174.94 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 3 - 6 ก.พ. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -5,300 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 6-12 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 3 - 6 ก.พ. 63 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 765.18ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 6 ก.พ. 63 เงินบาทปิดที่ 31.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.38 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สวนทางกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงินเยน เงินยูโร ริงกิต วอน และดอลลาร์สิงคโปร์ที่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.04

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ