รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 24 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 3, 2020 13:55 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. 63 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน ม.ค. 63 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ม.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ม.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ม.ค. 63 หดตัว ณ ระดับ ราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -17.4 ต่อปี
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -28.8 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -6.8 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน ม.ค. 63 ขาดดุลจำนวน -22,580 ล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -14.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. 63 มีมูลค่า 19,626 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อดูรายละเอียดมิติกลุ่มสินค้า พบว่า สินค้าส่งออกที่หดตัว อาทิ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ผัก และผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น ขณะที่ การส่งออกบางรายการสินค้าสำคัญยังมีสัญญาณขยายตัว อาทิ ทองคำ รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องสำอาง เครื่องคอมพิวเตอร์ น้ำตาลทราย ยางพารา เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น ด้านมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ตลาดส่งออกสำคัญยังขยายตัวดี อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป อาเซียน 5 และตะวันออกกลาง ขณะที่ การส่งออกไปญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเลเซีย ทวีปออสเตรเลีย กลุ่ม CLMV และทวีปแอฟริกา ยังคงหดตัวในเดือนดังกล่าว

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ม.ค. 63 มีมูลค่า 21,181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้านำเข้าที่หดตัวได้แก่ สินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง และอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่น ๆ ขณะที่ กลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค มีการขยายตัวในเดือนดังกล่าว สำหรับดุลการค้าในเดือน ม.ค. 63 ขาดดุลอยู่ที่มูลค่า 1,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ม.ค. 63 มีจำนวน 3.81 ล้านคน ขยายตัวที่ ร้อยละ 2.5 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า หดตัวลดลงที่ร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย และรัสเซีย ที่ขยายตัวร้อยละ 28.4 27.4 20.6 และ 11.2 ตามลำดับ ทำให้สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ม.ค. 63 มีมูลค่ารวม 188,788 ล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -3.6 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หดตัวร้อยละ -10.0 เป็นสำคัญ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวในหมวดพืชผลสำคัญที่ร้อยละ -4.2 เป็นสำคัญ ขณะที่ผลผลิตสินค้าในหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 และ 20.1 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มไม้ผล ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร และไข่ไก่

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ม.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดหมวดพืชผลสำคัญและหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวร้อยละ 10.4 และ 7.5 ตามลำดับ ขณะที่ราคา ในหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -10.7 โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน กลุ่มไม้ผล สุกร ไก่ และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกุ้งขาวแวนนาไม

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ม.ค. 63 มีมูลค่า 70,203 ล้านบาท คิดเป็นการหดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -1.0 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวชะลอลงที่ ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -17.4 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -10.5 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยหดตัวจาก หมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ที่ร้อยละ -15.7 ต่อปีเป็นสำคัญ ตามยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงจาก ปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ประกอบกับการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการผ่อนปรนมาตรการ LTV ลง จะเป็นตัวช่วยหนุนให้ภาษีอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 63 ปรับตัวดีขึ้น

Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ม.ค. 63 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 217,011 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -28.8 ต่อปี ทำให้ 4 เดือนแรกของปีงปม. 63 เบิกจ่ายได้ 1,027,094 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 31.5 โดย (1) รายจ่ายปีปัจจุบัน เบิกจ่ายได้ 192,123 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -32.9 ต่อปี หรือ 4 เดือนแรกเบิกจ่ายได้ 921,613 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 30.7 ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น (1.1) รายจ่ายประจำ 184,120 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -28.2 ต่อปี หรือ 4 เดือนแรกเบิกจ่ายได้ 887,611 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 36.9 และ (1.2) รายจ่ายลงทุน 8,003 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -73.4 ต่อปี หรือ 4 เดือนแรกเบิกจ่ายได้ 34,002 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 5.7 (2) รายจ่ายปีก่อน เบิกจ่ายได้ 24,888 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 35.4 ต่อปี โดย 4 เดือนแรกเบิกจ่ายได้ 105,341 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 40.1 ต่อปี

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ม.ค. 63 ได้จำนวน 202,878 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -6.8 ต่อปี โดยมาจาก (1) รายได้จาก 3 กรมภาษีขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี แต่ (2) รายได้จากหน่วยงานอื่นหดตัวร้อยละ -29.3 ต่อปี จากส่วนราชการอื่น อันเนื่องมาจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival และกรมธนารักษ์เป็นสำคัญ ทำให้ 4 เดือนแรกของปี งปม. 63 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิได้ 811,773 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.3 ต่อปี

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ม.ค. 63 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน 22,580 ล้านบาท ทั้งนี้และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 14,151 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -8,429 ล้านบาท และเงินคงคลังณ สิ้นเดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ 337,829 ล้านบาท ทำให้ 4 เดือนแรก ปี งปม. 63 ดุลเงินงบประมาณขาดดุล -183,440 ล้านบาท และเงินคงคลังอยู่ที่ระดับ 337,829 ล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวที่ร้อยละ -0.2 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการหดตัวดัชนีฯ ในเดือน ม.ค. 63 มาจากการหดตัวของหมวดยานยนต์ที่หดตัวร้อยละ -13.3 หมวดเฟอร์นิเจอร์ที่หดตัวร้อยละ -11.8 และหมวดผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติกที่หดตัวร้อยละ -7.6 เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 66.5 ของกำลังการผลิตรวม

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -14.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวร้อยละ -5.5 ต่อเดือน โดยมีปัจจัยมาจากเหล็กที่ใช้ในอุสาหกรรมหดตัว ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนและเหล็กแผ่นรีดเย็นที่หดตัวร้อยละ -9.3 และ -14.4 ต่อปีตามลำดับ ตามภาคการส่งออกและภาคการผลิตที่ยังคงชะลอตัว

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ม.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.3 จากยอดสร้างบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่ขยายตัวที่ร้อยละ 17.7 และ 25.8 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.4 จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าหมวดป้องกันตัว (Defense) และ คอมพิวเตอร์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเร่งขึ้น

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -22.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีน หดตัวในระดับสูง มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -16.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขเบื้องต้น

Eurozone: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดพลังงานและขนส่งเป็นสำคัญ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ 63 อยู่ที่ระดับ -6.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -8.1 จากความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

Japan: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 101.8 ปรับตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 (เบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงานเดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดสินค้าทั่วไปที่มียอดขายเพิ่มขึ้น

Singapore: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คงที่จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าหมวด ชีวการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

Taiwan: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -1.51 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยภาคการผลิต หดตัวถึงร้อยละ -22.8 ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3 หรือขยายตัวร้อยละ 1.9 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)

South Korea: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ 63 อยู่ที่ระดับ 96.9 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 104.2 จุด ถือเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนส.ค. 62 ที่อยู่ที่ระดับ 92.4 จุด ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี หลังจากที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมือเดือนตุลาคม 62 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน ดัชนี SET ณ วันที่ 27 ก.พ. 63 ปิดที่ระดับ 1,395.08 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 24 - 27 ก.พ. 63 ที่ 81,284.88 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 - 27 ก.พ. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -3,874.38 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-10 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 2.38 เท่าของวงเงินประมูลทั้งนี้ระหว่างวันที่ 24 - 27 ก.พ. 63 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -17,046.7 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 27 ก.พ. 63 เงินบาทปิดที่ 31.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 1.49 จากสัปดาห์ก่อนหน้า และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเงินริงกิต วอน และหยวน ในขณะที่เงินสกุลหลักอื่น ๆ เช่น เงินเยน เงินยูโร ดอลลาร์สิงคโปร์ กลับแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับตัวลดลงร้อยละ -1.43

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ