รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25 - 29 พฤษภาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 1, 2020 16:08 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ในเดือน เม.ย. 63 ไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวที่ร้อยละ -100 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน เม.ย. 63 หดตัวร้อยละ -13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน เม.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -17.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน เม.ย. 63 หดตัวร้อยละ -6.0 ต่อปี
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน เม.ย. 63 หดตัวร้อยละ -13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 63 พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงที่ร้อยละ -19.9 และ -23.8 ตามลำดับ ขณะที่ผลผลิตสินค้าในหมวดปศุสัตว์ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่ และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มไม้ผล และกุ้งขาว แวนนาไม

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน เม.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 63 พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 ขณะที่ราคาในหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -0.2 และ -12.6 ตามลำดับ โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน กลุ่มไม้ผล และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -17.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการหดตัวดัชนีฯ ในเดือน เม.ย. 63 มาจากการหดตัวของหมวดยานยนต์ เครื่องดื่ม และเครื่องปรับอากาศ ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -80.3 -34.3 และ -30.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน เม.ย. 63 หดตัวร้อยละ -6.0 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยหดตัวจากเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ที่หดตัวร้อยละ -13.9 -29.1 และ -18.0 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคการผลิต และภาคการส่งออกที่ชะลอตัวจากโควิด-19 ขณะที่เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการ ป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดจากโควิด-19 ส่งผลให้การก่อสร้างเริ่มกลับมาก่อสร้างได้มากขึ้น ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 63 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศหดตัวร้อยละ -7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Economic Indicators: This Week

ในเดือน เม.ย. 63 ไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวที่ร้อยละ -100 ต่อปี และรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวที่ร้อยละ -100 เช่นกัน โดยเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา Covid-19 และการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา โดยมีการกำหนดให้ปิดด่านตรวจคนเข้าทั่วประเทศ และสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 5) ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 63 ถึง 30 มิ.ย. 63 จึงคาดว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางสู่ประเทศอีกอย่างน้อยในเดือน มิ.ย. 63

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดขายบ้านใหม่ เดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ 5.9 แสนหลังต่อปี คิดเป็นร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -13.7 เป็นผลจากยอดขายในทุกภาคที่กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขายบ้านมือสอง เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -33.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -16.3

Japan: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2017 เนื่องจากการจ้างงานที่ลดลง ขณะที่ผู้ว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดค้าปลีกหดตัวที่ร้อยละ -13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน .หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับร้อยละ -4.7 หดตัวมาจากหมวดสินค้าทั่วไปเป็นสำคัญที่หดตัวถึงร้อยละ -42.9 ต่อปี นอกจากนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 63 (เบื้องต้น) หดตัวที่ร้อยละ -14.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน และหดตัวเป็นระดับต่ำสุดในปีนี้

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ -18.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -22.0 จากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศในยุโรป

Hong Kong: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกไปยังจีนเร่งตัวขึ้น และมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ หดตัวชะลอลง มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -6.7 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ -2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Taiwan: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 จากหมวดเครื่องจักรอุตสาหกรรมและพลังงานเป็นสำคัญ ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -10.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.5 จากหมวดพลังงานและเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสำคัญ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 64.87 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 73.39

South Korea: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 77.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 70.8 นอกจากนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 bps มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายอยู่ที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี โดยมีสาเหตุจากการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 4.7 ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -8.0

Vietnam: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ในขณะที่มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 63 หดตัวร้อยละ -15.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -15.9 ลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.4 ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน พ.ค. 63 ขาดดุล 0.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 63 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าในหมวดบริการ อาหาร และเครื่องดื่มเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 63 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -10.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

Singapore: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 63 (Final) หดตัวที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวร้อยละ -4.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันปีก่อนลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวทีร้อยละ 16.5 จากหมวดสินค้าปิโตรเคมีเป็นสำคัญ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาการขนส่งสินค้าเป็นสำคัญ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,337.51 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 25 - 28 พ.ค. 63 ที่ 73,064 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25 - 28 พ.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 4,010 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับเพิ่มขึ้น 0 ถึง 10 bps โดยในสัปดาห์นี้นักลงทุนมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และ 20 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 1.18 และ 1.51 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 25 - 28 พ.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก ตลาดพันธบัตรสุทธิ 4,745 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 28 พ.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 31.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.08 จากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยมีเงินสกุลหลักอื่น ๆ ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาทิ เยน ริงกิต และวอน ในขณะที่เงินสกุลยูโร สิงคโปร์ดอลลาร์ และหยวน แข็งค่าขึ้นเมื่อกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.03 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ