รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 8, 2020 14:07 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. 63 ลดลงร้อยละ -1.57 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงร้อยละ -0.05 ต่อปี
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 63 หดตัวร้อยละ -2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ ร้อยละ -13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของม.หอการค้าไทย ในเดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 40.2 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 41.4
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ค. 63 เกินดุล 63.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -23.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ เดือน พ.ค. 63 หดตัวร้อยละ -19.4 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. 63 ลดลงร้อยละ -1.57 หดตัวน้อยลงจากเดือนที่ผ่านมาที่หดตัวร้อยละ -3.44 โดยมีสาเหตุสำคัญจากมาตรการบางส่วนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปาได้สิ้นสุดลง รวมทั้งสินค้าในกลุ่มพลังงาน และอาหารสด แม้ยังลดลงต่อเนื่อง แต่ลดลงในอัตราที่น้อยลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังลดลงร้อยละ -16.14 ซึ่งหดตัวน้อยลงจากเดือนที่ผ่านมาที่ลดลงร้อยละ -27.97 ขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับผลผลิตและความต้องการ และเมื่อหักราคาอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวที่ร้อยละ -0.05 ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 63 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ -2.67 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 0.12 ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 63 อัตรา เงินเฟ้อทั่วไปหดตัวที่ร้อยละ -1.13 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.33

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 63 หดตัวร้อยละ -2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ร้อยละ -11.5 ต่อปี รวมทั้งในหมวดก่อสร้างอื่น ๆ เช่น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดซีเมนต์ ที่ปรับลดลงร้อยละ -2.5 และ -1.3 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีการคลายล็อกดาวน์ให้หลายธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ แต่ธุรกิจด้านก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยังคงฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม มาตรการปลดล็อกดาวน์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์จากกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติมีโอกาสฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่ช่วยลดภาระของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย และกระตุ้นความต้องการซื้อ จะเป็นปัจจัยที่สามารถส่งเสริมความต้องการในภาคก่อสร้างภายในประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 22.9 โดยเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้มีความต้องการจากตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในไตรมาส 2 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -28.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 40.2 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 41.4 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังรัฐบาลมีการผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ในระยะที่ 1 ถึง 4 ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนนี้ ประกอบกับการที่รัฐบาลออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งมาตรการด้านการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลสูงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการว่างงานในอนาคตที่เกิดจากผลกระทบเชิงลบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ค. 63 เกินดุล 63.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขาดดุล -654.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลที่ -3,128.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3,191.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงมากกว่ามูลค่าการส่งออกที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 63 เกินดุลรวม 8,326.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 63 มียอดคงค้าง 18.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้น เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 4.8 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 63 มียอดคงค้าง 22.0 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.8 และเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -23.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการหดตัวดัชนีฯ ในเดือน พ.ค. 63 มาจากการหดตัวของหมวดยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ และการปั่นการทอ ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -69.0 -46.4 และ -41.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ค. 63 หดตัวร้อยละ -19.4 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -14.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยหดตัวจากเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ที่หดตัวร้อยละ -21.1 -33.1 และ -44.0 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคการผลิตและภาคการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลของการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 63 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ หดตัวร้อยละ -10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย เดือน พ.ค. 63 ยังคงติดลบต่อเนื่องจากเดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ร้อยละ -5.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน เม.ย. 63 ที่ร้อยละ -33.8 ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 กลับมาเพิ่มสูงขึ้นที่ระดับ 49.8 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ 39.8 จุด ดุลการค้าเดือน พ.ค. 63 ขาดดุลต่อเนื่องถึง 54.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ทั้งมูลค่าการส่งออก และนำเข้าหดตัวลงร้อยละ -4.4 และ -0.9 ตามลำดับ โดยมีสาเหตุจากไวรัสโควิด-19 กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. 63 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 11.1 ต่ำกว่าเดือน พ.ค. 63 ที่ร้อยละ 13.3 จากการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวด

China: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับ 51.2 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 62 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการ Covid-19 ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ (Caixin) เดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับ 58.4 จุด ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2553 โดยมีอุปสงค์ที่มากขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19

Japan: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 63 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -12.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากเดือนก่อนหดตัวถึงร้อยละ -13.9 เป็นการหดตัว 3 เดือนติดต่อกัน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่ออุปสงค์ ขณะที่อัตราการว่างงานเดือน พ.ค. 63 ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 2.9 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ของกำลังแรงงานรวม อยู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 60 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 63 หดตัวต่อเนื่องถึงร้อยละ -25.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

EU: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ -14.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -18.8 จุด อัตราเงินเฟ้อ (เบื้องต้น) เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.1 จากภาคบริการและสินค้าหมวดอาหาร เครื่องดื่มที่ปรับตัวสูงขึ้น ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 47.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 39.4 จุด อัตราว่างงาน เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 7.4 ของกำลังแรงงานรวม สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.3 ของกำลังแรงงานรวม

Taiwan: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยอยู่ที่ระดับ 68.77 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหลายๆ ตัวปรับตัวดีขึ้น เช่น ช่วงเวลาการลงทุน และโอกาสในการจ้างงาน ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวสูงขึ้นโดยอยู่ที่ระดับ 46.2 จุด จากระดับ 41.9 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหมวดยอดงานใหม่และการจ้างงานหดตัวชะลอลง

South Korea: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 63 หดตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ -9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 63 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากทุกหมวดสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 43.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.3 จุด มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 63 หดตัวลดลงที่ร้อยละ -10.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านนำเข้า หดตัวลดลงที่ร้อยละ -11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 3.67 พันล้านดอลลาร์อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ ร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.3

UK: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 63 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 52 และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -1.6 ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวกลับมาอยู่ที่ระดับ 50.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ 40.7 จุด เป็นการปรับตัวเพิ่มสูงสุดในรอบ 4 เดือน

Hongkong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 63 หดตัวร้อยละ -7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนหน้า โดยยอดส่งออกสินค้าไอซีทีหดตัวลงมาก ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -12.3 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้าประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 63 หดตัวร้อยละ -32.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายสินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่มหดตัวชะลอลง

India: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 47.2 จากระดับ 30.8 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่ หดตัวในอัตราชะลอตัวลง ขณะที่ยอดการส่งออกหดตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

Austraria: worsening economic trend

ดุลการค้า เดือน พ.ค. 63 เกินดุลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 8.03 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จากเดือนเม.ย. 63 เกินดุลที่ 7.83 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย แต่ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 9 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ขณะที่มูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค. 63 ลดลงร้อยละ -12.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 29.86 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี ส่วนการนำเข้าเดือน พ.ค. 63 ลดลงร้อยละ -16.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 23.23 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ต่ำสุดในรอบ 7 ปี

Philippine: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวกลับมาอยู่ที่ระดับ 49.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 40.1 จุด เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ก.พ. 62

Malaysia: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -25.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -23.8 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -30.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.0 การนำเข้าที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้ยังคงเกินดุลการค้าที่ 10.4 พันล้านมาเลเซียริงกิง ขณะที่ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวกลับมาอยู่ที่ระดับ 51 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 45.6 จุด เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนธ.ค. 62

Singapore: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 43.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 27.1

Indonesia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.96 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.19 โดยราคาสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบเป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 39.1 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 28.6 จุด

Vietnam: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.36 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 40 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ - 3.1 โดยสินค้าประเภทอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ในส่วนของยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 5.17 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -4.8 จากหมวดสินค้าประเภทต่างๆที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.17 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ขณะที่มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -12.3 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 21.2 ยังคงเกินดุลการค้าที่ 0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 43.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 27.1 จุด

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,374.13 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. - 2 ก.ค. 63 ที่ 61,340 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. - 2 ก.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ จำนวน 4,736 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (1 เดือน - 1 ปี) ปรับตัวลดลง 0 ถึง -1 bps ระยะกลาง (2 ปี - 9 ปี) ปรับตัวอยู่ในช่วง -5 ถึง 4 bps ระยะยาว 10 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น 0 ถึง 4 bps โดยในสัปดาห์นี้นักลงทุนไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. - 2 ก.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก ตลาดพันธบัตรสุทธิ มูลค่า 28 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 2 ก.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 31.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.53 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เยน ริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ที่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.48 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ