EU เตรียมปรับปรุงการกำกับดูแลภาคการเงิน หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติตลาดการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 29, 2008 14:30 —กระทรวงการคลัง

          นาย Charlie McCreevy ในฐานะ European Commissioner for Internal Market  and Services ของสหภาพยุโรป (EU) ได้กล่าวถึงแนวทางในการปรับปรุงการกำกับดูแลภาคการเงินของสหภาพยุโรปภายหลังจากเกิดวิกฤตการเงินซึ่งนำมาสู่ภาวะการเข้มงวดสินเชื่อ (Regulation & Supervision after the Credit Crunch) และได้สร้างความเสียหายให้กับสถาบันการเงินในยุโรปที่ประสบกับการขาดทุนมากกว่าร้อยละ 40 นับจากเกิดวิกฤต sub-prime ในสหรัฐฯ เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วเป็นต้นมา โดยนาย McCreevy ได้กล่าวถึงกรอบแนวทางดำเนินการของคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจและการคลังของสหภาพยุโรป (ECOFIN Roadmap) เพื่อป้องกันวิกฤตในระบบการเงินว่าทั้งในส่วนของสถาบันการเงินและผู้กำกับต้องมีการปรับปรุงบทบาทเพื่อสร้างเสถียรภาพในระยะยาวให้กับระบบการเงิน กล่าวคือ บรรดาสถาบันการต่างๆ  ต้องปรับปรุงระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงให้เข้มแข็งขึ้น รวมถึงเสริมสร้างความโปร่งใสเพื่อสร้าง ความเชื่อมั่นให้กับตลาด (to strengthen risk management and to enhance transparency) 
ขณะเดียวกัน บรรดาหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน (regulators and supervisors) ก็ต้องได้รับการปรับปรุงการดำเนินการเช่นกัน ซึ่งภายใต้ ECOFIN Roadmap มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความทานทนให้กับตลาดการเงินและสถาบันการเงิน (strengthen market and institutional resilience) โดยภายใต้กรอบดังกล่าวไม่ปฏิเสธบทบาทของนวัตกรรมทางการเงิน (financial innovation) แต่จำเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องมีความเท่าทันเพื่อให้ความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางการเงินสามารถมีได้ควบคู่ไปกับความมีเสถียรภาพ ที่ผ่านมาสถาบันการเงินหลายแห่งนิยมดำเนินธุรกิจในลักษณะที่ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางการเงินเพื่อสร้างผลตอบแทนด้วยการปล่อยกู้แล้วจำหน่ายสินเชื่อนั้นออกไปจากบัญชี (originate-and-distribute model) ซึ่งนำมาซึ่งความเพิ่มความคลุมเคลือและสลับซับซ้อนให้กับตลาดการเงิน นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบของผู้เล่นในตลาดให้มีมากขึ้นด้วย เนื่องจากตัวสถาบันการเงินที่จำหน่ายสินเชื่อออกมาย่อมรับรู้และเข้าใจถึงความเสี่ยง ขณะที่สถาบันการเงินอื่นที่ทำหน้าที่ออกแบบ รับประกันการจำหน่าย และซื้อขายตราสารดังกล่าวอาจจะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงตัวตราสารเหล่านั้น นอกจากนั้น สถาบันการเงินขนาดเล็กก็อาศัยรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้มากขึ้นโดยที่ไม่ทราบถึงความเสี่ยงที่แฝงอยู่
เป้าหมายของ ECOFIN Roadmap
เป้าหมายประการแรก คือ การปรับปรุงข้อมูลความโปร่งใสในเชิงคุณภาพ (qualitative improvements in transparency) ให้กับนักลงทุน ตลาดการเงิน และหน่วยงานกำกับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของฐานะความเสี่ยงจากตราสารการเงินที่ซับซ้อน (exposures to structured products) และการทำธุรกรรมนอกงบดุลโดยจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (off-balance sheet vehicles) ซึ่งขณะนี้ผู้ที่อยู่ในธุรกิจ securitisation ก็เริ่มเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าวมากขึ้นโดยลำดับ รวมถึงผู้ประกอบการธนาคารเองก็อยู่ระหว่างจัดทำคู่มือดำเนินการ (guidelines) สำหรับสมาชิกในการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงของสถาบันการเงินแต่ละแห่งในธุรกรรม securitisation
เป้าหมายประการที่สอง คือ การยกระดับมาตรฐานในการประเมินมูลค่าให้กับสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่อง (upgrading valuation standards for illiquid assets) ซึ่งเกี่ยวพันกับมาตรฐานทางบัญชี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการหารือและร่วมกันพิจารณากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระหว่างประเทศด้วยเพื่อมิให้เกิดความเสียหายจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับมาตรฐานทางบัญชีในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้มีการเรียกร้องให้หยุดใช้วิธีการประเมินมูลค่าแบบ fair value ไว้ชั่วคราวเพื่อลดผลกระทบจากการที่ต้องเพิ่มทุนเพื่อรองรับส่วนสูญเสียที่จะมีมากหากใช้วิธี fair value ในการประเมินมูลค่าตราสารทางการเงินที่ขณะนี้หาราคาตลาดไม่ได้ การพิจารณาเรื่องดังกล่าวจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษกลายเป็นปัญหาความสับสนและความน่าเชื่อถือทางบัญชีของกิจการ
เป้าหมายประการที่สาม คือ การปรับปรุงความแข็งแกร่งของเกณฑ์กำกับดูแลความมั่นคงและการบริหารความเสี่ยงในภาคการเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (strengthen the existing prudential framework and risk management) ซึ่งขณะนี้ EU Commission อยู่ระหว่างการเสนอทบทวนปรับปรุงแนวปฏิบัติของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับความเพียงพอของเงินกองทุนของสถาบันการเงิน (Capital Requirements Directive) โดยจะนำประเด็นเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง liquidity risk management) ที่ BIS กำลังจะเสนอในฤดูใบไม้ร่วงนี้มาพิจารณาประกอบด้วย
นอกจากนี้ ในกรอบของ Directive ยังจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการกำกับกลุ่มธุรกิจการเงินข้ามพรหมแดน (cross-border financial group supervision) เพื่อลดความเสี่ยงจากระบบ (systemic risks) ลง โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความร่วมมือ และจัดทำความตกลงระหว่างกันในเรื่องของการรายงานและความเพียงพอของฐานะเงินกองทุนของกลุ่มธุรกิจการเงิน และ 2) เพื่อให้สามารถจับสัญญาณของปัญหาได้แต่เนิ่น ๆ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งจะนำมาซึ่งการจัดทำแผนและการประเมินภาวะของวิกฤติร่วมกันในอันที่จะป้องกันการเกิดวิกฤติขึ้นในยุโรป
การกำกับดูแลสถาบันจัดอันดับเครดิต
นอกเหนือจากการดำเนินการข้างต้นแล้ว บทบาทของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agencies: CRAs) ก็จำเป็นต้องได้รับการทบทวน เนื่องจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีส่วนสำคัญต่อปัญหาความปั่นป่วนในระบบการเงินที่เกิดขึ้นจากการประเมินความเสี่ยงทางด้านเครดิตของตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อหนุนหลัง (structured credit products) ต่ำเกินไป ซึ่งแม้จะมี IOSCO Code of Conduct แต่แนวปฏิบัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดำเนินการโดยสมัครใจของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้ลงนามผูกพันไว้เท่านั้น คงไม่เพียงพอและไม่อาจก่อให้เกิดผลที่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น EU จำเป็นจะต้องเล่นบทบาทนำเกี่ยวกับแนวทางในการกำกับดูแลบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยจะเสนอให้หน่วยงานกำกับของทางการเข้ามากำกับดูแลในเชิงนโยบายและกระบวนการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (CRAs' policies and procedures supervision) รวมถึงส่งเสริมให้มีการแข่งขันระหว่างบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้วยโดยส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาด และที่สำคัญจะเสนอให้มีการดำเนินการเพื่อให้หน่วยงานที่จะทำหน้าที่กำกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่มากพอที่จะรู้เท่าทันถึงนวัตกรรมทางการเงินและสามารถดูแลบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้อย่างตรงประเด็นและทันต่อเหตุการณ์
สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำสหราชอาณาจักรและยุโรป
ที่มา : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ