รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 24, 2009 14:09 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 ก.พ. 2552

SUMMARY:

1. สศช. เผยตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 51 หดตัวร้อยละ -4.3

2. อุตสาหกรรม คาดไตรมาส2 คนว่างงานรวม 1.2 ล้านคน

3. ประชาคมยุโรปไม่มีมาตรการกีดกันนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศอาเซียน

HIGHLIGHT:
1. สศช. เผยตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 51 หดตัวร้อยละ -4.3
  • คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 4 /51 หดตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ การหดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4/51 มาจากปัจจัยหลักจากการลดลงของการส่งออก และการลงทุน รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของครัวเรือนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 และ 3 /51 สำหรับทั้งปี 51 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี สำหรับแนวโน้มในปี 52 สศช. ประเมินเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบร้อยละ 1.0 ถึงร้อยละ 0.0 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 4 หดตัวลงร้อยละ -4.3 ต่อปี เป็นการหดตัวลงมาก เนื่องจาก ผลของปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการที่หดตัวลงร้อยละ -8.6 ต่อปี เนื่องจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินสหรัฐฯ นอกจากนี้ การใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอตัวลงเช่นกันโดยการบริโภคภาคเอกชน ณ ราคาคงที่ชะลอตัวลงร้อยละ 2.2 ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชน ณ ราคาคงที่หดตัวลงร้อยละ -1.3 ต่อปี เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการลงทุนที่ลดลงตามภาวะวิกฤติดังกล่าว ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องอีก 1 — 2 ไตรมาส และคาดว่ามาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4 ของ ปี 52
2. อุตสาหกรรม คาดไตรมาส2 คนว่างงานรวม 1.2 ล้านคน
  • ส.อ.ท. เผย ไตรมาส 2 คนโดนเลิกจ้างรวม 1.2 ล้านคน จีดีพีติดลบ 2.5% เป็นผลมาจากยอดส่งออกเดือนม.ค. ติดลบมากถึง 26.5% เป็นสัญญาณสะท้อนการส่งออก น่าจะลดลงถึงปลายไตรมาส 2 โดยคาดว่าจะติดลบเฉลี่ย 15-20% เนื่องจากตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นหดตัว ซึ่งนายคณิต กล่าวว่า หากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลล่าช้าและเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกมีโอกาสจะติดลบ 3-4%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในเดือน ม.ค. ที่ติดลบถึง 26.5% เป็นผลมาจากประเทศคู่ค้าของไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจึงจำเป็นต้องลดการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการบริการของไทยเนื่องจากเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกกว่าร้อยละ 70 ของ GDP โดยเป็นสินค้าอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 75 ของการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นการส่งออกสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องลดการผลิตและการจ้างงานลดลง
3. ประชาคมยุโรปไม่มีมาตรการกีดกันนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศอาเซียน
  • นายเจอโรม เลเพนเตอร์ หัวหน้าคณะผู้แทนเจ้าหน้าที่ด้านการปกป้องสุขภาพและผู้บริโภคของสหภาพยุโรป (อียู) ยืนยันว่า อียูไม่แผนยกเลิกการนำเข้าสินค้าอาหารจากกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของอียู ปัจจุบันพบว่าสินค้าอาหารทะเลส่งออกจากมาเลเซียได้หยุดชะงักลงตั้งปี 2551 เนื่องจาก ไม่ได้ตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอียู อย่างไรก็ดี จากการประชุมด้านคุณภาพอาหารระหว่างอียูกับประเทศกลุ่มอาเซียน ณ มาเลเซีย จะคาดว่าทำให้สถานการณ์ส่งออกสินค้าของทั้งสองประเทศนั้นกลับสู่ภาวะปกติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้หลายประเทศมีมาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อลดการนำเข้าและหันมาใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การกีดกันทางการค้าไม่ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เห็นได้จากในช่วง Great Depression ปี ค.ศ. 1930 ที่สหรัฐฯ มีการเพิ่มอัตราอากรขาเข้าทำให้เศรษฐกิจโลกยิ่งถดถอยลง ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องร่วมมือที่จะไม่ดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้ารวมทั้งไม่ดำเนินนโยบายแข่งขันทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Competitive Valuation) ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ