สรุปเศรษฐกิจญี่ปุ่น ณ สิ้นปี 2551 และแนวโน้มปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 24, 2009 16:05 —กระทรวงการคลัง

“ยิ่งถดถอยลึกมากขึ้น”

บทนำ

เมื่อวันที่ 16 ก.พ..ที่ผ่านมา Cabinet Office ประกาศว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยรุนแรงและเร็วที่สุดในรอบ 35 ปี โดยในไตรมาส 4 ปี 51 Real GDP Annual Rate หดตัวลงร้อยละ-12.7 รุนแรงที่สุดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้การส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 1 ลดลงอย่างมาก จนภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ค่าเงินเยนแข็งขึ้นมากประมาณร้อยละ 18 การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงติดต่อกันมาหลายเดือนโดยเฉพาะเดือน ธ.ค.51 ลดลงถึงร้อยละ 92.1 ซึ่งเป็นการลดลงมากสุดในประวัติการณ์ ดุลการค้าและบริการขาดดุลจากเดิมที่เกินดุลในระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำลงที่สุดในรอบ 26 ปีบริษัทล้มละลายเพิ่มมากขึ้น ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจลดลงต่ำสุด การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง การลงทุนของเอกชนก็ลดลง รายได้จากการเก็บภาษีลดลงต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะที่รัฐบาลมีภาระรายจ่ายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ต้องเลื่อนการใช้เป้าหมายวินัยทางการคลังออกไป จากเดิมจะจัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2554 และลดการออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงบประมาณ ในเฉพาะอย่างยิ่งไตรมาสที่ 4 สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปคาดว่าญี่ปุ่นจะเกิด Twin Deficit ในไม่ช้า กล่าวคือทั้งขาดดุลงบประมาณและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

1. ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นทั่วไป

Cabinet Office ได้ประกาศเมื่อวันที่ 16 ก.พ.52 ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย รุนแรงและเร็วที่สุดในรอบ 35 ปี เป็นผลจากการหดตัวของทั้งดีมานด์จากต่างประเทศและดีมานด์ภายในประเทศอย่างมาก โดยในไตรมาส 4 ปี 51 Real GDP เติบโตในอัตราร้อยละ - 3.3 แต่เมื่อคิดเป็นรายปี (Annual Rate) อยู่ที่ร้อยละ-12.7 รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2517 ที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน ทั้งนี้ Real GDP ติดลบมาเป็นเวลา 3 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว

เปรียบเทียบ Real GDP ของญี่ปุ่นไตรมาสต่างๆ ใน ปี 2551

หน่วย : ร้อยละ

  2550                                   2551                           Annual Rate
ไตรมาส 4           ไตรมาส 1     ไตรมาส 2      ไตรมาส 3      ไตรมาส 4       ไตรมาส 4
1.1                  0.2           - 0.9         - 0.6          -3.3          -12.7

1.2 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output)

กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economic Trade and Industry)ได้เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ของเดือน ธ.ค. 52 ลดลงร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 84.6 (ปี 2005=100) ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดเป็น ประวัติการณ์ เนื่องจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกลดลงอย่างมาก ส่งผลให้การผลิตลดลง

1.3 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในญี่ปุ่น (Household Spending)

กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications) ได้เปิดเผยว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือน เดือน ธ.ค.51 ลดลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้าเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 2 ปี 3 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคได้ลดการใช้จ่ายลงอย่างมาก เพราะกังวล เรื่องการจ้างงานในอนาคต

1. 4 การลงทุนของภาคเอกชน (Capital Spending)

Cabinet office รายงานว่าคำสั่งซื้อเครื่องจักรลดลงร้อยละ 1.7 ในเดือน ธ.ค.51 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกัน 3 เดือนและมูลค่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค.30 ในขณะที่การซื้อเครื่องจักรใหม่ในไตรมาส 4 ปี 51 ลดลงร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้ามากที่สุดนับตั้งปี 30 การลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ลดลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 51 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นถึงบริษัทเอกชนลดการลงทุนลง หรือเลื่อนการลงทุนใหม่ออกไป

1.5 อัตราการว่างงาน (Jobless)

เดือน ธ.ค 51 อยู่ที่ร้อยละ 4.4 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย.51 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.9 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 0.5 เร็วที่สุด เป็นครั้งแรกในรอบ 41 ปีภาวะการจ้างงานกำลังแย่ลงเรื่อยๆ ไม่มีการจ้างงานใหม่ พนักงานชั่วคราวไม่ได้รับการต่อสัญญาใหม่ เมื่อสัญญาสิ้นสุดเมื่อสิ้นปี 51 คาดว่าสถานการณ์การจ้างงานจะเลวร้ายต่อไปอย่างต่อเนื่องในปี 52 และพนักงาน Blue Collar มีแนวโน้มจะถูกยกเลิกสัญญามากขึ้นเพื่อลดต้นทุนของบริษัท

1.6 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Core Consumer Price)

กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนยกเว้นอาหารสด (CPI, ปี 2548=100) ประจำเดือน ธ.ค.51 ร้อยละ 0.2 อยู่ที่ 101.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า หากดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นแทน

1.7 อุปสงค์ภาครัฐ (Government Demand) ประกอบด้วย การลงทุนภาครัฐ (Public Investment) และการบริโภคภาครัฐ (Government Consumption) ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 51 ลดลงร้อยละ 0.6 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า

1.8 ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance)

เมื่อวันที่ 9 ก.พ.52 กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประจำเดือน ธ.ค.51 มีจำนวนเพียง 125.4 พันล้านเยน ลดลงร้อยละ 92.1 ซึ่งเป็นการลดลงมากสุดในประวัติการณ์จากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การส่งออกลดลงอย่างมากดุลการค้าและบริการ ขาดดุลจำนวน 519.6 พันล้านเยนจาก ที่เกินดุลจำนวน 793.5 พันล้านเยนในระยะเดียวกันปีก่อนหน้า

ดุลการค้าขาดดุลจำนวน 197.9 พันล้านเยน จากที่เกินดุล 996.8 พันล้านเยน เป็นผลมาจากการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ และเอเชียลดลงอย่างมากดุลบัญชีบริการ การขาดดุลในดุลบริการเพิ่มขึ้นจาก 309.9 พันล้านเยนเป็น 321.7 พันล้านเยนการเกินดุลรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุนต่างประเทศ ลดลงร้อยละ 27.8 ผลมาจากกำไรของบริษัทญี่ปุ่นที่ต่างประเทศลดลงและได้รับจำนวนเงินปันผลลดลงจากค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้นดุลบัญชีทุนและการเงิน (Capital and Financial Account Balance) มีเงินทุนไหลออกสุทธิเพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค.51 เป็น 1,606.7 เพิ่มจาก 1,221.2 พันล้านเยนเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า การลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้น แต่มีเงินทุนไหลเข้ากลับมาลงทุนประเภทอื่นๆ ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือน ธ.ค.51 จำนวน 10,966.1 จากเดิม -2,481.8 พันล้านเยน แสดงให้เห็นถึง Yen Carry Trade ลดลง 1.9 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เปิดเผยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือน ม.ค. 52 มีจำนวน 101.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 19.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดือน ธ.ค. 51

2. สถานการณ์ภาคการเงิน

2.1 นโยบายอัตราดอกเบี้ย

ญี่ปุ่นได้ร่วมแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจกับธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกที่ร่วมกันประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของ BOJ ได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.1

2.2 อัตราแลกเปลี่ยน

สถานการณ์ Yen Carry Trade ได้ลดลง จากวิกฤตการเงินโลกทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นซื้อเงินเยนเพิ่ม เพื่อนำเงินกลับมาลงทุนในประเทศมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลง อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แข็งตัวขึ้นถึงร้อยละ 18.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งซ้ำเติมภาคส่งออกที่กำลังประสบปัญหาการหดตัวลงอย่างรุนแรง

2.3 สถานการณ์ธนาคารพาณิชย์

ถึงแม้ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นจะไม่ได้รับความเสียหายมากนักจากการลงทุนใน Subprime แต่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯและยุโรปได้ทำให้ Real Sector ประสบปัญหาอย่างมากโดยเฉพาะภาคการส่งออกและอสังหาริมทรัพย์ มีบริษัทล้มละลายมากขึ้น ฐานะการเงินของบริษัทกำลังอ่อนแอเพราะรายได้จากการส่งออกของบริษัทลดลง ดัชนีราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ลดลงอย่างมากผลประกอบการของบริษัทส่งออกรายใหญ่ของญี่ปุ่นขาดทุนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น Toyota, Sony, Panasonic เป็นต้น ในขณะที่ SMEs ขาดสภาพคล่อง และล้มละลายเพิ่มมากขึ้นในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา จำนวนบริษัทล้มละลายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24 เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 33 บริษัท มากที่สุดใน 60 ปี

ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย ได้ทำให้ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นทั้งรายใหญ่และรายเล็กประสบปัญหาขาดทุน และต้องเพิ่มทุนกันเป็นจำนวนมาก ธนาคารรายใหญ่ (Mega Banks) เช่น ธนาคารMitsubishi UFJ ประสบการขาดทุนในปี 2551 ธนาคาร Mitsui Sumitomo กำไรลดลงมากกว่าร้อยละ 90เป็นต้น นอกจากนี้ ธนาคารขนาดเล็กในต่างจังหวัด (Regional Banks) มีปัญหาขาดสภาพคล่อง NPLsเพิ่มขึ้น จนต้องขอรับเงินเพิ่มเงินทุนจากรัฐบาล เช่น Fukuho Bank ในจังหวัด Fukui North Pacific Bankในจังหวัดฮอกไกโด และ Minami Nippon Bank ในจังหวัด Kagoshima เป็นต้น และแนวโน้มกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2551 (ต.ค.51-มี.ค.52)

2.4 สัดส่วน NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์ Financial Services Agency: FSA

หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่า NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นรายใหญ่ 11 แห่ง ณ ก.ย. 51 อยู่ที่ระดับร้อยละ1.52 (ตัวเลขล่าสุด) เพิ่มขึ้นจาก มี.ค.51 อยู่ที่ระดับร้อยละ 1.38 สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง (Capital Adequacy Ratio: CAR) ณ เดือน ก.ย. 51 อยู่ ระหว่างร้อยละ 11.73 สูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ร้อยละ 8 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2551 ยังไม่ได้แถลงออกมา มิฉะนั้นแล้ว NPLs จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากLeman Brothers ล้มละลาย

2.5 สถาณการณ์ตลาดทุน

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ทำให้ดัชนีมูลค่าหลักทรัพย์เฉลี่ยที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวลดลงเหลือ 7,162 เยน เมื่อเดือน ต.ค. 51 ต่ำที่สุดในรอบ 26 ปี เปรียบเทียบกับ เมื่อเดือน มี.ค. 43 ที่มีมูลค่าสูงสุดถึง 20,081 เยน โดยในเดือน ก.พ.52 กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อยที่ระดับเฉลี่ย 7,500 เยน

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ญี่ปุ่น โดยเฉพาะตราสารหนี้ของเอกชน (Corporate Bond) ยังล้าหลังอยู่ และมีจำนวนน้อย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้เอกชนนิยมระดมเงินจากธนาคารพาณิชย์แทน ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) จากการที่รัฐบาลมีหนี้สาธารณะที่อยู่ในรูปของพันธบัตรรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลในตลาดมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 80 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น เพราะต้องระดมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในขณะที่ Corporate Bond ยังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนการออกพันธบัตรในญี่ปุ่นทั้งหมด

3. นโยบายการคลัง

3.1 ฐานะการคลังของญี่ปุ่นอยู่ในขั้นวิกฤต ด้วยภาระหนี้ในรูปของพันธบัตรรัฐบาลในประเทศสูงถึงประมาณร้อยละ 170 ของ GDP นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเป็นเศรษฐกิจที่มีคนแก่มากขึ้น (Aging Economy) ปัจจุบันประชากรร้อยละ 21 อายุมากกว่า 65 ปี ในขณะที่ประชากรในวัยทำงานมีแนวโน้มจะลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง แต่คนมีอายุยืนขึ้น ทำให้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการและประกันสังคมมากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ทำให้แนวโน้มภาระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้พยายามปรับปรุงฐานะการคลัง โดยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงและมีเป้าหมายจัดทำงบประมาณเกินดุลใน ปี 2554 (จากที่ปัจจุบันขาดดุลอยู่ประมาณร้อยละ 3 ของ GDP)รวมทั้งได้กำหนดเพดานการออกพันธบัตรรัฐบาล สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในงบประมาณปีละไม่เกิน 30 ล้านล้านเยน แต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีในปี 2551 ต่ำกว่าเป้าหมายมาก ในขณะที่รัฐบาลมีภาระงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากกว่าเพดานที่กำหนดไว้เดิม และเลื่อนการใช้เป้าหมายวินัยการคลังดังกล่าวออกไป

3.2 ภาพรวมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้ใช้ได้ภายในวันที่ 1 เม.ย.52 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นงบประมาณประจำปีของญี่ปุ่น

งบประมาณปี 52 มีจำนวน 88.548 ล้านล้าน เยน เพิ่มมากกว่าปี 51 จำนวน 83.061 ล้านล้านเยนหรือเพิ่มขึ้น 5.487 ล้านล้านเยน รายละเอียดรายรับและรายจ่าย ดังนี้

รายรับประกอบด้วย

1) รายรับจากการเก็บภาษีจำนวน 46.103 ล้านล้านเยน เทียบกับปี 51 จำนวน 53.554 ล้านล้านเยน หรือลดลง 7.451 ล้านล้านเยน

2) รายรับจากการออกพันธบัตรรัฐบาลใหม่ 33.294 ล้านล้านเยน เทียบกับปี 51 ที่จำนวน 25.35ล้านล้านเยน หรือเพิ่มขึ้น 7.946 ล้านล้านเยน

3) รายรับอื่นๆ จำนวน 9.151 ล้านล้านเยน เทียบกับปี 51 ที่จำนวน 4.16 ล้านล้านเยน หรือเพิ่มขึ้น 4.992 ล้านล้านเยน

รายจ่ายประกอบด้วย

1) รายจ่ายทั่วไป (General Expenditures) จำนวน 51.731 ล้านล้านเยน เทียบกับปี 51 ที่จำนวน 47.284 ล้านล้านเยน หรือเพิ่มขึ้น 4.447 ล้านล้านเยน ประกอบด้วย

1.1) รายจ่ายด้านประกันสังคม (Social Security) จำนวน 24.834 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เป็นรายจ่ายที่มีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 28 ของงบประมาณทั้งหมด

1.2) รายจ่ายเพื่อส่งเสริมการศึกษา จำนวน 5.310 ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปี 51

1.3) รายจ่ายเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์จำนวน 1.377 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1

1.4) รายจ่ายด้าน Former Military Personnel Pension and Others จำนวน 787.2 พันล้านเยนลดลงร้อยละ 7.6

1.5) รายจ่ายเพื่อป้องกันประเทศจำนวน 4.774 ล้านล้านเยน ลดลงร้อยละ 0.1

1.6) รายจ่ายเพื่อก่อสร้างสาธารณูปโภคของภาครัฐ (Public Work) จำนวน 7.070 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5

1.7) รายจ่ายด้าน Economic Assistance จำนวน 629.5 พันล้านเยน ลดลงร้อยละ 5.5

1.8) รายจ่าย Official Development Assistance: ODA จำนวน 672.2 พันล้านเยน ลดลงร้อยละ 4.0

1.9) รายจ่ายส่งเสริม SMEs จำนวน 189 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3

1.10) รายจ่ายด้านพลังงาน คงเดิมจำนวน 856.2 พันล้านเยน ลดลงร้อยละ 1.1

1.11) รายจ่ายเพื่อ Food Supply จำนวน 865.9 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9

1.12) รายจ่ายด้านเบ็ดเตล็ดจำนวน 5.064.2 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2

2) รายจ่ายเพื่อชำระหนี้จากพันธบัตรรัฐบาล (National Debt Services) จำนวน 20.244 ล้านล้านเยน เพิ่มจากจำนวน 20.163 ล้านล้านเยน ในปี 51 หรือเพิ่มขึ้น 80.5 พันล้านเยน เป็นรายจ่ายที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับ 2 รองจากรายจ่ายเพื่อประกันสังคมคิดเป็นร้อยละ 22.9 ของงบประมาณทั้งหมด

3)รายจ่ายเพื่อจัดสรรงบประมาณสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นและอื่นๆ (Local Allocation Tax Grants, etc. จำนวน 16.573 ล้านล้านเยน เทียบกับ 15.614 ล้านล้านเยน ในปี 51 หรือเพิ่มขึ้น 959.7 ล้านล้านเยน เป็นรายจ่ายที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับ 3 คิดเป็นร้อยละ 18.7 ของงบประมาณทั้งหมด

4. นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ภายหลังรัฐบาลได้มีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตามนโยบาย Small Government และถ้าเอกชนทำได้ดีกว่าก็ให้เอกชนดำเนินการแทนเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล นับตั้งแต่แปรรูป Japan Post และได้มีการจัดตั้ง Japan Post Holding Company ที่มีรัฐบาลถือหุ้นทั้งหมด มีบริษัทย่อยๆ 4 บริษัทได้แก่ 1) Postal Network Co. 2) Japan Post Service Co. 3) Japan Post Bank Co. และ 4) Japan Post Insurance Co. เพื่อทยอยขายหุ้นของบริษัทย่อยดังกล่าวในปีงบประมาณ 2553 จนกระทั่งแปรรูปเป็นเอกชนทั้งหมดภายในปี 2560 นอกจากนี้ ยังได้ปรับโครงสร้างสถาบันการเงินเฉพาะกิจจำนวน 8 แห่งโดยยุบ ควบรวม แปรรูป เพื่อลดการสนับสนุนจากภาครัฐและปรับปรุงฐานะการคลังให้ดีขึ้นอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไป ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง แนวทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้ชะลอออกไป เช่น รัฐบาลกำลังพิจารณาชะลอการขายหุ้นของ 4 บริษัทย่อยดังกล่าวออกไป เพราะราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันลดลงมาก ทำให้ราคาที่ขายได้ ลดลง ในทางกลับกันได้เพิ่มบทบาทของสถาบัน การเงินของรัฐเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่ไม่สามารถรับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันเอกชนได้ ดังจะเห็นได้ว่างบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถูกจัดสรรผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มขึ้น

5. สรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอย สรุปได้ดังนี้

5.1 ใช้งบประมาณพิเศษ และเงินงบประมาณโครงการของรัฐ จัดสรรแก่หน่วยงานของรัฐ/รัฐบาลท้องถิ่น/สถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 4.78 ล้านล้านเยน กระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนี้

1) ช่วยเหลือภาคครัวเรือน แจกเงินประชาชนทุกคนๆละ 12,000 เยน (รวมทั้ง นายกรัฐมนตรี) ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปหรือเด็กอายุต่ำกว่า18 ปี จะได้รับ 20,000 เยน ครอบครัวที่มีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไประหว่างอายุ 3-5 ขวบได้รับเงินช่วยเหลือ 36,000 เยน เป็นเวลา 3 ปี โดยเขตจะส่งหนังสือวิธีการรับเงินให้ตามที่อยู่ที่ระบุ ณ 1 ก.พ.52 มีวงเงินงบประมาณ 2 ล้านล้านเยน

2) สนับสนุนความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน วงเงินงบประมาณ 517.7 พันล้านเยนเช่นหญิงมีครรภ์สามารถรับบริการตรวจร่างกายฟรี 14 อย่างจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 53 ในวงเงิน 245 พันล้านเยน เป็นต้น

3) ให้ความช่วยเหลือ SMEs วงเงินงบประมาณ 504.8 พันล้านเยน เช่นอุดหนุน SMEs แห่งละ 1 ล้านเยน ให้จ้างพนักงานล่วงเวลา อายุ 25-39 ปี ทำงานเป็นเวลา 6 เดือน และจัดสรรเงินเพื่อค้ำประกันสินเชื่อของ SMEs จำนวน 30 ล้านล้านเยน และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือร้อยละ 18 เป็นระยะเวลา 2 ปี

4) เสริมสร้างความแข็งแกร่งการเติบโตของเศรษฐกิจ วงเงินงบประมาณจำนวน 32.1 พันล้านเยน

5) พัฒนาโครงการในท้องถิ่น วงเงินงบประมาณจำนวน 754.6 พันล้านเยน เช่นลดค่าทางด่วนในวัน เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ และลดค่าบริการร้อยละ 30 ในวันธรรมดา อุดหนุนเงินแก่เทศบาลต่างๆ ดำเนินโครงการต่างๆ

6) ป้องกันภัยธรรมชาติและการลงทุนในที่อยู่อ่าศัย วงเงินงบประมาณจำนวน 239.3 พันล้านเยน เช่น ลดจากภาษีรายได้และภาษีที่อยู่อาศัย โดยเพิ่มเพดานการลดภาษีสูงสุดถึง 6 ล้านเยนและขยายเวลา/ขยายฐานการลดภาษีสำหรับผู้กู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัย ที่หมดอายุลงในปีที่ผ่านมา

7) ช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่น มีวงเงินงบประมาณจำนวน 600 พันล้านเยน

8) สนับสนุนการว่าจ้างงาน มีวงเงินงบปะมาณจำนวน 160 พันล้านเยน เช่น ลดเงินเบี้ยประกันการว่างงาน จัดตั้งกองทุนสร้างงานเพื่อสนับสนุนการจ้างงานในต่างจังหวัด เป็นต้น

5.2 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นโดยข้อเสนอขอกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (กระทรวง METI) ได้ประกาศมาตรการล่าสุดเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องแก่บริษัทเอกชนที่ประสบปัญหาทางการเงินจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งที่ จดทะเบียนและบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ระบุว่าเป็นสาขาใด ทั้ง ภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing)และภาคบริการ (Services) โดยบริษัทที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือเงินทุนจากรัฐบาลต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ 3 ปีเสนอก่อน รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1) จัดสรรงบประมาณ 1.5 ล้านล้านเยน ให้ ธนาคารเพื่อการลงทุนเพื่อพัฒนา (Development Bank of Japan) สถาบันเฉพาะกิจของรัฐ เข้าซื้อหุ้นบริษัทเอกชน ที่ประสบปัญหาทางการเงิน

2) จัดสรรเงินกู้เพื่อปล่อยแก่บริษัทเอกชน แบ่งเป็นบริษัทรายใหญ่จำนวน 3 ล้านล้านเยน และSMEs จำนวน 10 ล้านล้านเยนและ 3) จัดสรรเงินเพื่อค้ำประกันสินเชื่อจำนวน 20 ล้านล้านเยนผ่าน Japan Finance Corporation (JFC) สถาบันเฉพาะกิจของรัฐใหม่ที่เริ่มดำเนินการเมื่อ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา จากการควบรวมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจจำนวน 4 แห่งได้แก่ 1. Japan Bank of International Cooperation (JBIC) 2.บรรษัทเงินทุนเพื่อลูกค้าขนาดย่อมหรือ Micro Credit (National Life Finance Corporation) 3.บรรษัทเงินทุนเพื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (Japan Finance Corporation for Small and Medium Enterprises) 4.บรรษัทเงินทุนเพื่อการเกษตร ป่าไม้และประมง (Agriculture, Forestry, and Fisheries Finance Corporation)

นอกจากนี้ ให้ Development Bank of Japan สถาบันเฉพาะกิจของรัฐ เข้าซื้อหุ้นบริษัทเอกชนที่ประสบปัญหาทางการเงินจำนวน 1.5 ล้านล้านเยน รวมทั้งให้ JFC ปล่อยกู้แก่บริษัทรายใหญ่จำนวน 3 ล้านล้านเยน และ SMEs จำนวน 10 ล้านล้านเยน และค้ำประกันสินเชื่อจำนวน 20 ล้านล้านเยน

5.3 ในส่วนของ BOJ ได้ทำหน้าที่เป็นธนาคารพาณิชย์ชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการฉุกเฉินที่ Extremely Unusual ของธนาคารกลาง โดยจัดสรรเงินจำนวน 1 ล้านล้านเยน เข้าซื้อหุ้นกู้ (Corporate Bonds) ของบริษัทเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับ Single A ขึ้นไป ครบกำหนดอายุต่ำกว่า 1 ปี ที่ใช้เป็นหลักประกันการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินให้ปล่อยกู้แก่เอกชนเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค.52 เป็นต้นไป โดยก่อนหน้านี้ BOJ ได้เข้าซื้อตราสารทางการเงิน(Commercial Paper) ระยะสั้นของเอกชนในสถาบันการเงิน รวมทั้งจัดสรรเงินกู้พิเศษดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการกู้ต่อแก่เอกชน

อย่างไรก็ตาม งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา และกำลังประสบปัญหาเนื่องจากพรรค Democratic Party of Japan: DPJ ฝ่ายค้านซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาสูง ในขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรค Liberal Democratic Party: LDP มี

เสียงข้างมากในสภาล่าง ทำให้เกิดการตีรวนไม่ยอมผ่านงบประมาณให้ นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศลาออก กรณีอื้อฉาวที่เมาในระหว่างการประชุม G7 ที่กรุงโรมเมื่อเร็วๆ นี้โดยรัฐบาลไม่ได้แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เพียงแต่ให้นาย YAORU YOSANO ซึ่งดูแลกระทรวง STATE MINISTER IN CHARGE OF ECONOMIC AND FISCAL POLICY กำกับดูแลกระทรวงการคลังเพิ่มเติม โดยที่นาย YOSANO มีอายุมาก สุขภาพไม่ดี รวมทั้งมีงานในความรับผิดชอบเต็มมือแล้ว ยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่มีประสิทธิภาพ

7. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกระเตี้องขึ้น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากที่เกินดุลมาตลอดเริ่มเกินดุลลดลงอย่างมาก โดยในเดือน ธ.ค.51 ลดลงถึงร้อยละ 92.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงมากสุดในประวัติการณ์ เนื่องจากดุลการค้าและบริการขาดดุลติดต่อกันมาหลายเดือน รายได้จากการลงทุนต่างประเทศก็ลดลง และอาจจะถึงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ในอนาคต หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ทางด้าน Real Sector ดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ส่งผลในทางลบแทบทั้งสิ้น เช่น การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ราคาหลักทรัพย์ลดลง การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของเอกชนก็ลดลง ธุรกิจล้มละลายมากขึ้น แนวโน้มการว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่องๆ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นลดลงต่ำสุด ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากรายได้ลดลงทางด้านสถาบันการเงิน หนี้เสียในสถาบันการเงินมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และต้องเพิ่มทุนกันเป็นจำนวนมาก ธนาคารขนาดใหญ่เริ่มมีผลประกอบการขาดทุน ในขณะที่ธนาคารขนาดเล็กในต่างจังหวัดกำลังทยอยขอใช้เงินทุนจากรัฐบาลเพิ่มทุน

ทางด้านการคลัง รายได้จากการเก็บภาษีลดลง ในขณะที่มีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นเพราะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องชะลอออกไป เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย และในอนาคตภาครัฐจะต้องมีบทบาทมากขึ้นในการผลักดันเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่

ที่สำคัญปัญหาการเมืองขาดเสถียรภาพ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฝ่ายค้านซึ่งคาดว่าจะชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ได้พยายามที่คว่ำรัฐบาล ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามประวิงเวลาการเลือกตั้งใหม่เนื่องจากคะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรี ASO กำลังตกต่ำสุด จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกกำลังป่วยหนักทั้งภาครัฐและเอกชน โดยยังไม่มีสัญญาณที่จะดีขึ้นในระยะเวลาอันใกล้

โดย สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ