รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 มีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 25, 2009 11:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 มี.ค. 2552

SUMMARY:

1. ครม.เห็นชอบกรอบการเจรจากู้เงิน 70,000 ล้านบาท

2. ธปท.ห่วงมรสุมเศรษฐกิจ กดดันเอ็นพีแอลพุ่ง หลังเดือนก.พ.เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9

3. การส่งออกญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 49 จากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากขึ้น

HIGHLIGHT:
1. ครม.เห็นชอบกรอบการเจรจากู้เงิน 70,000 ล้านบาท
  • มติครม.วานนี้ (24 ก.พ.52) ผ่านการเห็นชอบกรอบการเจรจากู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 70,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของรัฐบาลในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เช่น จะเพิ่มการจ้างงานได้ถึง 200,000 อัตรา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การกู้เงินต่างประเทศวงเงิน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐมีแหล่งเงินกู้จากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชียและ JBIC โดยมีเป้าหมายเพื่อลงทุนในการนำเข้า(Import Content) สำหรับการลงทุนภาครัฐ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อให้สามารถขยายการปล่อยสินเชื่อ ทั้งนี้ คาดว่า จะสามารถเบิกจ่ายเงินกู้ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552
2. ธปท.ห่วงมรสุมเศรษฐกิจ กดดันเอ็นพีแอลพุ่ง หลังเดือนก.พ.เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9
  • รองผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษ “มาตรการการเงินและสถาบันการเงินไทยในภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน” ว่าปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจเปราะบางที่สุด GDP ติดลบ ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)เพิ่มสูงขึ้น จากความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงโดยตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เดือน ก.พ.ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 ของสินเชื่อรวมเทียบกับร้อยละ 5.6 ในเดือน ม.ค.หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 16,000 ล้านบาท จึงมีการกำชับให้ธนาคารพาณิชย์บริหารสินเชื่อให้ดี หากNPL เพิ่มขึ้นอีก อาจจะลุกลามมาถึงภาคเศรษฐกิจรวมได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับปัญหา NPL ที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจต่างๆ โดยคาดว่าภาคการส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกเป็นส่วนแรกๆนั้น มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเกิดปัญหา NPL เห็นได้จากการชะลอตัวของมูลค่าการส่งออกในสองเดือนแรกของปี 52 ที่หดตัวกว่าร้อยละ 19.2 ซึ่งจะส่งผลตามมาถึงภาคขนส่งและการบริการ ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ควรมั่นตรวจสอบดูแลลูกค้าของตน พบว่าลูกหนี้รายใดกำลังเกิดปัญหาควรหาแนวทางปรับปรุงโครงหนี้และอาจพิจารณายืดระยะเวลาการชำระออกไป
3. การส่งออกญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 49 จากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากขึ้น
  • การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลดลงจากการที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น และยุโรปมีความต้องการรถและเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง ทั้งนี้ จำนวนการขนส่งไปต่างประเทศลดลงร้อยละ 49.4 จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับแต่ปี 1980 ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าการส่งออกจะลดลงร้อยละ 47.6
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ -0.6 ในปี 2551 และคาดว่าในปี 2552 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวร้อยละ -5.9 ต่อปี ทั้งนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. และก.พ. 52 ที่หดตัวร้อยละ -45.7 และร้อยละ -49.4 ต่อปี ตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ