รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 พฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 13, 2009 11:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 พ.ค. 2552

SUMMARY:

1. การค้าไม่ฟื้นส่งออก/นำเข้าจีนทรุด

2. พาณิชย์คาดส่งออกตะวันออกกลางปี 52 โตร้อยละ 5

3. Stress test ชี้สถาบันการเงิน 10 แห่งที่ต้องเพิ่มทุน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

HIGHLIGHT:
1. การค้าไม่ฟื้นส่งออก/นำเข้าจีนทรุด
  • ก.พาณิชย์ของจีนแถลงการณ์ยอดการส่งออกของจีนเดือนเมษายน ลดลงมากกว่าเดือนก่อนหน้าถึงร้อยละ 22.6 มาอยู่ที่ 9.19 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท) ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และลดลงมากกว่าเดือนมีนาคม ซึ่งลดลงร้อยละ 17 ในขณะที่ยอดการนำเข้าเดือนเมษายน ลดลงอย่างหนักถึงร้อยละ 23 ส่งผลให้จีนเกินดุลการค้า 1.31 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนถึงภาวะการค้าที่ถูกกระทบอย่างหนักจากการที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ของจีนเห็นว่าต้องทบทวนปัญหาและความเสี่ยงให้จริงจังมากขึ้น และคาดว่าวิกฤตจะกินเวลายาวนานกว่าเดิม พร้อมทั้งหามาตรการรองรับให้ดีขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 2551 สัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปจีนคิดเป็นร้อยละ 9.1 ของยอดการส่งออกของไทยทั้งหมด ดังนั้น การนำเข้าของจีนที่หดตัวลงในเดือนเมษายนคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่ขยายตัวดีขึ้นในเดือนมีนาคม ได้แก่ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ วงจรพิมพ์ และมอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ดังนั้น มาตรการสนับสนุนการส่งออก/นำเข้าของจีนในอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งและมีผลต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน
2. พาณิชย์คาดส่งออกตะวันออกกลางปี 52 โตร้อยละ 5
  • ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังตะวันออกกลางน่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3 — 5 ในสิ้นปีนี้ หรือคิดเป็นมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะแม้เศรษฐกิจโลกถดถอยแต่กำลังซื้อของกลุ่มประเทศนี้ยังมีอีกมาก ประกอบกับผู้บริโภคหมดความเชื่อมั่นในสินค้าจีน ที่ราคาถูกแต่คุณภาพเทียบกับสินค้าไทยไม่ได้ ส่วนสินค้าบริการประเภท ธุรกิจสปา นวดแผนไทย และร้านอาหารไทย ยังคงเติบโตได้ดีและสร้างโอกาสในการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศผู้นำเข้าสินค้าไทยทำให้จำเป็นต้องเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ที่ยังมีศักยภาพอยู่ เพื่อมาชดเชยกับส่วนที่ขาดหายไป จากข้อมูลในเดือนมี.ค.52 พบว่ากลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศแอฟริกา มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่ ร้อยละ 3.3 และ 17.6 ต่อปี ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ในภูมิภาคนี้ การวางยุทธศาสตร์เพื่อเจาะกลุ่มประเทศเหล่านี้จึงมีความสำคัญเนื่องจากการใช้กลยุทธด้านราคาอย่างเดียว จะไม่เป็นที่ยอมรับในตลาดนี้เพราะผู้ซื้อส่วนใหญ่จะมองถึงคุณภาพของสินค้ามากกว่า ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าของตนเพื่อให้มีโอกาสในการแข่งขันยิ่งขึ้น
3. Stress test ชี้สถาบันการเงิน 10 แห่งที่ต้องเพิ่มทุน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯได้แถลงผลการทำ Stress test ซึ่งบ่งชี้ว่ามีสถาบันการเงินถึง 10 แห่งจากทั้งหมด 19 แห่ง ที่ต้องการเงินทุนเพิ่มเป็นจำนวนทั้งสิ้น 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จากการทดสอบบนสมมุติฐานว่าสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯจะอยู่ในขั้นที่เลวร้ายที่สุดในช่วงอีก 2 ปีข้างหน้า ผลบ่งชี้ว่าสถาบันการเงินทั้ง 19 แห่งจะมีเงินทุนเพียงพอในการรองรับมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่าหากพิจารณาสถาบันการเงินเป็นรายแห่งแล้วจะพบว่ามีเพียง Bank of America และ Wells Fargo ที่มีความเสี่ยงเชิงระบบและความต้องการเพิ่มเงินทุนสูง ในขณะที่ Citi Group และ Morgan Stanley มีความต้องการเพิ่มทุนในระดับที่น้อยกว่า BOA ค่อนข้างมากเนื่องจากสินเชื่อที่ BOA มีอยู่นั้นจะมุ่งเน้นสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจที่ผกผันในระดับสูง และได้กลายเป็นปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ผลจากการทำ Stress test ดังกล่าวน่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าวิกฤติการเงินของสหรัฐซึ่งเป็นต้นกำเนิดของภาวการณ์ถดถอยของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้น่าจะใกล้ถึงจุดสิ้นสุดลงในระยะเวลาอันใกล้นี้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ