Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 พ.ค. 2552
SUMMARY:
1. สศช.เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 52 หดตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี
2. สิ่งทอวุ่น คำสั่งซื้อเพิ่ม คนงานขาดแคลน
3. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคลุมเครือ
HIGHLIGHT:
1. สศช.เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 52 หดตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1ปี 52 หดตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี ซึ่งหดตัวที่มากกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ -6.5 ต่อปี เนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงกว่าที่คาดส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการโดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯหดตัวร้อยละ -15.0ต่อปี ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนหดตัวลงร้อยละ -15.8 ต่อปี การใช้จ่ายภาคครัวเรือนหดตัวลงร้อยละ -2.6 ต่อปี ขณะที่การใช้จ่ายอุปโภคของรัฐบาลยังคงมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่าภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 น่าจะเป็นจุดที่ต่ำที่สุด เนื่องจากภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวฟื้นขึ้นประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และนโยบายการเงินที่ผ่านคลายในช่วงที่ผ่านมาน่าจะเริ่มส่งผลดีต่ออุปสงค์ภายในประเทศและเศรษฐกิจจริงในไตรมาสที่ 2 ของปี 52 ซึ่งคาดว่าจะหดตัวลดลงและจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 4 ของปี 52 โดย จากการประมาณการ ณ เดือนมี.ค. 52 เศรษฐกิจจะหดตัวช่วงระดับที่ร้อยละ -3.0 ถึง ร้อยละ -2.0 ต่อปี ซึ่งจะมีการปรับประมาณการใหม่ในเดือน มิ.ย. 52 นี้
2. สิ่งทอวุ่น คำสั่งซื้อเพิ่ม คนงานขาดแคลน
- นายกสมาคมเครื่องนุ่งห่มไทย เผยว่า หลังช่วงต้นปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ปลดคนงานไปส่วนหนึ่ง ซี่งพบว่าคำสั่งซื้อในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเริ่มกลับเข้ามา ส่วนใหญ่จะเป็นคำสั่งซื้อจากโรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานประมาณ 1,000 คน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเสื้อผ้ากีฬาและเสื้อผ้าเด็ก ทำให้บรรดาโรงงานเหล่านี้ต้องเพิ่มการทำงานล่วงเวลา จึงกังวลว่าหากเศรษฐกิจฟื้นและมียอดคำสั่งซื้อกลับมาเต็มที่ ผู้ประกอบการจะไม่สามารถหาแรงงานมาเสริมได้ทันท่วงที โดยเฉพาะคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ต้องใช้ทักษะสูง
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากยอดคำสั่งซื้อในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกายเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้นทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกายตัวเลขเบื้องต้นในเดือนมี.ค. 52 เริ่มดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 135.81 จากเดือนก.พ. 52 อยู่ที่ระดับ 124.62 ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกายในเดือนมี.ค. 52 มีจำนวน 750,400 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ก.พ.52 คิดเป็นร้อยละ 6.77 ซึ่งมีจำนวน 702,833 คน ที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -8.50 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค 52 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลง จากกรณีฐานร้อยละ 1.0 ต่อปี จะส่งผลให้การ
จ้างงานโดยรวมลดลง 3.5 แสนคน
3. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคลุมเครือ
- สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคลุมเครือ เนื่องจากทางการสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการว่างงานล่าสุดอยู่ที่ 6.31 แสนคน มากกว่าที่คาดไว้ที่ 6.25 แสนคน ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ปรับลดลงไป 129.91 หรือร้อยละ 1.54 ไปปิดที่ 8,292.13 จุด ขณะที่สถาบันจัดอันดับเครดิต S& P อาจปรับลดอันดับความเชื่อถือในการชำระหนี้ของอังกฤษจากอันดับสูงสุด AAA เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลอังกฤษเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 100 ของ GDP ประกอบกับดัชนีภาคการผลิตของอังกฤษได้ลดลงเหลือ 5.5 ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 51 ถึงไตรมาส1 ของปี 52 ส่งผลต่อตัวเลข GDPอังกฤษในไตรมาส 1 ของปี 52 หดตัวร้อยละ -1.9 นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เปิดเผยตัวเลขจีดีพีล่าสุดของญี่ปุ่นได้หดตัวถึงร้อยละ -4.0 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 52
- สศค. วิเคราะห์ว่าภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลกน่าจะแตะจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 1 ของปี 52 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยได้หดตัวถึงร้อยละ -7.1 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้น เนื่องจากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ CCI ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน ก.พ. 52 เท่ากับ 25.3 มาสู่ระดับ 39.2 ในเดือน เม.ย. 52 ขณะที่ดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าหรือ Purchasing Manager Index( PMM) ของญี่ปุ่นได้ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ -39.7 ในเดือน ก.พ. 52 มาสู่ระดับ -14.8 ในเดือนเม.ย. 52
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th