บทสรุปผู้บริหาร: สรุปผลการประชุมนานาชาติ " Impacts on SMEs and Trade Finance in Asia and Policy Challenges "

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 29, 2009 17:31 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

SMEs ทุกประเทศมีปัญหาคล้ายคลึงกัน และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ โดยเฉพาะที่มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก

ในญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเก็บฐานข้อมูลด้านต่างๆ ของ SMEs เพราะสามารถนำไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้ และควรพัฒนาเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคเพื่อให้ SMEs สามารถระดมเงินในตลาดทุนในภูมิภาคได้ในอนาคต

ในญี่ปุ่นการเก็บข้อมูลระยะแรกเริ่มที่ ระบบการประกันสินเชื่อ เนื่องจากเป็นผู้ค้ำประกันเวลาขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน หากไม่ให้ข้อมูลก็จะไม่ให้ประกันสินเชื่อให้

Credit Risk Database (CRD) เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2544 แต่จัดตั้งสมบูรณ์เมื่อปี 2548 โดยการสนับสนุนของกระทรวง METI มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลจาก SMEs ทั่วประเทศและนำข้อมูลนั้นมาศึกษาวิเคราะห์และประมวลทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อขายแก่สมาชิก ที่เป็นสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อใช้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ในการพิจารณาให้สินเชื่อหรือรับประกันสินเชื่อแก่ SMEs

ในจีน วิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อ SMEs อย่างรุนแรง ได้ปิดกิจการลงไปเป็นจำนวนมากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้ช่วย SMEs เท่าที่ควรเพราะส่วนใหญ่ใช้จ่ายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการที่ช่วย SMEs ได้แก่ 1) ลดภาษีรายได้แก่ SMEs โดยเฉพาะการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่เพื่อลดการปล่อยมลพิษ 2) จัดสินเชื่อพิเศษแก่ SMEs ผ่านธนาคารของรัฐฯ จำนวน 5 แห่งในอีก 5 ปีข้างหน้า 3) เสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบประกันสินเชื่อ เป็นต้น

ในเอเชียใต้ ส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อม เล็กและกลาง ( Micro, Small and Medium Enterprises) ในอินเดีย รัฐบาลได้ออกกฎหมาย Micro, Small and Medium Enterprises Development (MSMED Act เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของ MSME ในตลาดโลก โดย National Manufacturing Competitiveness Council ได้ระบุสาขาอุตสาหกรรมที่อินเดียมีศักยภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป สิ่งทอฯลฯ เพื่อสร้างตลาดในประเทศทุกระดับ พร้อมๆกับเตรียมพร้อมด้านแรงงานมีฝีมือ และสร้างระบบฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SMEs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีสัดส่วนใน GDP ต่ำ เนื่องจาก SMEs มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ (Productivity) โดยเฉพาะขาดทักษะด้านแรงงานและเทคโนโลยี่ที่ดี รัฐบาลจึงควรให้ความช่วยเหลือ SMEs ด้านพัฒนาเทคโนโลยี่และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากการสนับสนุนด้านการเงินไม่เพียงพอและไม่ยั่งยืน เพราะการที่ SMEs มีเทคโนโลยี่และทักษะแรงงานที่ดีถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงซึ่งจะนำไปสู่การการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ