สถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสที่ 2 และแนวโน้มในปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 5, 2009 11:59 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

ไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้มีสัญญาณกระเตี้องขึ้น โดย Cabinet Office ทั้งนี้ ได้คาดการณ์ว่า GDP ปีงบประมาณ 52 จะติดลบร้อยละ - 3.9 และคาดว่า GDP จะเป็นบวกร้อยละ 1.2 ใน ปี 53 ดัชนีเศรษฐกิจ เดือน พ.ค.ส่วนใหญ่ดีขึ้นได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การใช้จ่ายภาคครัวเรือน คำสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ในภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น

ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ สัญญาณภาวะเงินฝืด เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคยังติดลบ เป็นอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง ฐานะทางการคลังยังคงเสี่อมถอยลงจากการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ในขณะที่รายได้จากการเก็บภาษีลดลงมาก ต้องออกพันธบัตรรัฐฐาลระดมเงินมากขึ้น คาดว่างบประมาณปี 2553 ปีหน้านี้จะมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลได้เลื่อนเป้าหมายการใช้วินัยการคลังต่างๆ ดังกล่าวออกไป รวมทั้งเลื่อนแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจออกไปเพราะภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 นับตั้งแต่ ค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 94 เยน/ดอลล่าร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 30 ก.ค. 52 ภาคการธนาคารได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น มีบริษัทล้มละลายเพิ่มขึ้นเพราะขาดสภาพคล่อง โดยครึ่งปีที่ผ่านมามีหลายบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องถูกถอนชื่อออก เพราะล้มลายและควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอดมากขึ้นอย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของญี่ปุ่นโดยรวมยังมีฐานะทางการเงินที่ค่อนดี ได้เข้าซื้อสถาบันการเงินของโลกตะวันตกที่ประสบปัญหาหลายแห่ง เรียกได้ว่าวิกฤตการเงินครั้งนี้ทำให้สถาบันการเงินของญี่ปุ่นได้มีโอกาสขยายธุรกิจมากขึ้น

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ใช้ในหลายภาคเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ทั้งส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศและช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและในต่างประเทศช่วยเรื่องการจ้างงาน รวมทั้งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้สิ่งจูงใจประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ได้สนับสนุนเทคโนโลยี่ของญี่ปุ่นด้วย ( Buy Japanese) ซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนชาตินิยม เหมือนที่หลายๆประเทศทั่วโลกได้ใช้แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ

การเมืองญี่ปุ่นได้มาถึงจุดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ รัฐบาลพรรค LDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลนับตั้งแต่ปี 2539 ได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา และประกาศเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 30 ส.ค.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าพรรค DPJ ฝ่ายค้านจะเป็นผู้ชนะและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยคาดว่านาย Yukio Hatoyama หัวหน้าพรรคจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป พรรค DPJ มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลายประการ โดยเฉพาะจะลดความสำคัญของหน่วยงานภาครัฐและจะเพิ่มบทบาทของนักการเมืองในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น จะใช้นโยบายการคลังผ่อนปรนและเพิ่มการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นต่อไป จะดำเนินนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่ารัฐบาลปัจจุบันใช้อยู่ โดยมีแนวนโยบายที่เปลี่ยนไปจากนโยบายพรรค LDP เดิม อย่างมาก

ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วไป

ในไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้มีสัญญาณกระเตี้องขึ้น หลังจากการส่งออกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมได้ลดลง 9 เดือนติดต่อกัน โดยการส่งออกสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์ เครื่องจักร และอุปกรณ์ไฟฟ้า ไปภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของการส่งออกทั้งหมด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีดีมานด์สินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในจีนเริ่มได้ผล นอกจากนี้ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้น โดยก่อนหน้านี้ จากตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจญี่ปุ่นของ Cabinet Office ได้แถลงว่า Real GDP ไตรมาส 1 ติดลบร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ถดถอยรุนแรงที่สุด เป็นผลจากการลดลงของการส่งออกและดีมานด์ภายในประเทศ

ทั้งนี้ ได้คาดการณ์ว่า GDP ตลอดปีงบประมาณ 52 จะติดลบร้อยละ - 3.9 และคาดว่า GDP จะเป็นบวกร้อยละ 1.2 ในปี 53 1. ดัชนีภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญล่าสุด

1. 1 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economic Trade and Industry:METI)ได้เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เทียบกับเดือน เม.ย.อยู่ที่ระดับ 79.2 (ปี 2005=100) ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 เดือนแล้ว เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มขึ้น และนโยบายลดภาษีรถยนต์ eco-car ทำให้การผลิตรถยนต์เพื่อตลาดในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 50.6 ซึ่งส่งผลให้มีดีมานด์ชิ้นส่วนรถยนต์และเหล็กเพิ่มขึ้นด้วย

1.2 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในญี่ปุ่น (Household Spending) กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications) ได้เปิดเผยว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือน เดือน พ.ค.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้เงินช่วยเหลือประชาชนทำให้รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น จึงใช้จ่ายมากขึ้น

1.3 การลงทุนของภาคเอกชน (Capital Spending) Cabinet office รายงานว่าคำสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่โดยรวมลดลงร้อยละ 3 ในเดือน พ.ค.52 เทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ5.4 แต่นอกภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 6.9 จากดีมานด์ในประเทศฟื้นตัวอย่างช้าๆ ทำให้คำสั่งซื้อเครื่องจักรนอกภาคอุตสาหกรรมซึ่งประกอบด้วยธุรกิจบริการ การค้าส่งค้าปลีก เกษตร และภาครัฐฯ ลดลง แต่เริ่มส่งสัญญาณว่ภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวดีขึ้น หลังที่ได้ลดติดต่อกันมาหลายเดือน

1.4 อัตราการว่างงาน (Jobless) เดือน พ.ค.52 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 ซึ่งจำนวนคนว่างงานเป็น 3,470,000 คน เพิ่มขึ้น 770,000 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า

1.5. ดัชนีราคาผู้บริโภค (Core Consumer Price) กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคยกเว้นอาหารสด (CPI, ปี 2548=100) ประจำเดือน พ.ค.52 ลดลงร้อยละ 1.1 อยู่ที่ 100.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคได้ลดลงต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายเดือน และมีสัญญาณภาวะเงินฝืดเกิดขึ้น

1.6. อุปสงค์ภาครัฐ (Government Demand) ประกอบด้วย การลงทุนภาครัฐ (Public Investment) และการบริโภคภาครัฐ (Government Consumption) ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 และลดลงร้อยละ 0.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า (ตัวเลขล่าสุด)

1.7. ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance)

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.52 กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ค.52 ลดลงร้อยละ 34.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า

ดุลการค้าและบริการเกินดุลลดลงร้อยละ 52.2 เป็นผลจากดุลการค้าลดลงร้อยละ 22.1 ที่เกิดจากการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 42.2 เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯและยุโรปยังไม่ปรับตัวดี ในขณะที่การขาดดุลบริการได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

การเกินดุลรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล จากการลงทุนต่างประเทศลดลงร้อยละ 24.5 ลดลงเป็นเดือนที่ 8 แล้ว จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปถดถอยทำให้บริษัทญี่ปุ่นได้รับเงินปันผลจากต่างประเทศลดลง รวมทั้งผลกำไรของบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศก็ลดลงทำให้การลงทุนลดลงด้วย และยังเป็นผลจากค่าเงินเยนที่แข็งตัวขึ้นด้วย

1.8 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เปิดเผยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 52 มีจำนวน 1,019.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

1.9 ราคาที่ดิน กรมสรรพากรญี่ปุ่น (National Tax Agency) ได้เปิดเผยผลการประเมินราคาที่ดินทั่วญี่ปุ่นใน 47 จังหวัด เมื่อเดือน ก.ค.52 ว่า ได้ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการซบเซาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

1.10 ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ BOJ ได้ประกาศผลการสำรวจของ Tankan เมื่อ มิ.ย.52 พบว่าดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาวะธุรกิจโดยทั่วไป (Business Sentiment Diffusion Index: DI) ของกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ประเภทอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 10 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นในรอบ 2 ปีครึ่ง และผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าได้พ้นจากสถานการณ์เลวร้ายทางธุรกิจแล้ว

2 . สถานการณ์ภาคการเงิน

2.1 นโยบายอัตราดอกเบี้ย ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกที่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของ BOJ ได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.10 หลังจากที่ได้ลดลงครั้งล่าสุดในเดือน ธ.ค.51

2.2 อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ Yen Carry Trade ได้ลดลง จากวิกฤตการเงินโลกทำให้นัก ลงทุนญี่ปุ่นซื้อเงินเยนเพิ่ม เพื่อนำเงินกลับมาลงทุนในประเทศมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลง สะท้อนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลง ส่งผลอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งตัวขึ้น ณ 27 ก.ค.52 โดย 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 94 เยน

2.3 สถานการณ์ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นไม่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนใน Subprime มากนัก แต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้ทำให้ Real Sector ประสบปัญหาอย่างมากโดยเฉพาะภาคการส่งออกและอสังหาริมทรัพย์ ฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอ ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และ SMEs ที่เป็น Supply Chain เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจส่งออกล้มละลายมากขึ้น ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างมาก บริษัทขนาดใหญ่ชั้นนำ ขาดทุนอย่างหนักนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ทำให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นๆของญี่ปุ่นมีผลประกอบการขาดทุน โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2551 (31 มี.ค.52) ที่สำคัญ อาทิ 1) Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. กลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 1 ขาดทุน 260 พันล้านเยน ขาดทุนครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค.48 2) Mizuho Financial Group Inc. ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ขาดทุน 370.5 พันล้านเยน 4) Nomura Holdings บริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดขาดทุน 700 พันล้านเยน ซึ่งเป็นการขาดทุนมากที่สุดในประวัติการณ์ และมากเป็นอันดับ 1 ในบรรดาสถาบันการเงินญี่ปุ่น 5) Norinchukin Bank ธนาคารกลางสหกรณ์ที่เกิดจากการร่วมทุนของสมาชิกสหกรณ์เพื่อการเกษตร สหกรณ์เพื่อการประมง สหกรณ์ป่าไม้ ซึ่งรับฝากเงินจากสหกรณ์ดังกล่าวทั่วประเทศและนำไปบริหารเพื่อสร้างผลตอบแทนแก่สมาชิกได้ขาดทุน 620 พันล้านเยน ขาดทุนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2539 นอกจากนี้ ยังมีธนาคารขนาดเล็กอีกหลายรายมีผลประกอบการขาดทุนจนต้องขอใช้เงินเพิ่มทุนรัฐบาล

ผลจากวิกฤตการเงินได้เปลี่ยน Financial Landscape ในญี่ปุ่น สถาบันการเงินขนาดเล็กควบรวมกิจการกันมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด แต่ธนาคารขนาดใหญ่ ถึงแม้ขาดทุนแต่ฐานะการเงินยังแข็งแกร่งพอที่จะเข้าซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงินต่างประเทศ อาทิ 1) Sumitomo Mitsui Financial Group Inc.และ Diawa Securities Group บริษัทในเครือ กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการบริษัทหลักทรัพย์ Nikko Cordial ในเครือ Citibank สหรัฐฯ 2) Mitsubishi UFJ Financial Group Inc.กำลังเจรจาเข้าซื้อหุ้นสามัญของธนาคารสหรัฐฯ Morgan Stanley จำนวนมูลค่า 705 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากได้ซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ในเดือน ต.ค. 51 ที่ผ่านมามูลค่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 3) ธนาคาร Shinsei และธนาคาร Aozora ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 7 และ 8 ตามลำดับ กำลังเจรจาควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 6 ของญี่ปุ่น หลังจากทั้ง 2 ธนาคารขาดทุนอย่างหนักจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ จนต้องขอใช้เงินงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มทุนฟื้นฟูกิจการ (Shinsei เดิมชื่อ Long-Term Credit Bank of Japan และ Aozora เดิมชื่อ Nippon Credit Bank ทั้ง 2 ธนาคารได้ปิดกิจการลงในช่วงวิกฤตการเงินปี 2541) 4) บริษัทหลักทรัพย์ Mizuho Securities ในเครือ Mizuho Financial Group Inc. ได้ประกาศรวมกิจการกับบริษัทหลักทรัพย์ Shinkou Securities อย่างเป็นทางการแล้ว และ 5) AIG โตเกียว ประกาศขายอาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่ย่านธุรกิจการเงินใจกลางกรุงโตเกียว เพื่อใช้หนี้ของสำนักงานใหญ่ ภายหลังรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้กู้เงินจำนวน 80 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูกิจการในเดือน ก.ย.51 ที่ผ่านมา ซึ่ง Nippon Insurance บริษัทประกันภัยญี่ปุ่น กำลังเจรจาเข้าซื้อ

2.4 สัดส่วน NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์ Financial Services Agency: FSA หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่า NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นรายใหญ่ 11 แห่ง ณ ก.ย. 51 อยู่ที่ระดับร้อยละ1.52 (ตัวเลขล่าสุด) สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio: CAR) ณ เดือน ก.ย. 51 อยู่ระหว่าง ร้อยละ 11.73 สูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ร้อยละ 8 อย่างไรก็ตาม ตัวเลข ณ สิ้นปีงบประมาณ 2551 (31 มี.ค.52) ยังไม่ได้แถลงออกมา มิฉะนั้นแล้ว จะเห็นว่าเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นลดลง และ NPLs เพิ่มขึ้น จากผลมากระทบของภาวะเศรษฐกิจถดถอย

2.5 สถานการณ์ตลาดทุน ภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ได้ทำให้ดัชนีมูลค่าหลักทรัพย์เฉลี่ยที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange: TSE) เมื่อวันที่ 10 มี.ค 52 ลดลงเหลือ 7,054.98 ต่ำที่สุดในรอบ 26 ปี เปรียบเทียบกับ เมื่อเดือน มี.ค. 43 ที่มีมูลค่าสูงสุดถึง 20,081 เยน โดย ณ 27 ก.ค.52 กระเตื้องขึ้นมาที่ระดับเฉลี่ย 10,000 เยน ผลของราคาหลักทรัพย์ลดลงได้ทำให้เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ลดลงและยิ่งระมัดระวังการปล่อยกู้แก่เอกชนมากขึ้น

ทั้งนี้ TSE ได้เปิดเผยว่าครึ่งปีแรกของปีนี้ มีบริษัทญี่ปุ่น 38 บริษัทถอนชื่อออกจากการซื้อขายหุ้นในตลาดฯ เป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2499 เป็นผลมาจากการล้มละลายของบริษัทต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งมีการควบรวมกิจการ (M&As) กันมากขึ้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange Group Inc.) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นจำนวนทั้งหมด 6 แห่ง ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ได้เลื่อนแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนจากเดิมกำหนดไว้ภายในสิ้นปีนี้ เป็นภายหลังปี 2553 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ญี่ปุ่น โดยเฉพาะหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) มีขนาดเล็ก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้เอกชนนิยมระดมเงินจากธนาคารพาณิชย์แทน ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) จากการที่รัฐบาลมีหนี้สาธารณะที่อยู่ในรูปของพันธบัตรรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนที่มีอยู่ในตลาดและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น เพราะต้องระดมเงินทุนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในขณะที่หุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) ปัจจุบันมีน้อยมากเนื่องจากฐานะการเงินของภาคเอกชนอ่อนแอ บริษัท Credit Rating ลดอันดับความน่าเชื่อถือ ไม่เอื้อให้ออกหุ้นกู้ใหม่ได้

3. นโยบายการคลัง

3.1 ฐานะการคลังของญี่ปุ่นอยู่ในขั้นวิกฤต ด้วยภาระหนี้ในรูปของพันธบัตรรัฐบาลในประเทศสูงถึงประมาณร้อยละ 170 ของ GDP นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเป็นเศรษฐกิจที่มีคนแก่มากขึ้น (Aging Economy) ปัจจุบันประชากรร้อยละ 21 อายุมากกว่า 65 ปี ในขณะที่วัยทำงานมีแนวโน้มจะลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง แต่คนมีอายุยืนขึ้น ทำให้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการและประกันสังคมมากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้พยายามปรับปรุงฐานะการคลัง โดยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงและมีเป้าหมายจัดทำงบประมาณเกินดุลใน ปี 2554 จากที่ขาดดุลงบประมาณติดต่อกันมาหลายปี รวมทั้งได้กำหนดเพดานการออกพันธบัตรรัฐบาล สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในงบประมาณปีละไม่เกิน 30 ล้านล้านเยน แต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีในปี 2551 ต่ำกว่าเป้าหมายมาก ในขณะที่รัฐบาลมีภาระงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากกว่าเพดานที่กำหนดไว้เดิม และเลื่อนเป้าหมายการใช้วินัยการคลังต่างๆ ดังกล่าวออกไป

3.2 ภาพรวมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ซึ่งได้เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.52 วันเริ่มต้นงบประมาณประจำปีของญี่ปุ่น รายละเอียดตามแผนภูมิ ที่ 1

3.3 สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2553 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการจัดทำ ซึ่งคาดว่าจะมีการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น ภาวะหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลต้องออกพันธบัตรรัฐบาลมาชดเชยรายได้ที่เก็บจากภาษีที่ลดลงเป็นจำนวนมาก โดยรายได้จากการเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2551 น้อยที่สุดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เป็นผลจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

4. นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

รัฐบาลได้ประกาศชะลอการแปรรูปธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น (Development Bank of Japan (DBJ) และธนาคารเพื่อ SMEs (Shoko Chukin Bank) โดยจะขยายเวลาออกไป 3 ปีครึ่ง และได้ตัดสินใจว่าจะไม่ดำเนินการขายหุ้นจนถึงสิ้นปี 2554 และระหว่างนี้จะพิจารณาว่าจำเป็นที่จะแปรรูปสถาบันการเงินทั้งสองแห่งเป็นบริษัทเอกชนต่อไปหรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลได้ใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดังกล่าวเป็นเครื่องมือเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทเอกชนนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์เอกชนไม่เต็มใจปล่อยเงินกู้

ภายใต้แผนปฏิรูปสถาบันการเงินของรัฐที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2551 สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี Koizumi ภายใต้นโยบาย Small Government ให้เอกชนดำเนินการแทนเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล นับตั้งแต่แปรรูป Japan Post และได้มีการจัดตั้ง Japan Post Holding Company ที่มีรัฐบาลถือหุ้นทั้งหมด มีบริษัทย่อยๆ 4 บริษัทได้แก่ 1) Postal Network Co. 2) Japan Post Service Co. 3) Japan Post Bank Co. และ 4) Japan Post Insurance Co. เพื่อทยอยขายหุ้นของบริษัทย่อยดังกล่าวในปีงบประมาณ 2553 และเป็นเอกชนทั้งหมดภายในปี 2560 ซึ่งปัจจุบันการแปรรูปบริษัทย่อย 4 บริษัทดังกล่าวได้เลื่อนออกไป เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล 8 แห่ง ซึ่งรวมถึงการยุบ การควบรวม การแปรรูป เพื่อลดการสนับสนุนจากภาครัฐและปรับปรุงฐานะการคลังให้ดีขึ้น กล่าวคือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่งได้แก่ 1) JBIC (ส่วนงาน EXIM Bank) 2) บรรษัทเงินทุนเพื่อลูกค้าขนาดย่อม (National Life Finance Corporation) 3) บรรษัทเงินทุนเพื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (Japan Finance Corporation for Small and Medium Enterprises) 4) และบรรษัทเงินทุนเพื่อการเกษตร ป่าไม้และประมง (Agriculture, Forestry, and Fisheries Finance Corporation) ได้ควบรวมกันและเป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งใหม่ชื่อ Japan Finance Corporation (JFC) โดยเริ่มดำเนินการแล้ว นับตั้งแต่ 1 ต.ค. 51 ที่ผ่านมา และบรรษัทเงินทุนเพื่อพัฒนาเกาะ Okinawa (Okinawa Development Finance Corporation) จะต้องควบรวมกับ 4 สถาบันการเงินที่กล่าวข้างต้นภายในปีงบประมาณ 2555 และให้แปรรูป DBJ และ Shoko Chukin Bank เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.51 จนเป็นเอกชนสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันแผนการดังกล่าวได้เลื่อนออกไปเช่นกัน

5. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

5.1 นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 51รัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้งบประมาณเพิ่มเติม (Supplementary Budget) เพิ่มจากงบประมาณปกติ ใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบันแล้ว ถึง 3 Phase แล้วได้แก่ 30 ต.ค.51 จำนวน 5 ล้านล้านเยน 19 ธ.ค.51 จำนวน 43 ล้านล้านเยน และ 10 เม.ย. 52 จำนวน 15.4 ล้านล้านเยน ทั้งที่ใช้จ่ายโดยรัฐบาลกลางโดยตรง และร่วมกับโครงการของรัฐบาลท้องถิ่น

5.2 ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่นที่ผ่านมาสรุปได้ ดังนี้

5.2.1. มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน สร้างระบบการฝึกอบรม การหางานและการ ทำงานแก่พนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว รักษาสภาพการจ้างงาน และเพิ่มโอกาสจ้างงาน ดังนี้

1) จัดสรรเงินงบประมาณสนับสนุนการรักษาสภาพการจ้างงาน เช่นการเพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่บริษัทเพื่อไม่ให้เลิกจ้างงาน สำหรับบริษัทขนาดใหญ่มีการเพิ่มยอดเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้ความรู้ และเพิ่มระยะเวลาการให้เงินสนับสนุน

2) สนับสนุนการหางานใหม่และพัฒนาขีดความสามารถ ได้แก่

  • จัดสรรเงินสนับสนุนการหางานและการฝึกอบรมงาน จัดการฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมระบบประกันแรงงาน รวมถึงสนับสนุนการใช้ชีวิตประจำวันระหว่างการฝึกอบรม เช่น การจัดหาที่อยู่อาศัยให้ เป็นต้น โดยหลักสูตรการอบรมพิจารณาจากความต้องการของบริษัทต่างๆ เพื่อให้ได้แรงงานตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และจัดสรรเงินสนับสนุนหน่วยงานฝึกอบรมเพื่อคุ้มครองและเพิ่มขีดความสามารถในการรับผู้ฝึกอบรมด้วย
  • สนับสนุนการพัฒนาความสามารถวิชาชีพให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาส และเพิ่มโครงการความร่วมมือเพื่อฝึกอบรมกับบริษัทเอกชน เป็นต้น
  • สนับสนุนการจ้างงานผู้พิการ โดยการเพิ่มเงินสนับสนุนบริษัทที่ว่าจ้างงานผู้พิการ และการสนับสนุนให้ผู้พิการฝึกงานกับหน่วยงานราชการเพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานก่อนการที่จะหางานกับบริษัทเอกชน เป็นต้น
  • เสริมสร้างความแข็งแกร่งของหน่วยงานและระบบการจัดหางาน โดยให้เงินสนับสนุนการว่าจ้างพนักงานนอกเวลาหรือพนักงานชั่วคราว เป็นต้น

3) สร้างการจ้างงาน โดยการเพิ่มเงินทุนให้หน่วยงานที่มีหน้าที่สร้างการจ้างงานฉุกเฉิน และนำเทคโนโลยี่สมัยใหม่ไปเผยแพร่ในต่างประเทศเพื่อให้เกิดการจ้างงาน เป็นต้น

4) คุ้มครองพนักงานชั่วคราวหรือพนักงานนอกเวลา เช่น ให้ความคุ้มครองผู้ที่ถูกยกเลิกสัญญากระทันหัน และควบคุมดูแลให้บริษัทปฎิบัติตามกฎหมายแรงงาน แก้ไขการยกเลิกการรับนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงานอย่างกระทันหัน โดยจะมีการเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ยกเลิกการรับเข้าทำงาน และสนับสนุนการหางานให้แก่นักศึกษาที่ยังไม่มีบริษัทรับเข้าทำงาน เป็นต้น

5) สนับสนุนที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิตแก่แรงงาน เช่นการหาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ตกงานที่ต้องออกจากหอพักหรือที่อยู่อาศัยของบริษัท และให้คำปรึกษาทางด้านการใช้ชีวิตและให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนผู้ตกงาน เป็นต้น

6) ให้เงินช่วยเหลือบริษัทในการจ้างงาน และสนับสนุนการใช้ระบบความร่วมมือในการรักษาสถานะการจ้างงาน เช่นการลดเวลาทำงานและลดค่าจ้างของพนักงานโดยเท่าเทียมกัน

7) เพิ่มโครงการสร้างการจ้างงานในท้องถิ่น

5.2.2 มาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทญี่ปุ่นทั้งบริษัทขนาดใหญ่และ SMEs ทั้งที่ประกอบธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่

1) สนับสนุนการเพิ่มทุนของ SMEs โดยการเพิ่มวงเงินประกันฉุกเฉินจำนวน 10 ล้านล้านเยนให้แก่สมาคมประกันสินเชื่อแห่งประเทศญี่ปุ่น รวมถึงรับการประกันสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง และปรับปรุงระบบการประกันสินเชื่อ เช่น ยกเว้นการยื่นหลักทรัพย์ประกัน เป็นต้น

2) เพิ่มเงินทุนจำนวน 3 ล้านล้านเยนแก่ Japan Finance Corporation (JCF) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (เกิดจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่งรวมกันได้แก่ (1) JBIC ซึ่งเป็น EXIM Bank ญี่ปุ่น (2) บรรษัทเงินทุนเพื่อลูกค้าขนาดย่อม(National Life Finance Corporation) (3) บรรษัทเงินทุนเพื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (Japan Finance Corporation for Small and Medium Enterprises)(4) บรรษัทเงินทุนเพื่อการเกษตร ป่าไม้และประมง (Agriculture, Forestry, and Fisheries Finance Corporation) เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

3) สนับสนุนการเพิ่มทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยอัดฉีดเงินผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ธนาคารเพื่อการพัฒนาญี่ปุ่น (Development Bank of Japan: DBJ และ Shoko Chukin Bank เพื่อสามารถให้สินเชื่อระยะยาวและรักษาสภาพคล่องของบริษัทรายใหญ่จำนวน 8 ล้านล้านเยน รวมทั้งได้มีการแก้ไขกฎหมาย Law on Special Measures for Industrial Revitalisation ให้บริษัทญี่ปุ่นที่มีพนักงาน 5,000 คนหรือมากกว่า ยื่นความจำนงค์ขอใช้เงินงบประมาณเข้าช่วยเพิ่มทุนบริษัทเอกชน โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) บริษัทมียอดขายลดลงร้อยละ 20 หรือมากกว่าในรอบไตรมาส (2) หรือยอดขายลดลงร้อยละ 15 หรือมากกว่าในรอบครึ่งปี อันเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก (3) บริษัทที่มีคุณสมบัติตามข้อ (1) จะต้องเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ 3 ปี เพื่อเพิ่มรายได้ (4) หากมีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว สามารถขอใช้เงินกู้รัฐบาลผ่าน DBJ และหากบริษัทดังกล่าวล้มละลาย รัฐบาลจะเข้าชดเชยการขาดทุนแก่ DBJ ร้อยละ 80 โดยได้เตรียมงบประมาณ 1.6 ล้านล้านเยนหรือ 16.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าชดเชยการขาดทุนดังกล่าวไว้แล้ว

4) รัฐบาลให้ DBJ และ Shoko Chukin Bank เข้าซื้อตราสารทางการเงิน (Commercial Paper) ของบริษัทต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่อง

5) จัดสรรเงินเพิ่มทุนให้แก่บริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศ รวมทั้งได้ให้เงินกู้ช่วยเหลือสถาบันการเงินในประเทศกำลังพัฒนา ผ่านทาง JBIC มีวงเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทลูกหรือสาขาของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศนั้นๆ

6) JBIC ประกาศแผนการปล่อยเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ SMEs ญี่ปุ่นที่ประกอบธุรกิจในต่างประเทศ โดยเน้นประเทศในแถบเอเซียเป็นหลักโดยมีวงเงิน 3 พันล้านเยน เพื่อสนับสนุนการเพิ่มทุนของ SMEs โดยจะให้เงินกู้ผ่านทางสถาบันการเงินที่มีสาขาในประเทศญี่ปุ่นและสถาบันการเงินญี่ปุ่นในประเทศนั้นๆ (เช่นธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นที่มีสาขาในไทย และธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีสาขาในญี่ปุ่น)

7) แก้กฎระเบียบเพื่อขยายกรอบการดำเนินงานระบบประกันการนำเข้าและการส่งออกของ JBIC ให้ครอบคลุมถึงสาขาและบริษัทลูกญี่ปุ่นในต่างประเทศ ที่หากไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากการส่งออกจากลูกค้าได้ เนื่องจากประเทศของลูกค้าประสบปัญหาการเมืองหรือปิดกิจการ โดยรัฐบาลจะชดเชยการขาดทุนให้ จากเดิมอนุญาตให้เฉพาะบริษัทแม่ในญี่ปุ่นเท่านั้น

8) รัฐบาลซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์และ Exchange-Traded Fund (ETF) ของเอกชน จากตลาดการเงินโดยตรง

9) ด้านธนาคารกลาง Bank of Japan (BOJ) ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับรัฐบาลเพื่อดูแลและรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินและสนับสนุนมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลทางด้านการเงินอย่างเต็มที่

BOJ ได้ทำหน้าที่เป็นธนาคารพาณิชย์ชั่วคราว ซึ่งเป็นมาตรการที่ Extremely Unusual ของธนาคารกลาง จัดสรรเงินจำนวน 1.22 ล้านล้านเยนหรือ 13 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินในการปล่อยกู้แก่ภาคเอกชน

นอกจากนี้ BOJ รับหุ้นกู้ หรือตราสารของบริษัทเอกชน หรือตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลักประกัน ในการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ โดยไม่มีการจำกัดวงเงิน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 หรือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานระยะสั้นของ BOJ แต่หากเป็นเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยจะมีสัดส่วนที่แพงขึ้น เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์จะสามารถปล่อยเงินกู้แก่ภาคธุรกิจได้มากขึ้น

5.2.3 มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นตลาด Domestic ที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยความร่วมมือของคนในท้องถิ่นเป็นหลักในการส่งเสริม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ท้องถิ่น ซึ่งมีจุดเด่นคือ การคมนาคมสะดวกนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้เอง ระบบห้องน้ำสะอาด มีเพียงพอ ตามสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง ปลอดภัย โดยมีจุดขายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์ รวมทั้งมีการจัดเทศกาลหรือดอกไม้ที่มีอยู่หลากหลายในฤดูต่างๆ ที่ท้องถิ่นร่วมมือกันจัดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นโยบายการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นได้แก่

1) สนับสนุนการจัดสร้างสถานที่ท่องเที่ยวให้น่าสนใจเพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวอยู่มากกว่า 2 คืน 3 วัน และให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ โดยความร่วมมือขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น องค์กรเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และองค์กรเกษตรป่าไม้และประมง

2) สร้างระบบฝึกอบรมบุคลากรให้มีความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

3) เพิ่มความสะดวกของนักท่องเที่ยวโดยมีบัตรรถไฟราคาถูกระหว่างประเทศ โดยมีเป้าให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคนภายในปี 2553 ( Visit Japan Upgrade Project) รวมทั้งสนับสนุนนักท่องเที่ยวจากประเทศกำลังพัฒนา และส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติที่ญี่ปุ่นมากขึ้น

4) จัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้มีการลาพักผ่อนง่ายขึ้นและเผยแพร่สินค้าท่องเที่ยวแบบใหม่ จัดทำคู่มือเกี่ยวกับการท่องเที่ยว

5) ลดค่าทางด่วนในต่างจังหวัดในวันหยุดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการทั่วประเทศเหลือเพียง 1 พันเยน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

5.2.4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม

1) สนับสนุนการใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้แก่รถไฟฟ้า และรถยนต์ประเภท Hybrid

3) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้เงินสนับสนุนและให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี สำหรับสถานที่ราชการ อาคารสำนักงานและครัวเรือนที่นำระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเป็นแหล่งพลังงานสะอาด

4) ใช้มาตรการด้าน Eco Points ที่สนับสนุนให้ประชาชนสะสมแต้มจากการซื้อเครื่องไฟฟ้าประหยัดพลังงานประเภท ทีวี แอร์ ตู้เย็น

5) เสนอแนวทาง Zero Emission Building โดยเฉพาะอาคารของราชการใหม่ (New Public Buildings)จะทำให้เป็น Zero Emission Building ภายในปี 2573

6) จัดตั้ง Local green New Deal Funds ที่รัฐบาลช่วยเหลือด้านการเงินแก่รัฐบาลท้องถิ่นเพื่อนำไปสนับสนุนประชาชนซ่อมแซมบ้านเรือนหรือปรับปรุงระบบไฟฟ้า เพื่อประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

มาตรการดังกล่าวได้ใช้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้สิ่งจูงใจประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งผลประโยชน์ข้างเคียงที่ได้คือ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดน้อยลง รวมทั้งได้สนับสนุนเทคโนโลยี่ของญี่ปุ่นด้วย ( Buy Japanese) ซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนชาตินิยม เหมือนที่หลายๆประเทศทั่วโลกได้ใช้แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ

5.2.5 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ

1) ช่วยเหลือภาคครัวเรือน แจกเงินประชาชนทุกคนๆละ 12,000 เยน ส่วนผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปหรือเด็กอายุต่ำกว่า18 ปี จะได้รับ 20,000 เยน ครอบครัวที่มีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไประหว่างอายุ 3-5 ขวบได้รับเงินช่วยเหลือ 36,000 เยน เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้งคนต่างชาติทุกคนที่จดทะเบียนต่อเขตในญี่ปุ่นก่อน กพ.51 โดยเขตจะส่งหนังสือวิธีการรับเงินให้ตามที่อยู่ที่ระบุ

2) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือร้อยละ 18 เป็นระยะเวลา 2 ปี

3) พัฒนาโครงการในท้องถิ่น อุดหนุนเงินแก่เทศบาลต่างๆ ดำเนินโครงการต่างๆ

4) ป้องกันภัยธรรมชาติและการลงทุนในที่อยู่อาศัย

5) ส่งเสริมสวัสดิการเพื่อดูแลเด็กและผู้สูงอายุมากขึ้น เป็นต้น

6. สรุปและแนวโน้ม

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะผ่านพ้นจุดที่เลวร้ายที่สุดแล้ว แต่ยังมีประเด็นท้าทายได้แก่ หลายประการ เช่น ด้านสถาบันการเงิน ยังมีความระมัดระวังในการปล่อยกู้เพราะยังไม่มั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ทางด้านการคลัง รายได้จากการเก็บภาษีลดลง ในขณะที่มีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจรวมทั้งการใช้เป้าหมายวินัยทางการคลังต้องชะลอออกไป เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ภาครัฐมีบทบาทมากขึ้นในการผลักดันเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตเช่นเดียวกับในหลายประเทศ ทั้งนี้ หลายฝ่ายเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้ ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และปริมาณหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นปัญหาที่น่ากังวลของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคต

ทางด้านการเมือง ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นมีปัญหาขาดเอกภาพในการทำงานเนื่องจากพรรค Democratic Party of Japan: DPJ ฝ่ายค้านมีเสียงข้างมากในสภาสูง ในขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรค Liberal Democratic Party: LDP มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และโดยที่สมาชิกในสภาล่างกำลังจะหมดอายุลงในช่วงต้นเดือนก.ย.ศกนี้

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตกรุงโตเกียวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมาปรากฏว่าพรรค DPJ ฝ่ายค้านมีเสียงข้างมาก ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรค LDP ได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา และประกาศเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ในวันที่ 30 ส.ค.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าพรรค DPJ ฝ่ายค้านจะเป็นผู้ชนะและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ภายหลังพรรค LDP เป็นพรรครัฐบาลนับตั้งแต่ปี 2539 (พรรค DPJ เคยจัดตั้งรัฐบาลช่วง 2536-2539 โดยก่อนหน้านั้น พรรค LDP เป็นพรรครัฐบาลมาตลอด)

หากพรรค DPJ ฝ่ายค้านเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง คาดว่านาย Yukio Hatoyama หัวหน้าพรรคจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยพรรค DPJ มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลายประการ โดยเฉพาะจะลดความสำคัญของหน่วยงานภาครัฐและจะเพิ่มบทบาทของนักการเมืองในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมีแนวนโยบายที่เปลี่ยนไปจากนโยบายพรรค LDP เดิม ซึ่งจะต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ต่อไป

โดย สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังประจำ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ