ตัวเลขเบื้องต้นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 18, 2009 12:15 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงานตัวเลขเบื้องต้นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงของสรัหฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2552 จัดทำโดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Bureau of Economic Analysis-BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดังนี้

สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รายงานตัวเลขเบื้องต้นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงซึ่งยังคงหดตัวต่อเนื่องจากสามไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตราการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 กระเตื้องขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งมีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ 6.4 ดังแผนภาพแสดงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปนี้

การหดตัวของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2552 นั้น สืบเนื่องจากการชะลอตัวของ (1) ปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลที่แท้จริง (Real Presonal Consumption Expenditures) ที่หดตัวร้อยละ 1.2 จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่ 1 (2) การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย (3) การลงทุนของภาคเอกชนในสินค้าคงคลังและ (4) ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ กระเตื้องขึ้นจากไตรมาสของปีอย่างเห็นได้ชัดจากผลของ (1) การลงทุนในภาคธุรกิจซึ่งชะลอตัวที่อัตราช้าลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยครอบคลุมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนในสินค้าคงคลังและปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (2) ปริมาณการใช้จ่ายของภาครัญที่เพิ่มขึ้น และ (3) ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวในอัตราที่ต่ำกว่าไตรมาสแรกของปี 2552

ระดับราคาสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 หลังจากที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ หากไม่รวมสินค้าอาหารและพลังงาน ระดับราคาจะเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.1 เปรียบเทียบกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในอัตราที่ต่ำกว่าไตรมาสแรกของปี ในขณะที่ราคาอาหารปรับลอลงที่สูงกว่าไตรมาสแรกของปี

กล่าวโดยสรุปแล้ว การหดตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ร้อยละ 1.0 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ร้อยละ 1.5 ประกอบกับการจัดทำระเบียบการควบคุมดูแลระบบเครดิตธนาคาร และตลาดการเงินที่รัดกุมมากขึ้น ตลอดจนตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มส่งสัญญาณบวกหลังจากตกต่ำรุนแรกต่อเนื่องมานานกว่า 13 ไตรมาส จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดและเริ่มผ่อนคลายไปในทางที่ดีขึ้น โดยมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในไตรมาสที่ 3 ของปี อย่างไรก็ตามสำนักงานที่ปรึกษาฯ เห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจเป็นไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากการชะลอตัวที่สูงขึ้นของการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่นับเป็นสองในสามของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการชะลอตัวของการลงทุนจากภาคธุรกิจโดยเฉพาะการลงทุนในสินค้าคงคลังซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทางการสหรัฐฯ จะต้องจัดทำมาตรการรับมือและเร่งรัดการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว นอกจากนี้ปัญหาอัตราการว่างงานที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และการเลินจ้างงานที่ยังมีอย่างต่อเนื่องนั้นจะยังคงเป็นปัจจัยลบที่กดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ