รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 26, 2009 12:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 ส.ค. 2552

Summary

1. นายกรัฐมนตรีรับจะประคองการส่งออกปี 2552 ไม่ให้ติดลบเกินร้อยละ 17

2. นายกฯเร่งเบิกจ่ายงบเพื่อลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง

3. ผู้ว่าการ ECB กล่าวว่าอาจจะยังไม่ถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายออก

Highlight
1. นายกรัฐมนตรีรับจะประคองการส่งออกปี 2552 ไม่ให้ติดลบเกินร้อยละ 17
  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลพยายามที่จะดูแลให้การส่งออกในปีนี้หดตัวไม่เกินร้อยละ -13 ถึงร้อยละ —17 ต่อปี ขณะที่เชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะติดลบในช่วงร้อยละ -3 ถึงร้อยละ —4 ต่อปีตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ หลังพบสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2/2552 โดยรัฐบาลจะพยายามดูแลให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศกลับมาขยายตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี สำหรับความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจเกิดความรุนแรงขึ้นนั้น นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจสะดุดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.ค. 52 ที่หดตัวร้อยละ -25.7 ต่อปี หดตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2/52 ที่หดตัวร้อยละ -25.2 ต่อปี เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว โดยเฉพาะในประเทศจีน สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและ ญี่ปุ่น ในเดือน ก.ค. 52 หดตัวร้อยละ -25.4 ร้อยละ -20.8 และร้อยละ -24.6 ตามลำดับหดตัวลดลงจากไตรมาส 2/2552 ทำให้คาดว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในไตรมาสที่เหลือของปีจะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะหดตัวที่ช่วงร้อยละ -17.4 ถึง -16.4 ต่อปี (คาดการณ์ ณ มิ.ย. 52)
2. นายกฯเร่งเบิกจ่ายงบเพื่อลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง
  • นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 25 ส.ค. ว่าที่ประชุมรับทราบตัวเลขการเติบโตของจีดีพีไตรมาสที่ 2 ซึ่งหดตัวที่ร้อยละ -4.9 ตามการคาดการณ์และชะลอลงจากไตรมาสแรก สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว โดยมาจากมาตรการของรัฐบาล รวมไปถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะติดลบน้อยลงและจะกลับมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 4 ของปี ทั้งนี้ ได้ประกาศว่า จะเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเร่งเบิกจ่ายโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (โครงการไทยเข้มแข็ง) ที่จะเริ่มในไตรมาสสุดท้ายของปีนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งทางด้านเศรษฐกิจของประเทศและในด้านการของการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้แก่ประชาชน โดยงบประมาณสำหรับโครงการไทยเข้มแข็งนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนใหญ่จะเน้นไปทางด้านการลงทุนในเรื่องการขนส่งและคมนาคม เช่น ระบบรถไฟฟ้าสายต่างๆ ปรับปรุงถนนสายชนบท รวมไปถึงการปรับปรุงท่าอากาศยาน 4 แห่ง ทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 39.9 ของงบประมาณทั้งหมด และด้านรองลงมาคือ ด้านการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและด้านพลังงานซึ่งมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 35.4 ของงบประมาณทั้งหมด
3. ผู้ว่าการ ECB กล่าวว่าอาจยังไม่ถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายออกแม้มีสัญญาณฟื้นตัว
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ECB อาจยังไม่ถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการจัดทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายออกแม้ว่าภาคเศรษฐกิจจริงของยุโรปอาจผ่านพ้นจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ของ ECB กล่าวถึงตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาเริ่มปรับตัวดีขึ้นนั้นไม่ได้แสดงว่าเศรษฐกิจยูโรในระยะต่อไปนั้นปราศจากอุปสรรคแล้ว และระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของยุโรปในช่วงปัจจุบันนั้นยังคงต่ำกว่าระดับก่อนที่เกิดวิกฤติอยู่มากประกอบกับอัตราการว่างงานของยุโรปยังคงอยู่ในระดับที่สูงมากที่ร้อยละ 9.4 ของกำลังแรงงานรวม ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางได้กล่าวว่าจะทำการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจ (Credible Exit Strategy) เมื่อถึงเวลาอันควร และการดำเนินนโยบายการเงินแบบหดตัวเพิ่มขึ้นนั้นอาจจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อมิให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางด้านราคา
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจยุโรปยังคงมีความเปราะบางอยู่แม้ว่าเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นแล้ว โดยในภาคการจ้างงานและภาคการบริโภคอาจมิได้ขยายตัวอย่างยั่งยืน แต่เป็นเพียงการ Restock สินค้าคงค้างซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจกลับมาหดตัวอีกครั้ง ในขณะที่ยังมีความเสี่ยงจากฐานะการการคลังของที่ปรับตัวลดลงจากการทำนโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย ซึ่งหากเศรษฐกิจกลับมาหดตัวลงอีกครั้งจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากขึ้น ทั้งนี้ จากความเสี่ยงในหลายด้านที่กล่าวมาและความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ สศค.วิเคราะห์ว่าในช่วงระยะสั้นนี้ ECB ยังมีช่องทางที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นได้อีกในช่วงที่เศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงและความเปราะบางอยู่

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ