การยกเว้นภาษีแอร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 27, 2009 09:41 —กระทรวงการคลัง

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 ได้มีมติให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน 72,000 บีทียูต่อชั่วโมง ชนิดที่ใช้กับอาคารสำนักงานและบ้านพักอาศัย แต่ไม่รวมถึงเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้กับรถยนต์ลงเหลือ 0% จากเดิมที่จัดเก็บภาษีตามมูลค่า 15% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศนั้น และในวันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2552 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตามมติของ คณะกรรมการ กรอ. แล้ว

กระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศเฉพาะชนิดที่ใช้กับอาคารสำนักงานและบ้านพักอาศัย ส่วนเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้กับรถยนต์จะยังคงจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15 เช่นเดิม แต่หากกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมมีผลใช้บังคับจะต้องมีการทบทวนการยกเว้นภาษีเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้กับอาคารสำนักงานและบ้านพักอาศัยดังกล่าวอีกครั้ง

สำหรับวิธีการในการดำเนินงานดังกล่าว กระทรวงการคลังต้องออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 และต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งหากการยกเว้นภาษีเครื่องปรับอากาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ราคาขายปลีกของเครื่องปรับอากาศที่วางจำหน่ายในท้องตลาดมีราคาลดลง โดยเครื่องปรับอากาศขนาด 9,000 — 12,000 BTU ราคาจะลดลงประมาณ 2,300 บาท และเครื่องปรับอากาศขนาด 13,000 - 18,000 BTU ราคาจะลดลงประมาณ 2,100 บาท ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะสูญเสียรายได้จากการลดภาษีครั้งนี้ประมาณ 1,600 ล้านบาท ต่อปี

ตารางเปรียบเทียบราคาขายปลีกเครื่องปรับอากาศ

หน่วย: บาท/เครื่อง

     ขนาด BTU         เดิม              ใหม่             ราคาลดลง

(ยกเว้นภาษีเหลือ 0%)

  9,000 — 12,000     28,900           26,600            2,300
  13,000 — 18,000    34,900           32,800            2,100

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บภาษีจากสินค้าฟุ่มเฟือย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศไม่ได้ถือว่าเป็นสินค้าที่ฟุ่มเฟือยอีกต่อไป และในต่างประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ก็ไม่ได้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศแล้ว นอกจากนี้ในปัจจุบันเครื่องปรับอากาศยังได้มีการพัฒนาให้เป็นมิตรต่อสิงแวดล้อมและประหยัดพลังงานมากขึ้น ดังนั้นการยกเว้นภาษีเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้กับอาคารสำนักงานและบ้านพักอาศัยดังกล่าวจึงช่วยให้ผู้ประกอบการภายในประเทศมีศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าว

กรมสรรพสามิต

โทร / โทรสาร (02) 241-4778

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 116/2552 25 สิงหาคม 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ