เปิดตัวสินเชื่อ Fast Track

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 27, 2009 10:05 —กระทรวงการคลัง

วันนี้ (26 สิงหาคม 2552) ที่กระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม แถลงข่าวเปิดตัวสินเชื่อ Fast Track ซึ่งเป็นหนึ่งในปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเร่งการอนุมัติสินเชื่อให้บรรลุเป้าหมายการอนุมัติสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิม 301,500 ล้านบาทตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 เพื่อทดแทนการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง โดยมีการออก 14 มาตรการเพื่อช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประชาชนฐานรากและผู้ประกอบการ SMEs ในภาคการเกษตร ท่องเที่ยว ส่งออก และอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่

มาตรการที่ 1 เร่งการอนุมัติสินเชื่อของทุกธนาคารภายใน 3, 5, 7, 15 หรือ 21 วัน ตามประเภทและขนาดของ วงเงินสินเชื่อ โดยกระจายอำนาจในการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อให้กับระดับสาขา

มาตรการที่ 2 ปรับปรุงแบบฟอร์มและขั้นตอนการขออนุมัติสินเชื่อให้กระชับขึ้น

มาตรการที่ 3 เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 1.75 % ของ บสย.ในปีแรก

มาตรการที่ 4 เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ โดยขยายวงเงินจาก 20 ล้านบาทเป็น 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน

มาตรการที่ 5 ให้ธนาคารออมสินเข้าร่วมการอำนวยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เนื่องจากมีสาขากระจาย ทั่วประเทศ

มาตรการที่ 6 ธพว. และ ธ.ออมสินผ่อนปรนเงื่อนไขในการอำนวยสินเชื่อกับผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการดีก่อนวิกฤต

มาตรการที่ 7 โครงการธนาคารประชาชนโดย ธ.ออมสิน อำนวยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย โดยมีเป้าหมาย 500,000 ราย

มาตรการที่ 8 โครงการสินเชื่อห้องแถว โดย ธ.ออมสิน อำนวยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย โดยมีเป้าหมาย 50,000 ราย

มาตรการที่ 9 ธสน. อำนวยสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู่ส่งออก โดยผ่อนปรนให้ใช้คำสั่งซื้อสินค้า (P/O) หรือ Letter of Credit (L/C) เป็นเงื่อนไขประกอบการพิจารณาใช้วงเงิน

มาตรการที่ 10 ให้ ธสน. พิจารณาการให้สินเชื่อแบบครบวงจรทั้งผู้ซื้อสินค้าในต่างประเทศหรือ Supplier

มาตรการที่ 11 ธ.ก.ส. อำนวยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการระดับจุลภาค

มาตรการที่ 12 ธ.ก.ส. อำนวยสินเชื่อเพื่อรองรับโครงการรับประกันราคาพืชผลทางการเกษตร ได้แก่ สินเชื่อ เพื่อปรับปรุงยุ้งฉาง และจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ รวมทั้งเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนรอการขายผลผลิต

มาตรการที่ 13 ธอส. อำนวยสินเชื่อสำหรับการซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือซื้อห้องชุดพร้อมโอน

มาตรการที่ 14 ธอท. อำนวยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อไถ่ถอนที่อยู่อาศัย

จากมาตรการข้างต้นกระทรวงการคลังคาดว่าวงเงินสินเชื่อภายในปี 2552 เท่ากับ 927,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายประมาณร้อยละ 80 และคาดว่าประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้นประมาณ 730,000 ราย แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรประมาณ 175,000 ราย ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยประมาณ 550,000 ราย SMEs และผู้ประกอบการท่องเที่ยวมากกว่า 3,000 ราย รวมทั้งผู้ส่งออกมากกว่า 1,500 ราย ทั้งนี้ ประมาณการว่าจะส่งผลในทางบวกต่อ GDP ประมาณร้อยละ 0.5-0.9 ในปลายปีนี้และต่อเนื่องไปในปีหน้า

สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 0-2273-9020 ต่อ 3245

โทรสาร 0-2618-3374

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 117/2552 26 สิงหาคม 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ