บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง ผลกระทบทางเศรษฐกิจ: กรณีมาบตาพุด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 8, 2009 11:57 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

ในจำนวน 76 โครงการ มี 65 โครงการที่ต้องถูกระงับการลงทุน ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2.3 แสนล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 2.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด

โครงการที่ถูกระงับการลงทุนส่วนใหญ่เป็นโครงการปิโตรเคมีและท่อส่ง โครงการเหล็ก นิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม ท่าเทียบเรือ โรงไฟฟ้า โรงบำบัดกำจัดของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงไปข้างหน้าและข้างหลังสูงมาก เช่น การผลิตปูน เหล็ก และการก่อสร้าง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจำแนกได้ 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านอุปสงค์ ผ่านการลงทุน การบริโภค และการส่งออกในอนาคต 2) ด้านอุปทาน ผ่านการผลิตภาคอุตสาหกรรม และบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น การคมนาคมขนส่งก่อสร้าง ไฟฟ้าแก๊สประปา และค้าส่งค้าปลีก 3) ด้านการจ้างงาน 4) การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล 5) ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคผู้บริโภค 6) ผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ในโครงการที่ถูกระงับ และ 7) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จ.ระยอง และภาคตะวันออก

จากการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พบว่า ในกรณีกระทบเล็กน้อย GDP ลดลงประมาณร้อยละ -0.2 ต่อปี และการจ้างงานทั้งประเทศลดลง -66,000 คน และในกรณีกระทบรุนแรง GDP ลดลงประมาณร้อยละ -0.5 ต่อปี และการจ้างงานทั้งประเทศลดลง -193,000 คน

1. เกิดอะไรขึ้นกับการลงทุนที่บริเวณมาบตาพุด
  • ลำดับเหตุการณ์สำคัญ

o วันที่ 19 มิถุนายน 2552 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฟ้องหน่วยงานรัฐ เรียกร้องให้การพิจารณาอนุมัติการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA)เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550

o วันที่ 29 กันยายน 2552 ศาลปกครองชั้นต้นสั่งระงับการลงทุน 76 โครงการ เนื่องจากดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550

o วันที่ 2 ธันวาคม 2552 ศาลปกครองมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยมีคำสั่งให้ชะลอ 65 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง และให้ 11 โครงการ ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตของประชาชนสามารถเดินหน้าได้ ได้แก่ โครงการเชื้อเพลิงและแก๊ส 4 โครงการ โครงการเหล็ก 2 โครงการ และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 5 โครงการ

  • โครงการใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ

o โครงการลงทุนทั้ง 76 โครงการของมาบตาพุด มีเม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 2.9 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ โครงการผลิตพลังงานทางเลือก เช่นไบโอดีเซลและก๊าซธรรมชาติ นิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม ท่าเทียบเรือ โรงไฟฟ้า โรงบำบัดกำจัดของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม

o โครงการดังกล่าวทั้ง 76 โครงการนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้ดังนี้

1) โครงการที่ยังไม่จัดทำ EIA มีทั้งสิ้น 18 โครงการ มีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 89 พันล้านบาท

2) โครงการที่จัดทำ EIA แล้ว แต่ยังต้องรออนุมัติความน่าเชื่อถือของรายงาน มี 47 โครงการ มีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 140 พันล้านบาท

3) โครงการที่ได้รับอนุมัติจัดทำ EIA ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 มี 11 โครงการ มีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 58 พันล้านบาท

o โครงการที่ถูกระงับการลงทุนเป็นในกลุ่มที่ 1 และ 2 รวมเป็นเงิน 229 พันล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยโครงการปิโตรเคมีและท่อส่ง โครงการเหล็ก นิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม ท่าเทียบเรือ โรงไฟฟ้า โรงบำบัดกำจัดของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงไปข้างหน้าและข้างหลังสูงมาก เช่น การผลิตปูน เหล็ก และการก่อสร้าง

2. จะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับเศรษฐกิจไทย

o ช่องทางการส่งผ่านผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นสามารถจำแนกได้ 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านอุปสงค์ ผ่านการลงทุน การบริโภค และการส่งออกในอนาคต 2) ด้านอุปทาน ผ่านการผลิตภาคอุตสาหกรรม และบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น การคมนาคมขนส่ง ก่อสร้าง ไฟฟ้าแก๊ส ประปา และค้าส่งค้าปลีก 3) ด้านการจ้างงาน 4) การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล 5) ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคผู้บริโภค 6) ผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ในโครงการที่ถูกระงับ และ 7) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จ.ระยอง และภาคตะวันออก

2.1 ผลกระทบด้านอุปสงค์ (Demand side)

o การลงทุนภาคเอกชนมีสัดส่วนร้อยละ 16.7 ของ GDP โดยแบ่งเป็นการลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรร้อยละ 13.1 ของ GDP และการลงทุนด้านการ ก่อสร้างร้อยละ 3.6 ของ GDP

o แต่หากพิจารณาการลงทุนในบริเวณมาบตาพุดที่ถูกชะลอมีเม็ดเงินประมาณ 229,637 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของ GDP ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบ ต่อทั้งการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง

o หากปัญหายืดเยื้อจะเกิดค่าเสียโอกาสด้านการส่งออกสินค้าบางรายการ ได้แก่ ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลาสติกเหล็ก เป็นต้น ซึ่งกินสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าส่งออกรวม อีกทั้ง การสร้างท่าเทียบเรือที่ล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าในอนาคต

2.2 ผลกระทบด้านอุปทาน (Supply side)

o ผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนการสั่งชะลอการลงทุนจะกระทบต่อวงกว้างต่อ GDP ด้าน Supply side ที่สำคัญ คือ ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40.2 ของ GDP

  • ในภาคอุตสาหกรรมนั้น พบว่า มี 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ปิโตรเลียมและการกลั่น ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ พลาสติกและยาง เหล็กพื้นฐาน และเหล็กประดิษฐ์ ซึ่งทั้ง 5 อุตสาหกรรมมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 16.6 ของภาคอุตสาหกรรม
  • และมี 2 อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลทางอ้อม ได้แก่ การผลิตปูนซีเมนต์ (อุตสาหกรรมต้นน้ำ) และการผลิตยานยนต์ (อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง) มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 18.4 ของภาคอุตสาหกรรม

o นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อภาคบริการที่เกี่ยวข้องอีก 4 สาขา ได้แก่ การคมนาคมขนส่งร้อยละ 9.9 ของ GDP ไฟฟ้าแก๊สประปาร้อยละ 3.4 ของ GDP การก่อสร้างร้อยละ 2.2 ของ GDP และการค้าส่งค้าปลีกร้อยละ 13.7 ของ GDP

2.3 ผลกระทบต่อการจ้างงาน

o เมื่อโครงการลงทุนถูกระงับ แรงงานจะถูกเลิกจ้างเกือบทั้งหมด ซึ่งหลายฝ่ายในพื้นที่ จ.ระยอง คาดการณ์ว่าจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างทันที 80,000 — 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ จ.ระยอง และจังหวัดใกล้เคียง

o ผลกระทบรอบที่ 2 ที่ตามมา คือ การบริโภคภาคเอกชนจะชะลอลงหรือขยายตัวได้ไม่เต็มที่

2.4 การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล

o เป็นที่ทราบกันดีว่า จ.ระยอง เป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่สุดของประเทศ และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลโดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จดทะเบียนในพื้นที่ หรือแม้จะจดทะเบียนในกรุงเทพก็ย่อมได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย

o นอกจากนี้ยังมีผลต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อาจจะลดลงตามการบริโภคและการจ้างงานที่ลดลง

2.5 ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคผู้บริโภค

o เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้เห็นแล้วในการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา (จัดทำโดยมหาวิมยาลัยหอการค้าไทย) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเป็นเดือนแรก หลังจากที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นมาหลายเดือน โดยหนึ่งในเหตุผลที่ผู้บริโภคระบุ คือ การระงับการลงทุนที่มาบตาพุด

o แม้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ(จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย) ยังไม่สะท้อนปัญหาดังกล่าวเพราะได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นในระยะข้างหน้าลดลง และอาจกระทบความเชื่อมั่นของต่างชาติบ้าง

2.6 ผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ในโครงการที่ถูกระงับ

o เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อสถาบันการเงินที่สนับสนุนเงินทุน สถาบันการเงินที่สนับสนุนเงินทุนอาจได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตของสินเชื่อ รายได้ และคุณภาพสินเชื่อ ขณะที่สถาบันการเงินแห่งอื่นๆ จะได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากการสั่งระงับโครงการจะมีผลกระทบต่อการจ้างงาน ผู้รับเหมาก่อสร้าง ลูกค้าทั่วไป และอาจต่อเนื่องไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงินของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี สศค. ประเมินว่า การที่สถาบันการเงินไทยในภาพรวมยังมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับสูงมากถึงร้อยละ 16.5 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากล (BIS) ที่กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 8.5 จึงคาดว่า สถาบันการเงินไทยยังสามารถรองรับความเสี่ยงจากผลกระทบในกรณีนี้ได้

2.7 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ จ.ระยอง และภาคตะวันออก

o เมื่อดูจากโครงสร้างเศรษฐกิจ จ.ระยอง จะพบว่า เสาหลักเศรษฐกิจ คือ 1) ภาคอุตสาหกรรม และ 2) เหมืองแร่และย่อยหิน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 78.3 ของ GPP

o นอกจากนี้ GPP per Capita ในปี 2551 ของ จ.ระยองอยู่ที่ 1,137,470 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ สะท้อนกำลังซื้อในจังหวัดที่สูงมาก

o ดังนั้น ภาคการผลิตและภาคการใช้จ่ายใน จ.ระยองย่อมได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์ดังกล่าว

o และเมื่อดูโครงสร้างเศรษฐกิจ จ.ระยอง โดยเปรียบเทียบกับภาคตะวันออกและทั้งประเทศจะพบว่า 1) ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนกว่า1 ใน 3 ของ GRP ภาคอุตสาหกรรมของตะวันออก และสูงถึงร้อยละ 8.0 ของ GDPภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ 2) เหมืองแร่และย่อยหิน ซึ่งมีสัดส่วน 97.1 ของ GRP ภาคเหมืองแร่และย่อยหินของตะวันออก และมากกว่าครึ่งของ GDP ภาคเหมืองแร่และย่อยหินทั้งประเทศ และ 3) ไฟฟ้าแก๊สประปา(รวมการขุดเจาะน้ำมัน+แก๊สในทะเล) ซึ่งมีสัดส่วนเกือบครึ่งของ GRP ภาคไฟฟ้าแก๊สประปาของตะวันออก และร้อยละ 12.3 ของ GDP ภาคไฟฟ้าแก๊สประปาทั้งประเทศ

o ดังนั้น หาก จ.ระยอง ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ย่อมส่งผลต่อภาคตะวันออกและประเทศอย่างแน่นอนย่อมได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์ดังกล่าว

การประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2553

o ในกรณีไม่ได้รับผลกระทบนั้น คาดว่า เม็ดเงินลงทุนที่ถูกระงับจะสามารถทยอยลงทุนได้ภายในปี 2553 ประมาณร้อยละ 50 และปี 2554 อีกประมาณร้อยละ 50 ของวงเงินที่ถูกระงับการลงทุน (2.3 แสนล้านบาท)

o ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถแยกได้เป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่กระทบเล็กน้อย คือ แทนที่จะลงทุนในปี 2553 ได้ร้อยละ 50 ของวงเงินที่เหลือ กลับลงทุนได้เพียงร้อยละ 33 ของวงเงินที่เหลือเท่านั้น และกรณีกระทบรุนแรง คือไม่มีเม็ดเงินลงทุนเลยในปี 2553

o โดยสมมติเพิ่มเติมว่า 1) มีการลงทุนจริงเกิดขึ้นแล้วร้อยละ 20 ของวงเงินลงทุนของโครงการ 229 พันล้านบาทหรือเป็นเงิน 45.8 พันล้านบาท และ 2) โครงการตามปกติจะใช้เวลาลงทุนก่อสร้างประมาณ 2 ปี

o จากผลการประเมินพบว่า เหตุการณ์มาบตาพุดจะกระทบต่อ GDP ร้อยละ -0.2 ถึง -0.5 จากกรณีปกติ

  • กรณีปานกลาง GDP จะลดลงร้อยละ -0.1783 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลเพิ่มจำนวน +0.6488 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการจ้างงานทางตรงทางอ้อมลดลงจำนวน -66,000 คน จากกรณีไม่ได้รับผลกระทบ
  • กรณีรุนแรง GDP จะลดลงร้อยละ -0.5228 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลเพิ่มจำนวน +1.9372 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการจ้างงานทางตรงทางอ้อมลดลงจำนวน -193,000 คน จากกรณีไม่ได้รับผลกระทบ
  • อนึ่ง ในความเป็นจริง การชะลอการลงทุน จะทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุนชะลอตามไปด้วย แต่เนื่องจากไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ Import Content ผลที่มีต่อดุลบัญชีเดินสะพัดจึงอาจคาดเคลื่อนได้

o อย่างไรก็ตาม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ประเทศไทยจะหันมาจริงจังกับเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน เพื่อก้าวเข้าสู่ Green Economy และ Green Society อย่างแท้จริง

3. ทางออกของปัญหาการระงับการลงทุนที่บริเวณมาบตาพุด

3.1 ทางออกในระยะสั้น

  • โครงการที่ศาลปกครองเห็นว่าไม่มีผลกระทบ สามารถเร่งดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการลงทุนได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะโครงการที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม
  • โครงการที่ถูกระงับ 65 โครงการ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 คือ เดินหน้าจัดทำ EIA และการศึกษาของผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) รวมถึงรับฟังความเห็นของประชาชนและองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อให้โครงการเหล่านี้สามารถเดินต่อไปได้
  • ทั้งนี้ ทางออกในระยะสั้นที่ควรเร่งดำเนินการคือ ให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เร่งดำเนินการสร้างความชัดเจนให้โครงการที่ถูกระงับสามารถดำเนินการตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 โดยเร่งทำการศึกษาของผลกระทบด้าน EIA และ HIA รวมถึงรับฟังความเห็นของประชาชนและองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อให้โครงการเหล่านี้มีความชัดเจนและสามารถขออนุมัติศาลปกครองเป็นรายๆ ไป เพื่อให้การลงทุนสามารถเดินหน้าต่อไปได้

3.2 ทางออกในระยะกลาง - ระยะยาว

  • การกระจายอุตสาหกรรมในเชิงเศรษฐกิจ คือ อาจจะเพิ่มสัดส่วนของการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น หรือกระจายไปยังอุตสาหกรรมเกษตร เป็นต้น
  • การกระจายในเชิงพื้นที่ คือ อาจจะต้องเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในการสนับสนุนให้ Southern Seaboard เป็นฐานการลงทุนและฐานการผลิตขนาดใหญ่แหล่งใหม่ในภาคใต้ เป็นต้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ