รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 มกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 5, 2010 11:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 ม.ค. 2553

Summary:

1. ธปท.ชี้เงินเฟ้อปี 2552 เป็นไปตามเป้าหมาย กนง. คาดว่าปี 2553 อยู่ในกรอบ 3-5%

2. กรุงเทพธุรกิจวิเคราะห์ คาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยแกร่งรับอาฟตา

3. แนวโน้มปี 2553 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะเป็นอย่างไร

Highlight:
1. ธปท. ชี้เงินเฟ้อปี 52 เป็นไปตามเป้าหมาย กนง. และคาดว่าปี 53 อยู่ในกรอบ 3 - 5%
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 52 อยู่ในเป้าหมายที่ กนง. กำหนด และการเร่งตัวของเงินเฟ้อในปัจจุบันยังไม่สร้างแรงกดดันมากนัก โดยแนวโน้มปี 53 ธปท.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 3-5 ต่อปี ทั้งนี้ แรงกดดันการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อรอบต่อไปจะมีมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกซึ่งจะต้องดูการบริโภคและการใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นด้วยรวมถึงราคาน้ำมัน ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกฟื้นความต้องการน้ำมันก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ธปท. ตั้งสมมติราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2553 ที่ระดับ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 52 ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากจากปี 2551 ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพ 5 มตรการ 6 เดือน ที่ช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชน ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค.52 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จากการที่ฐานการคำนวณในปีก่อนลดลงมากตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบ สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปี 53 สศค. คาดว่า เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย จะอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
2. กรุงเทพธุรกิจวิเคราะห์ คาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยแกร่งรับอาฟตา
  • หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน เนื่องจากไทยเป็นตลาดและฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนจากการนำเข้าชิ้นส่วนที่ไม่สามารถผลิตในประเทศได้ ในขณะที่นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเห็นพ้องว่า การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าอาเซียนน้อย แต่จะได้รับประโยชน์จากจากการนำเข้าชิ้นส่วนที่ไม่สามารถผลิตในประเทศได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์สูงถึง 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจะได้รับผลประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าอาเซียนโดยตรง เนื่องจากไทยนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากอาเซียนในระดับสูง โดยนำเข้าจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียเป็นมูลค่า 192.5 191.8 และ 72.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 52 อีกทั้งเป็นโอกาสอันดีในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกของไทยที่จะพึ่งพาเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ายานยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าคงทน มีความอ่อนไหวต่อรายได้สูง โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 52 ไทยมีการส่งออกยานยนต์ไปยอาเซียนสูงถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการฟื้นตัวช้าของตลาด G3 (สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) ทั้งนี้ การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน และอาเซียน-จีน รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อการส่งออกไทยปี 53 ซึ่ง สศค. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 15.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 14.5 — 16.5 ต่อปี)
3. แนวโน้มปี 2553 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเผย สถานการณ์การท่องเที่ยวไตรมาสสุดท้ายของปี 52 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 15-20 ซึ่งเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หากเป็นเช่นนี้ในปี 53 นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวไทยไม่น้อยกว่า 14.5 ล้านคน ซึ่งจะเท่ากับปี 50 และ 51 อันจะทำให้ไทยมีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประมาณ 6 แสนล้านบาทจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศช่วง 11 เดือนแรกของปี 52 มีจำนวน 12.5 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -7.2 ต่อปี ทำให้ สศค. คาดว่าทั้งปี 52 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 13.9 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.6 ต่อปี ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งสิ้น 538 แสนล้านบาท คิดเป็นการหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ —10.8 ต่อปี สำหรับในปี 53 สศค. คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่า 14.5 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี เนื่องจากคาดว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ