รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 เมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 10:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 เม.ย. 2553

Summary:

1. นายกคาดหากชุมนุม 3 เดือน GDP ทรุดร้อยละ 0.5

2. ธปท.เรียกภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ข้อมูล เกรงเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหา

3. คาดอินเดียขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ

Highlight:
1. นายกคาดหากชุมนุม 3 เดือน GDP ทรุดร้อยละ 0.5
  • นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการหารือกับภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยให้ประเมินผลกระทบทุกด้านที่เกิดจากการชุมนุม พร้อมทั้งเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะในบริเวณแยกราชประสงค์ ส่วนผลกระทบจากการชุมนุมนั้น หากยืดเยื้อ 1 เดือน จะส่งผลให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ลดลงประมาณร้อยละ 0.2 แต่หากยืดเยื้อไปถึง 3 เดือน คาดว่าจะกระทบกับ GDP เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุปสงค์ในประเทศผ่านความเชื่อมั่นและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ในขณะที่ด้านอุปทานจะได้รับผลกระทบผ่านด้านการท่องเที่ยวและด้านค้าปลีก-ค้าส่งเป็นสำคัญ ซึ่งหากความไม่สงบทางการเมืองยังคงยืดเยื้อ จะส่งผลต่อภาคการผลิต บริการ และการจ้างงานในระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่า หากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองยังคงยืดเยื้อ ต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 4 จะทำให้การบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ -2.5 ต่อปีและจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ -1.8 ต่อปี (จากกรณีฐานที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี ในปี 2553)
2. ธปท.เรียกภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ข้อมูล เกรงเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหา
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เรียกผู้ประกอบการภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้าไปหารือถึงสถานการณ์และสภาวะธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งภาคเอกชนดังกล่าวระบุว่า ยังไม่มีแนวโน้มการเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ แม้ว่าในปี 2552 จำนวนที่อยู่อาศัยจะมีการขยายตัวสูงรวมถึงสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดี แต่ไม่ได้มาจากความต้องการที่แท้จริงของตลาดเพิ่มขึ้น และตลาดอสังหาฯ ยังคงทรงตัวมาหลายปีแล้ว โดยมีจำนวนอสังหาฯที่ก่อสร้างเสร็จในปี 2552 อยู่ที่ 9.9 หมื่นยูนิต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของจำนวน และสินเชื่อของภาคอสังหาฯ ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ รวมถึงการลงทุนด้านอสังหาฯ เริ่มขยับตัวเพิ่มขึ้นตามมาตรการปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของภาครัฐ ทั้งนี้ ภาคอสังหาฯที่ดีขึ้นสอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ณ เดือน ก.พ. 53 ที่พบว่า การลงทุนในภาคการก่อสร้างมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนได้จากยอดขายปูนขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 7.1 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 15.8 ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในหมวดวัสดุก่อสร้างและหมวดเหล็กที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 และ 60.2 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลรวมขยายตัวร้อยละ 26.1 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองในปัจจุบันยังคงกระทบกับความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนเป็นอย่างมาก
3. คาดอินเดียขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ
  • นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่า ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 20 เม.ย. นี้ ธนาคารกลางอินเดียอาจมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีกร้อยละ 0.25 รวมทั้งอาจออกมาตรการควบคุมสภาพคล่อง โดยให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการสำรองเงินสด เพื่อควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี มาตรการนี้อาจยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของอินเดียซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยล 9.9 ต่อปี จะสูงขึ้นใกล้ร้อยละ 11 ภายในเดือนมิ.ย.นี้ อนึ่ง มีการประเมินกันว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของอินเดีย ซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาอาหารจะยิ่งรุนแรงขึ้น หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้อุปสงค์ต่อยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว จากความวิตกดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางอินเดียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนขึ้นร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 5.0 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 51
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์เงินเฟ้อในอินเดียมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี53 อัตราเงินเฟ้ออินเดียอยู่ที่ร้อยละ 9.2 ต่อปี สูงขึ้นมากจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี โดยมีแรงส่งมาจากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยด้านอุปสงค์ได้รับแรงหนุนมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ประชาชนสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ดีขึ้น ทำให้ราคาสินค้าในประเทศสูงขึ้น อีกทั้งยังมีสภาพคล่องล้นระบบ ในขณะเดียวกัน อินเดียต้องนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและน้ำตาล และสินค้าเชื้อเพลิง ซึ่งราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น จากปัญหาภัยแล้งในประเทศเกษตรหลักๆ ทำให้ได้ผลผลิตไม่ตรงตามเป้า อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ยังคงผันผวน ทั้งนี้ หากธนาคารกลางอินเดียไม่สามารถใช้มาตรการทางการเงินควบคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ การเติบโตทางเศรษฐกิจอินเดียที่แท้จริง อาจจะน้อยกว่าที่สศค.ตั้งสมมติฐานไว้ ณ เดือนมี.ค. 53 ที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี ได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ