รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 — 23 กรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 28, 2010 11:05 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราการว่างงานเดือนพ.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวม
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 53 มีจำนวน4,144.26 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.6 ของ GDP
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน มิ.ย. 53 ดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 137.4 พันล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มิ.ย.53 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนมิ.ย. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ 26.6 ต่อปี
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. 53 อยู่ที่ระดับ 103.3
  • มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน มิ.ย. 53 ขยายตัวสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ร้อยละ 46.3 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ในขณะที่มูลค่านำ เข้าสินค้ารวมในเดือน มิ.ย. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 37.9 ต่อปี
Indicators next week
   Indicators                      Forecast            Previous
June: MPI (%yoy)                     15.0                15.9
  • เนื่องจากฐานการคำนวณที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับมีการสะสมสต็อกที่ค่อนข้างสูงไปแล้วจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าการผลิตสินค้าสำคัญของไทย เช่น ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการส่งออกที่มีการขยายตัวสูงมากเป็นประวัติการณ์
June: Cement sales (%yoy)             5.0                19.4
  • เนื่องจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
      Iron sales (%yoy)               2.0                -2.4
  • เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของการลงทุนภายในประเทศเริ่มชัดเจนมากขึ้น
Economic Indicators: This Week

การจ้างงานเดือน พ.ค. 53 อยู่ที่ 37.03 ล้านคน ลดลง 4.8 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -1.3 ต่อปีเป็นผลมาจากการจ้างงานภาคการเกษตรที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยในเดือนพ.ค. 53 มีจำนวนแรงงานภาคการเกษตรอยู่ที่จำนวน 12.2 ล้านคนหรือลดลง 1.5 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์นับจากที่ทางสำนักงานสถิติฯได้สำรวจมา อันเป็นผลจากปัญหาภัยแล้ง ขณะที่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า การจ้างงานรวมลดลงจากเดือนก่อน 3 แสนคน หรือหดตัวร้อยละ -0.8 ต่อเดือน สำหรับอัตราการว่างงานเดือนพ.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ1.2 โดยคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานจำนวนทั้งสิ้น 5.9 แสนคน โดยการว่างงานเพิ่มขึ้นในสาขาการผลิต อันเนื่องมาจากมีการหยุดการผลิตในช่วงที่มีความไม่สงบทางการเมืองจนต้องประกาศเคอร์ฟิว

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 53 มีจำ นวนทั้งสิ้น 4,144.26 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.59 ของ GDP ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นสุทธิจากเดือนก่อนหน้า 35.28 พันล้านบาท ที่สำคัญเกิดจาก (1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง เพิ่มขึ้นสุทธิ 32.72 พันล้านบาท ซึ่งรายการสำคัญมาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 37 พันล้านบาท และการเบิกเงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (ไทยเข้มแข็ง 2555) จำนวน 27 พันล้านบาท และ (2) หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งเพิ่มขึ้นสุทธิ 13.79 พันล้านบาท ซึ่งรายการหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ต่างประเทศ จากการที่เงินบาทอ่อนค่าลง โดยรวมแล้ว ภาวะหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนจากการมีหนี้สาธารณะต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ 8.94) และมีหนี้สาธารณะระยะยาวเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 94.86)

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน มิ.ย. 53 เบิกจ่ายได้จำนวน 135.5 พันล้านบาท คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.9 ต่อปี ผลจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำจำนวน 111.5 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 11.7 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -42.2 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือน มิ.ย. 53 ได้แก่ รายจ่ายของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 8.49 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำ นวน 3.8 พันล้านบาท และรายจ่ายกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 3.55 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 53 เบิกจ่ายได้จำนวน 1,339.0 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -5.3 ต่อปี โดยเป็นงบประมาณประจำปีงบประมาณ 53 คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณที่ร้อยละ 71.0 ของกรอบวงเงินงบประมาณ (1.70 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ คาดว่าผลการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 53 จะเป็นไปตามเป้าหมายอย่างน้อยที่ร้อยละ 94.0 ของกรอบวงเงินงบประมาณ นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ณ วันที่ 9 ก.ค. 53 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 186.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 53.3 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน มิ.ย. 53 ดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 137.4 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินจำนวน 17.4 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ของรัฐบาลเกินดุลจำนวน 154.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 53 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน -100.7 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -62.7 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด (ก่อนกู้) จำนวน -163.4 พันล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 53 มีจำนวนสูงถึง 360.0 พันล้านบาท ซึ่งการขาดดุลดังกล่าวต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสูงกว่าเป้าหมาย

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มิ.ย.53 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.2 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากราคายางพาราที่ขยายตัวในระดับสูง จูงใจให้เกษตรกรทำ การกรีดยางมาขึ้น ส่วนผลผลิตมันสำปะหลัง ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดและศัตรูพืชบรรเทาลง ในขณะที่ราคาผลผลิตขยายตัวในอัตราเร่งจูงใจเกษตรกรทำการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน มิ.ย. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ 26.6 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 21.4 ต่อปี จากการขยายตัวของราคาผลผลิตสำคัญโดยเฉพาะ ยางพารา และมันสำปะหลัง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคายางพารา ตามความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจีน ส่วนราคาข้าวยังทรงตัวจากเดือนก่อน ในขณะที่ราคาสินค้าหมวดปศุสัตว์ เช่น สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ขยายตัวในเกณฑ์ดี ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. 53 อยู่ที่ระดับ103.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 94.7 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีในด้านยอดคำ สั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยมีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ทางการเมืองได้คลี่คลายลง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน ณ เดือน มิ.ย. 53 อยู่ที่ 105.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพ.ค. 53 ที่อยู่ในระดับ 105.0 เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่ายอดคำสั่งซื้อยอดขายปริมาณการผลิตและผลประกอบการจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน มิ.ย. 53 ขยายตัวสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ร้อยละ 46.3 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ด้วยมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 18,038.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 42.1 ต่อปีและหากหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวเร่งขึ้นหลังจากนักลงทุนคลายความกังวลจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป โดยในมิติสินค้าการส่ง ออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวดีที่ร้อยละ 36.8 และ 51.0 ต่อปี ตามลำดับ และหากพิจารณามิติคู่ค้าแล้ว การส่งออกไปยังตลาด G3 มีการขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่การส่งออกไปยังจีนขยายตัวชะลอลงมาก ในขณะที่มูลค่านำเข้าสินค้ารวมในเดือน มิ.ย. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7ที่ร้อยละ 37.9 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 46.0 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า(ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกสินค้าที่สูงกว่ามูลค่านำเข้าทำให้ดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 53 เกินดุลที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย.53 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 15.0 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนพ.ค. 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 15.9 ต่อปี เนื่องจากฐานการคำนวณที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเดียวกันปีก่อนประกอบกับมีการสะสมสต็อกที่ค่อนข้างสูงไปแล้วจากเดือนก่อนหน้าอย่างไรก็ตาม คาดว่าการผลิตสินค้าสำคัญของไทย เช่น ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการส่งออกที่มีการขยายตัวสูงมากเป็นประวัติการณ์

ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนมิ.ย. 53 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี เนื่องจากจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ตามแนวโน้มของการฟื้นตัวของการลงทุนภายในประเทศที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ