ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2546 และแนวโน้มปี 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 12, 2004 14:32 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2546 และแนวโน้มปี 2547 
ในไตรมาสสุดท้ายเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 7.8 จากไตร ปี 2545 และขยายตัวร้อยละ 11.0 ต่อปี สูงกว่าร้อยละ 9.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวที่แข็งแกร่งมากขึ้นและแสดงว่าเศรษฐกิจยังมีแรงส่งสำหรับการขยายตัวต่อเนื่องในปี 2547 ตามแรง สนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่เร่งตัวเร็วขึ้น โดยที่การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคกลับมาขยายตัวได้สูงในไตรมาสสุดท้ายภายหลังจากที่ชะลอตัวในไตรมาสที่สาม อย่างไรก็ตามยอดการจำหน่ายขั้นสุดท้าย ซึ่งเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลบด้วยการสะสมสินค้าคงคลังนั้นขยายตัวร้อยละ 7.2 ในไตรมาสสุดท้ายและร้อยละ 6.6 ตลอดปี 2546
การระบาดของโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2547 จะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจในครึ่งแรก แต่เนื่องจากผลกระทบจะจำกัดในเฉพาะบางสาขาดังนั้นโดยภาพรวมเศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี โดยที่ผลกระทบจะเริ่มบรรเทาลงตั้งแต่ปลายไตรมาสที่สองเมื่อพ้นช่วงเฝ้าระวัง และเริ่มมีการส่งออกไก่ต้มสุกได้มากขึ้น รวมทั้งเริ่มการเลี้ยงไก่รุ่นต่อไปได้
แม้ว่าการระบาดของไข้หวัดนก ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และการไต่สวนการทุ่มตลาดของการส่งออกกุ้งไทยไปสหรัฐฯ รวมทั้งความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความรุนแรงมากขึ้น จะเป็นความเสี่ยงใหม่ที่เพิ่มขึ้นในปี 2547 ภายหลังจากการประเมินสถานการณ์ในเดือนธันวาคม 2546 แต่มีปัจจัยบวกหลายประการที่แสดงว่าบรรยากาศทางเศรษฐกิจยังเอื้อต่อการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศได้มากกว่าที่คาดไว้เดิม โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจในปี 2546 ที่แข็งแกร่งจะมีแรงส่งต่อเศรษฐกิจในปี 2547 ได้มากกว่าที่คาด ทั้งผลของอัตราดอกเบี้ยต่อการใช้จ่าย ความคืบหน้าของโครงการภาครัฐและการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่มากกว่าแนวโน้มที่ประเมินไว้เดิม ราคาสินค้าเกษตรและรายได้จากการเกษตรที่ไม่มีสัญญาณการชะลอตัวในระดับที่คาดไว้เดิม การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งทั้งการเมืองในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ประกอบกับข้อมูลทางเศรษฐกิจล่าสุดที่แสดงว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะของการใช้จ่ายและลงทุนภาคเอกชนจะยังแข็งแกร่ง
สศช. จึงคาดว่าตลอดปี 2547 เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 7.0-8.0 เท่ากับการประมาณการเดิมที่ประกาศในเดือนธันวาคม สูงกว่าร้อยละ 6.7 ในปี 2546 อุปสงค์ภายในประเทศจะยังเป็นแรงผลักของเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวได้เร็วขึ้น อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 2.2 อัตราการว่างงานเฉลี่ยทั้งปีประมาณร้อยละ 2.0 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 6.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณ 267.3 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 4.1 ของ GDP รวมทั้งทุนสำรองเงินตราต่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงประมาณ 40 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งสะท้อนถึงความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
1.1 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สี่ ปี 2546 และตลอดปี 2546
เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชียที่รวมญี่ปุ่นและจีนซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.6 และ 9.9 ตามลำดับ ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2545 เป็นต้นมา เป็นแรงส่งต่อเนื่องที่สำคัญที่ทำให้การส่งออกของประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ภายใต้เงื่อนไขภายในประเทศที่ดำเนินมาตรการด้านการเงินและการคลังเพื่อรักษาความต่อเนื่องของการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศสห-ภาพยุโรป ซึ่งค่อนข้างซบเซาในช่วงต้นปีก็ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวในไตรมาสสุดท้าย ตามการปรับตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน แต่รวมทั้งปีเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.1 สูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 2.7 ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเล็กน้อย เศรษฐกิจสหภาพยุโรปขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่ำลงกว่าการขยายตัวในปี 2545 เล็กน้อย สำหรับเศรษฐกิจจีนนั้นตลอดปี 2546 ขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 9.1 สัญญาณการฟื้นตัวที่ดีในกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องในปี 2547 คือ องค์ประกอบของการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีความทั่วถึงมากขึ้น และอัตราการว่างงานลดลง โดยเฉพาะบทบาทของการลงทุนภาค เอกชนที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในกรณีของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ นั้น การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้เร็วขึ้น อัตราการว่างงานที่ลดลงและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นมีความต่อเนื่องมากขึ้น แรงกดดันต่อภาวะเงินฝืดเริ่มลดลงตามความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักธุรกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี
1.2 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ และตลอดปี 2546: ขยายตัวในอัตราที่สูงจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นมากและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี
เศรษฐกิจไตรมาสที่สี่: แรงกระตุ้นจากอุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นมาก ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2546 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ร้อยละ 7.8 จากไตรมาสเดียวกันปี 2545 และขยายตัวร้อยละ 11.1 ต่อปี จากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นชัดเจนซึ่งชี้ถึงแรงส่งทางเศรษฐกิจสำหรับการขยายตัวในปี 2547 ในไตรมาสสุดท้ายปี 2546 ได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่มีการเบิกจ่ายได้มากขึ้น ในขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องทั้งในด้าน ราคาและป ริม ณ ใน ทุ กกลุ่ม สิน ค้า โดยเฉพ สิน ค้าอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรและเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องจักรและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ แต่การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งมากกว่า ทำให้ดุลการค้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาก
แม้ว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจะทำให้แรงกดดันด้านราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาพืชผลและอาหารที่เพิ่มขึ้น แต่ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นและค่าเช่าบ้านที่ลดลง รวมทั้งฐานราคาสินค้าที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2545 ทำให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสสุดท้ายเท่ากับร้อยละ 1.6 ลดลงจากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสที่สาม และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 0.1
เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาสสุดท้ายปี 2546 มีผู้ว่างงานจำนวน 0.54 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวม มีการบรรจุงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 จากระยะเดียวกันของปี 2545 และมีผู้สมัครงานใหม่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.8 ในขณะที่ตำแหน่งงานว่างลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่สาม สำหรับผู้ประกันตน ณ สิ้นเดือนธันวาคมมีจำนวนทั้งสิ้น 7,434,237 คน เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนธันวาคม 2545 ร้อยละ 7.5 เพิ่มขึ้นมากในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมยานยนต์ การค้า การคมนาคมขนส่ง และการก่อสร้าง เนื่องจากสาขาเศรษฐกิจดังกล่าวขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
เศรษฐกิจตลอดปี 2546: ในปี 2546 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 6.7 สูงกว่าร้อยละ 5.4 ในปี 2545 อย่างชัดเจน ปัจจัยสนับสนุนประกอบด้วย การฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจโลกที่สนับสนุนการส่งออก อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศต่ำช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้น ผลประกอบการภาคเอกชนที่สูงขึ้นและมีการจ่ายเงินปันผลมากขึ้น รวมทั้งการดำเนินมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและเพื่อส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนดำเนินอย่างต่อเนื่อง ในภาวะที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
ด้านอุปสงค์:
แรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่เร่งตัวเร็วขึ้น ในไตรมาสที่สี่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 17.9 ซึ่งการลงทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 และการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคที่ชะลอตัวในไตรมาสที่สาม กลับมาขยายตัวได้เร็วขึ้นในไตรมาสสุดท้าย และตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ซึ่งทำให้โดยภาพรวมลักษณะของการขยายตัวในปี 2546 ยังเป็นการขยายตัวที่นำโดยแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศมากกว่าในปี 2545
ภาคการค้าต่างประเทศ:
ปริมาณการส่งออกขยายตัวได้ดีแต่การนำเข้าเร่งตัวมากขึ้น ทำให้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาคการค้าต่างประเทศโดยสุทธิเริ่มเป็นลบในไตรมาสสุดท้าย อย่างไรก็ตามปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ขยายตัวเร็วขึ้นมากสอดคล้องกับเครื่องชี้ที่แสดงว่ากิจกรรมการผลิตทั้งเพื่อการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออกกำลังขยายตัวได้ดีซึ่งได้ส่งผลต่อเนื่องให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก
ตลอดปี 2546 การส่งออกมีมูลค่า 78.42 พันล้านดอลลาร์ สรอ.เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 จากปี 2545 ทั้งปริมาณและราคาสินค้าออกที่เพิ่มขึ้น มูลค่าการส่งออกคิดเป็นเงินบาทเท่ากับ 3,246,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ช้ากว่ามูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งขึ้นการนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 74.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.1 โดยที่ปริมาณเพิ่มขึ้นเร็วกว่าราคา การนำเข้าคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่าเท่ากับ 3,071,925 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 จากปี 2545
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ:
เศรษฐกิจมีเสถียรภาพตลอดช่วงปี 2546 เมื่อประเมินจาก
* อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 1.8 แม้ว่าราคาหมวดอาหารเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.6 แต่ราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มขึ้นพียงร้อยละ 0.7 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 0.2
* อัตราการว่างงานเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 2.0 ต่ำกว่าร้อยละ 2.2 ในปี 2545 เล็กน้อย การบรรจุงานใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.3 ตำแหน่งงานว่างสะสมลดลงร้อยละ 2.2 และการเลิกจ้างงานลดลงร้อยละ 2.6
* หนี้สาธารณะต่อ GDP เท่ากับร้อยละ 48.9 ณ เดือนพฤศจิกายน 2546
* ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล 7,975 ล้านดอลลาร์ สรอ.คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.6 ของ GDP
* ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2546 เท่ากับ 42.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นประมาณ 3.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
* อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวในช่วงแคบ ๆ โดยไม่มีความผันผวน แม้ว่าใน nominal term อัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยจะแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.4 จากค่าเฉลี่ยในปี 2545 แต่เมื่อถ่วงน้ำหนักด้วยค่าการค้าและราคาสัมพัทธ์ ค่าเงินบาทที่แท้จริงแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 1.4
(ยังมีต่อ.../ด้านการผลิต..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ