ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม ปี 2559 และแนวโน้มปี 2559 - 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 21, 2016 11:17 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค          แถลงข่าว วันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 เวลา 09.30 น.

ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2559 - 2560

                                    2558         2559           ประมาณการ
(%YoY)                               ทั้งปี      Q2      Q3     2559        2560
GDP (CVM)                            2.8     3.5     3.2      3.2     3.0-4.0
การลงทุนรวม                           4.7     3.2     1.4      3.0         5.0
ภาคเอกชน                            -2.0     0.2    -0.5      1.2         2.8
ภาครัฐ                               29.8    11.9     6.3     10.0        11.2
การบริโภคภาคเอกชน                     2.1     3.8     3.5      3.0         2.7
การบริโภคภาครัฐบาล                     2.2     1.5    -5.8      0.6         2.1
มูลค่าการส่งออกสินค้า 1                  -5.6    -2.5     0.4      0.0         2.4
ปริมาณ 1                             -3.4    -1.6    -0.3      0.2         1.2
มูลค่าการนำเข้าสินค้า 1                 -10.6    -7.8    -2.4     -5.2         4.5
ปริมาณ 1                              0.3    -3.0    -1.4     -2.5         1.5
ดุลบัญชีเดินสะพัด                         8.2     8.1    10.2     11.3        10.2
ต่อ GDP (%)
เงินเฟ้อ                              -0.9     0.3     0.3      0.2     1.0-2.0
หมายเหตุ:  1 ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย
          - เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สาม ขยายตัวจากไตรมาสที่สองของปี 2559 ร้อยละ 0.6 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 2559 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.3
          - ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวดีต่อเนื่อง การส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น และการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว แต่การใช้จ่ายภาครัฐปรับตัวลดลง ในด้านการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวเร่งขึ้น สาขาคมนาคมขนส่ง สาขาก่อสร้าง สาขาการค้าส่งค้าปลีกและสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง และสาขาเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบแปดไตรมาส
          - เศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยการบริโภคของครัวเรือนและ การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.0 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้า ทรงตัว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 0.2 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 11.3 ของ GDP
          - แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออกซึ่งจะช่วยให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวได้ดีขึ้น (2) การฟื้นตัวและขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิต ภาคการเกษตร และ (3) การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.7 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 - 2.0 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 10.2 ของ GDP
          - ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2559 และปี 2560 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 และการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (2) การรักษาการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการดำเนินการตามยุทธศาสตร์แผนการตลาดท่องเที่ยวปี 2560 การชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการทัวร์ศูนย์เหรียญและกิจกรรมการท่องเที่ยว (3) การเร่งรัดการขยายตัวของการส่งออก โดยการขยายตลาดส่งออกเชิงรุก การตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มตลาดเป้าหมาย การส่งเสริมการค้าชายแดนเชื่อมโยงกับ CLMV การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าด้วยนวัตกรรม และการเฝ้าระวังมาตรการกีดกันทางการค้า (4) การฟื้นฟูเกษตรกรและการเตรียมมาตรการรองรับการขยายตัวของผลผลิตภาคเกษตร โดยการลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ การเพาะปลูกพืชและใช้วิธีการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่ และการลดขั้นตอนทางการตลาดเพื่อให้รายได้จากการจำหน่ายผลิตผลเป็นของเกษตรกรมากขึ้น และ  (5) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดการส่งออกเพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกิน การชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการสำหรับอนาคต การประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งรวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย และการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับ Roadmap ทางการเมือง รวมทั้งเจตนารมณ์และสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและการปฏิรูปประเทศภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2559 และแนวโน้มปี 2559 - 2560
          เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า  ในด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวดีต่อเนื่อง การส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น และการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบสิบสี่ไตรมาส แต่การใช้จ่ายภาครัฐลดลงหลังจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า ในด้านการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวเร่งขึ้น สาขาคมนาคมขนส่ง สาขาก่อสร้าง สาขาการค้าส่งค้าปลีก และสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบแปดไตรมาส และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2559 ขยายตัวจากไตรมาสที่สอง ร้อยละ 0.6 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรก ของปี 2559 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.3 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2559
          1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคการเกษตรและรายได้เกษตรกร มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และวันหยุดยาวในช่วงวันที่ 16 - 20 กรกฎาคม 2559 สอดคล้องกับการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ร้อยละ 13.1  การเพิ่มขึ้นของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ร้อยละ 11.0 และร้อยละ 17.8 ตามลำดับ และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 62.3 เทียบกับระดับ 61.1 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายภาครัฐ ลดลงร้อยละ 5.8 สอดคล้องกับการลดลงของการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำเนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้า
          รวม 9 เดือนแรกของปี 2559 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
          2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 1.4 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 6.3 เป็นผลจากการลงทุนภาครัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวสูงร้อยละ 10.5 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.5 เนื่องจากการลดลงของการลงทุนในหมวดยานพาหนะ โดยเฉพาะรถบรรทุกและรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ ในขณะที่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างของภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.2 สำหรับยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.2 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า  โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีการอนุมัติโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงจำนวนหลายโครงการ อาทิ โครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ มูลค่าประมาณ 96,500 ล้านบาท และโครงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี มูลค่าประมาณ 74,200 ล้านบาท ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 49.2 เทียบกับระดับ 50.0 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวม 9 เดือนแรกของปี 2559  การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูงร้อยละ 10.3 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.6
          3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 54,907 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 0.4  เป็นการเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบเจ็ดไตรมาส โดยราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 (เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบสิบสี่ไตรมาส) ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.3 ตามการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าประมงและสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น รถยนต์นั่ง เครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และกุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น และอาเซียน (5) ขยายตัว แต่การส่งออกไปตลาดจีน ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศ CLMV ลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,913 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวม 9 เดือนแรกของปี 2559 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 159,516 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.2 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.3 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.8 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 5,623 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3
          4) สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60  เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30   ขยายตัวร้อยละ 0.5 สอดคล้องกับการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกระหว่างร้อยละ 30 - 60 ลดลงร้อยละ 4.1 สอดคล้องกับการลดลงของการผลิตรถยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น เครื่องปรับอากาศ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ เครื่องแต่งกาย และยานยนต์ เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.01
          รวม 9 เดือนแรกของปี 2559  การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.79
          5) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวสูงและเร่งขึ้นร้อยละ 15.9 จากการขยายตัวร้อยละ 12.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.23 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาค  โดยนักท่องเที่ยวจากรัสเซียกลับมาขยายตัวเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกัน รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 441.71 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
          รวม 9 เดือนแรกของปี 2559 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 14.8 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 24.82 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1,323.57 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.9
          6) สาขาการก่อสร้าง ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 5.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการขยายตัวของก่อสร้างของภาครัฐร้อยละ 10.7 (โดยการก่อสร้างของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 5.0 และการก่อสร้างรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 25.3) ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.2
          รวม 9 เดือนแรกของปี 2559  การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.9 โดยการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 15.0 และร้อยละ 1.5 ตามลำดับ
          7) สาขาเกษตรกรรม ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบแปดไตรมาสร้อยละ 0.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.2 ในไตรมาส ก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่อนคลายลง โดยผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์ และประมง ในขณะที่ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ยางพารา และไม้ผล ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ตามการเพิ่มขึ้นของราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ราคาปาล์มน้ำมัน ราคาเนื้อสุกร ราคาไข่ไก่ และราคากุ้งขาวแวนนาไม ในขณะที่ราคามันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย ลดลง  การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองร้อยละ 12.5
          รวม 9 เดือนแรกของปี 2559 การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 0.7 โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง ร้อยละ 3.9 ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 0.8

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2559 -2560
          สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.2  ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2558 และอยู่ในช่วงประมาณการร้อยละ 3.0-3.5 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 โดยการส่งออกสินค้าและบริการ  การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนรวมมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.2 ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ  อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.2 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 11.3 ของ GDP
          แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0  ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออกซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น (2) การขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคการเกษตรซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และ (3) การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง และ (4) แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี  ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4  การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.7 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-2.0 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 10.2 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2559 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

          - ด้านการใช้จ่าย
          การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของรายจ่ายภาคบริการ และการขยายตัวต่อเนื่องของทั้งรายจ่ายบริโภคสินค้าไม่คงทนและสินค้าคงทน  ในไตรมาสที่สามของปี 2559 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ขยายตัวร้อยละ 13.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 11.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากวันหยุดยาวในช่วงวันที่  16 - 20 กรกฎาคม 2559 และมาตรการภาษีสนับสนุนการท่องเที่ยว (มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 และสิ้นสุดมาตรการในเดือนธันวาคม 2559) ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 11.0 และร้อยละ 17.8 ตามลำดับ และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง โดยปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล และปริมาณการจำหน่ายเบียร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 5.3 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 62.3 เทียบกับระดับ 61.1 ในไตรมาสก่อนหน้า
          การลงทุนภาคเอกชน: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้างในไตรมาสที่สามของปี 2559 การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 0.5 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ร้อยละ 3.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน (ณ ราคาคงที่) ลดลงร้อยละ 2.2 แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 3.4  ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ คอนกรีต และกระเบื้องในประเทศร้อยละ 2.5 ร้อยละ 5.7 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ ในขณะที่พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลกลับมาขยายตัวร้อยละ 5.1 หลังจากลดลงร้อยละ 22.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สำหรับยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 65.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 22.7 ส่วนยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 380 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.2 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีการอนุมัติโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงจำนวนหลายโครงการ อาทิ โครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ มูลค่าประมาณ 96,500 ล้านบาท และโครงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี มูลค่าประมาณ 74,200 ล้านบาท ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 49.2 เทียบกับระดับ 50.0 ในไตรมาสก่อนหน้า
          การส่งออก: การส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ.กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าส่งออกและการเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สามของปี 2559 มีมูลค่า 54,907 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.5 และร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่สอง ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ (1) การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าส่งออกที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ไตรมาส ร้อยละ 0.8 โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.7) ราคาข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.6) และราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.0)  และ (2) การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ปริมาณการส่งออกหดตัวช้าลงจากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสที่สอง เป็นการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสนี้ เมื่อหัก การส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,913 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 11.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 11.7 ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 12.4 โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกข้าว ยางพารา และน้ำตาล ในขณะที่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 (ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ไตรมาส) ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกข้าว และน้ำตาล เป็นสำคัญ แต่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง และยางพารา ยังปรับตัวลดลง การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าวมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 12.5 เนื่องจากปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 13.7 จากการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศจีน มาเลเซีย และแคเมอรูน ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4  มันสำปะหลัง  มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 11.3 เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 11.5 แต่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 มูลค่าการส่งออกยางพาราลดลงร้อยละ 27.3 จากปริมาณการส่งออกที่ลดลงร้อยละ 10.7 เนื่องจากสต็อกยางพาราของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าหลักของโลกยังอยู่ในระดับสูง จึงลดการนำเข้ายางพาราจากไทย และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 18.3 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงร้อยละ 33.4 เนื่องจากปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 44.9 ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ซึ่งทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 6.0) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 2.2) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 0.7) และเครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 12.6) ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงร้อยละ 1.0 ร้อยละ 5.8 และร้อยละ 28.5 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 และปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2
          ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอาเซียน (5) ขยายตัว แต่การส่งออกไปยังตลาดจีน ตะวันออกกลางลดลง การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.0 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น และออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 2.7 ร้อยละ 0.8 และร้อยละ 10.8 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดจีน และตะวันออกกลางลดลงร้อยละ 0.4 และร้อยละ 16.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการลดลงของการส่งออกรถกระบะไปยังตะวันออกกลาง การส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ลดลงร้อยละ 0.04 แต่การส่งออกไปยังอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเป็นสำคัญ
          การนำเข้า: มูลค่าการนำเข้าสินค้าลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของทั้งปริมาณและราคานำเข้า ในไตรมาสที่สามของปี 2559 การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 45,934 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 2.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคานำเข้าร้อยละ 1.0 โดยเฉพาะราคาสินค้าหมวดเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เป็นต้น และปริมาณการนำเข้าที่ลดลงร้อยละ 1.4 เนื่องจากการลดลงของการนำเข้าในหมวดสินค้าทุน เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.5 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,600 พันล้านบาท ลดลง ร้อยละ 3.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดอื่นๆ ขยายตัว โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลงร้อยละ 4.7 เนื่องจากราคานำเข้าลดลงร้อยละ 5.2 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และวัสดุที่ทำด้วยโลหะ เป็นต้น
          มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 2.2 เป็นผลจากราคานำเข้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.6 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้า เครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า อากาศยาน รถไฟ และแท่นขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งปริมาณและราคานำเข้าร้อยละ 7.0 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม และยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 0.6 โดยเฉพาะการนำเข้ายานยนต์ขยายตัวร้อยละ 10.8 ส่วนการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 28.7
          อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 แต่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.0 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 114.1 ในไตรมาสที่สามของปี 2559 เทียบกับ 112.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
          ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสที่สามของปี 2559 ดุลการค้าเกินดุล 8,973  ล้านดอลลาร์ สรอ. (312,496  ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 8,307 ล้านดอลลาร์ สรอ. (293,291 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 7,607 ล้านดอลลาร์ สรอ. (269,144 ล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

          - ด้านการผลิต
          สาขาเกษตรกรรม: ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบแปดไตรมาส ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตพืชเกษตรสำคัญหลังสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลง ส่วนราคาสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สามของปี 2559 การผลิตสาขาเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 1.2  ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์ และประมง เป็นต้น โดย (1) ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 137.0 เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกจากข้าวโพดไปเป็นมันสำปะหลังซึ่งต้องการน้ำน้อยกว่าทดแทนและผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้น (2) ผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เนื่องจากผลกระทบของภัยแล้งที่คลี่คลายลง (3) ผลผลิตปศุสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เนื่องจากความต้องการบริโภคของทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และ (4) ผลผลิตประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เนื่องจาก การผลิตกุ้งขาวแวนนาไมเพิ่มขึ้นหลังจากปัญหาโรคตายด่วนที่คลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวเปลือก ข้าวโพด ยางพารา และไม้ผลยังปรับตัวลดลง สำหรับราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ราคาพืชผลสำคัญส่วนใหญ่ (ยกเว้นกลุ่มธัญพืชและพืชอาหาร) เพิ่มขึ้น โดย (1) ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เนื่องจากผลผลิตยางในประเทศลดลง ขณะที่ความต้องการใช้ยางของอุตสาหกรรมยางล้อขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (2) ราคาปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 74.7 เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ในขณะที่ความต้องการบริโภคปาล์มน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้น (3) ราคาเนื้อสุกรและไข่ไก่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 และร้อยละ 8.4  ตามลำดับ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการบริโภคในประเทศเป็นสำคัญ และ (4) ราคากุ้งขาวแวนนาไมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ตามราคากุ้งในตลาดโลก เนื่องจากประเทศคู่แข่งคือ จีน เวียดนาม และอินเดีย เกิดโรคระบาดทำให้ผลผลิตกุ้งในตลาดโลกลดลง จึงส่งผลให้ราคากุ้งในตลาดโลกสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 แต่ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิลดลงร้อยละ 16.8 การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5  และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง
          สาขาอุตสาหกรรม: ขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกและการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ เป็นสำคัญ แต่อุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 30 - 60 ลดลง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกรรมชะลอตัวลง ในไตรมาสที่สามของปี 2559 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสที่สอง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม การผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5  สอดคล้องกับการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน แต่อุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 30 - 60 ลดลงร้อยละ 4.1 สอดคล้องกับการลดลงของการผลิตรถยนต์ โดย (1) การผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.4 โดยเฉพาะการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการอุปโภคสินค้าของตลาดภายในประเทศ และตามคำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดต่างประเทศ เช่น ตลาดเวียดนาม เป็นต้น (2) การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ6.4 โดยเฉพาะการผลิตวงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์ (integrated circuit: IC) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เช่น ตลาดฮ่องกง ตลาดจีน และตลาดสิงคโปร์ เพื่อนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น เช่น สินค้ากลุ่มสื่อสาร สินค้ากลุ่มยานยนต์ และสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (3) การผลิตรถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 ตามความต้องการอุปโภคสินค้าของตลาดภายในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคโดยเฉพาะเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น อาทิเช่น ราคาข้าวเปลือก ราคายางพารา ราคาปาล์มน้ำมัน เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.01 เทียบกับร้อยละ 65.30 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          อุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 23.6) อุปกรณ์ขนส่ง (ร้อยละ 13.9) อุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ (ร้อยละ 6.2) ปิโตรเลียมและถ่านหิน (ร้อยละ 3.9) ผลิตภัณฑ์แร่อโลหะ (ร้อยละ 3.5) อาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 1.1) เครื่องจักรสำนักงาน (ร้อยละ 1.1) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (ร้อยละ 0.9) และเฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 0.2)
          อุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ เครื่องแต่งกาย (ร้อยละ -16.2) ยาสูบ (ร้อยละ -13.9) เครื่องหนัง (ร้อยละ -11.1) ยานยนต์และชิ้นส่วน (ร้อยละ -6.8) ยางและพลาสติก (ร้อยละ -5.8) สิ่งทอ (ร้อยละ -4.6) และผลิตภัณฑ์เคมี (ร้อยละ -1.6)
          สาขาก่อสร้าง:ขยายตัวตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องของการก่อสร้างภาครัฐแต่การก่อสร้างภาคเอกชนปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สามของปี 2559 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.8 ในไตรมาสที่สองของปี 2559 โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 10.7 (การก่อสร้างของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 5.0 และการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 25.3) เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 17.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.2 โดยการก่อสร้างอาคารสำนักงานและอาคารพาณิชย์ และการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยขยายตัว แต่การก่อสร้างอาคารโรงงานลดลง สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ คอนกรีต และกระเบื้องร้อยละ 2.5 ร้อยละ 5.7 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ ในขณะที่พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างกลับมาขยายตัว ราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.0 โดยเป็นการลดลงของดัชนีราคาเกือบทุกหมวด ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดซีเมนต์ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น ในขณะที่หมวดสุขภัณฑ์ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง
          สาขาอสังหาริมทรัพย์: ชะลอตัวลงหลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ  ในไตรมาสที่สามของปี 2559 การผลิตสาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 1.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสที่สองของปี 2559 ด้านอุปสงค์ ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ส่วนยอดปล่อยใหม่สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบ และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมลดลงร้อยละ 5.1 และ 5.1 ตามลำดับ ด้านราคา ราคาที่อยู่อาศัยและราคาที่ดินปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาคารชุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ส่วนราคาที่ดิน ราคาทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน และราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ร้อยละ 1.9 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ
          สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายรับจากการท่องเที่ยว ในไตรมาสที่สามของปี 2559 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 12.7 ในไตรมาสที่สองของปี 2559 โดยในไตรมาสนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.23 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาค โดยนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออก (สัดส่วนร้อยละ 70.5) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 และนักท่องเที่ยวยุโรป (สัดส่วนร้อยละ 14.6) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 (นักท่องเที่ยวจากรัสเซียกลับมาขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สาม) จำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น และลาว ตามลำดับ ในขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 441.71 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.1 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          สาขาการค้าส่งค้าปลีก: ขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการขยายตัวเร่งขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในไตรมาสที่สามของปี 2559 การผลิตสาขาค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 5.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.5 ในไตรมาสที่สองของปี 2559 ในด้านการค้าส่ง ดัชนีค้าส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดยอดขายสินค้าขั้นกลาง หมวดยอดขายสินค้าคงทน (เช่น การขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใช้ในครัวเรือน เป็นต้น) และหมวดยอดขายสินค้าไม่คงทน (เช่น การขายส่งอาหาร และการขายส่งสินค้าทางเภสัชกรรมและทางการแพทย์ เครื่องหอม และเครื่องประทินโฉม เป็นต้น) ในด้านการค้าปลีก ดัชนีการค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดยอดขายห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป (เช่น ร้านขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ เป็นสินค้าหลัก เป็นต้น) หมวดสินค้าไม่คงทน (เช่น ร้านขายปลีกเครื่องดื่ม และร้านขายปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น) ในขณะที่หมวดสินค้าคงทน และหมวดยอดขายรถยนต์ ซ่อมแซมรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง
          การจ้างงาน: การจ้างงานรวมลดลงตามการลดลงของการจ้างงานภาคเกษตรเป็นสำคัญ แต่การจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวต่อเนื่องและอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่สามของปี 2559 การจ้างงานรวมลดลงร้อยละ 0.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาสที่สองของปี 2559 โดยในไตรมาสนี้ การจ้างงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 2.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 6.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามแรงงานภาคเกษตรที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการขยายตัวของการจ้างงานในภาคบริการ โดยเฉพาะสาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ร้อยละ 6.1 และร้อยละ 3.9 ตามลำดับ ในขณะที่การจ้างงานสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.9 เนื่องจากการลดลงของการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก การผลิตเฟอร์นิเจอร์ และการผลิตยานยนต์ สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 3.63 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9

          - ด้านการคลัง
          การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2559 (กรกฎาคม - กันยายน 2559) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 597,744.5 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 6.3 ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวดีขึ้นของผลประกอบการภาคเอกชน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันร้อยละ 6.3 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซินเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 จากลิตรละ 5.35 และ 6.0 บาท เป็นลิตรละ 5.65 และ 6.30 บาท ตามลำดับ ประกอบกับการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) วงเงิน 56,273 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจลดลงจากฐานที่สูง เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนกระทรวงการคลังได้บริหารจัดการรายได้ของรัฐบาลโดยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินความจำเป็นเป็นรายได้แผ่นดิน
          รวมทั้งปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,393,500.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 และสูงกว่าประมาณการร้อยละ 0.3
          การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 686,257.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.9 ประกอบด้วย  (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 255 9 มีการเบิกจ่าย 528,259.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 19.0 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 23.0 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 428,208.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.5 (อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 18.8 ต่ำกว่าร้อยละ 20.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 100,051.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.9 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 20.1 ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 26.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 18.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) (2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 30,398.5 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 34.0 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 9.9 ต่ำกว่าร้อยละ 13.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) (3) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (รวม ปตท.) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายประมาณ 124,935.4 ล้านบาท (รวมรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 2,206.8 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 47.9 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มการลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค (4) เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 4,870.4 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) 3,119.4 ล้านบาท เงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 205.6 ล้านบาท เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 1,368.8 ล้านบาท และเงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 176.6 ล้านบาท
          รวมทั้งปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีทั้งสิ้น 2,578,775.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 8.4 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 92.9 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 96.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 92.4 ในปีงบประมาณก่อนหน้า) โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 364,741.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 34.3 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 73.3 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 87.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 65.3 ของปีงบประมาณก่อนหน้า)
          ในส่วนของงบเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 228,460.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74.1 ของงบเหลื่อมปีที่กันไว้ทั้งหมด งบลงทุนรัฐวิสาหกิจคาดว่ามีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 321,100.2 ล้านบาท(1) และเงินกู้นอกงบประมาณของรัฐบาลมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 50,151.5 ล้านบาท
          ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลเกินดุลงบประมาณ 44,152.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเกินดุลสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 43,942.5 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 146,878.4 ล้านบาท และรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มเติมจำนวน 14,820.0 ล้านบาท (ทั้งปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลตามกรอบวงเงิน 390,000.0 ล้านบาท) ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดสุทธิ 205,851.3 ล้านบาท สูงกว่าการเกินดุลในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.8 ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลังอยู่ที่ 441,299.7 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.5

          หมายเหตุ
          (1) ยอดวงเงินดังกล่าวได้คิดรวมการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2558 ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2558 เข้าไปด้วย

          หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม มีมูลค่าทั้งสิ้น 5,949,330.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.4 ของ GDP ซึ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ  5,603,128.8 ล้านบาท (ร้อยละ 39.9 ของ GDP) และ เงินกู้จากต่างประเทศ 346,201.9 ล้านบาท (ร้อยละ 2.5 ของ GDP) แบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 4,422,488.5 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 995,932.3 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 507,633.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74.3 ร้อยละ 16.7 และร้อยละ 8.5 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

          - ภาวะการเงิน
          ในไตรมาสที่สามของปี 2559 อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี  ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 และ 14 กันยายน 2559 คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากมีความเห็นว่านโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำอีกทั้งเพื่อเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ไว้สำหรับเป็นเครื่องมือรองรับความเสี่ยงจากการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศผู้นำเศรษฐกิจในระยะต่อไป เช่นเดียวกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่คงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินไว้ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อังกฤษปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 และดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (QE) เพิ่มเติม สำหรับประเทศญี่ปุ่นมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี ให้เป็นร้อยละ 0 ขณะที่ประเทศสำคัญหลายประเทศผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และไต้หวัน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.125 - 0.50 นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม 2559 อินโดนีเซียเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอ้างอิงใหม่เป็นอัตรา 7-day Reverse Repo Rate แทนการใช้อัตรา BI Rate เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่สามารถตอบสนองต่อนโยบายและมาตรการทางการเงินได้ดีกว่า พร้อมทั้งได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25
          ในเดือนตุลาคม 2559  อินเดียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.50 ต่อปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่อินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.75 ต่อปี (ซึ่งเป็นการปรับลดติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง) เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อลดลง
          ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้  โดยในไตรมาสที่สามของ ปี 2559 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และอัตราดอกเบี้ย MLR ไว้ที่ร้อยละ 1.38 ต่อปี และร้อยละ 6.27 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนและอัตราดอกเบี้ย MLR ไว้ที่ร้อยละ  1.70 และร้อยละ 8.52 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนลงร้อยละ 0.03 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.24 และร้อยละ 1.52 ต่อปี ตามลำดับ แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ย MLR ไว้ที่ร้อยละ 6.68 และร้อยละ 6.63 ต่อปี ตามลำดับ
          ล่าสุดในเดือนตุลาคม 2559  ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งปรับขึ้นเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.02 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.40 ต่อปี อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.27 ต่อปี นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และอัตราดอกเบี้ย MLR ไว้ที่ระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า
          อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.00 และร้อยละ 5.89 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากการคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ประกอบกับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2559 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสที่สองของปี 2559
          ล่าสุดเดือนตุลาคม 2559  อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.06 ต่อปี ตามการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และการลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ย MLR ที่แท้จริงซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.93 ต่อปี ตามการปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป
          เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่สามของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับสินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ของธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสสอง มาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ตามการชะลอตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อในสาขาการผลิตที่หดตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวใกล้เคียงกับการขยายตัวในไตรมาสก่อน โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ส่วนสินเชื่อเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงเนื่องจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐสิ้นสุดลง สำหรับคุณภาพของสินเชื่อปรับตัวลดลงสะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non - Performing Loan)  ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.72 ในไตรมาสที่แล้วมาอยู่ที่ร้อยละ 2.89 รวมทั้งสัดส่วนของสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special - Mention Loan) ต่อสินเชื่อรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.17 ในไตรมาสที่แล้วมาอยู่ที่ร้อยละ 2.38 ในไตรมาสนี้
          เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าตามการคาดการณ์ในการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยในไตรมาสที่สามปี 2559 เท่ากับ 34.83 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.3 สอดคล้องกับเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลมาจาก (1) การคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะการเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในเดือนกันยายนและการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของประเทศอังกฤษและญี่ปุ่นซึ่งทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ในประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง และ (2) ผลการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญและภาวะเศรษฐกิจ ไตรมาสที่สองของไทยซึ่งขยายตัวสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาด อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ(2) เงินบาทอ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.7 เนื่องจากการแข็งค่าของเงินเยนเป็นหลัก แต่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่อ่อนค่าลงร้อยละ 0.3 แต่แข็งค่าร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ
          ในเดือนตุลาคม 2559  ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากเดือนกันยายน ร้อยละ 0.9 โดยในช่วงต้นเดือนตุลาคม เงินบาทอ่อนค่าลงหลังจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในรอบการประชุมเดือนธันวาคม แต่เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงและส่งผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม และในช่วงวันที่ 1-18 พฤศจิกายน ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวผันผวนเฉลี่ยอยู่ที่ 35.17 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.

          หมายเหตุ
          (2) ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือ ปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

          ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามกระแสการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ โดยในช่วงสองเดือนแรกของไตรมาส ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรายงานนโยบายการเงินของ Fed รอบเดือนกรกฎาคมไม่ได้ส่งสัญญาณแสดงความชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นหลังการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ และการประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองดีกว่าการคาดการณ์ของตลาด อย่างไรก็ตาม ดัชนีปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงต้นเดือนกันยายน แต่ต่อมาตลาดคาดว่า Fed จะยังไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมเดือนกันยายน หลังจากธนาคารกลางอังกฤษไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม และ Fed ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหนึ่งครั้งในปีนี้ ทำให้ดัชนีสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2559 SET Index ปิดที่ 1,483.2 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 58.1 พันล้านบาทต่อวัน เทียบกับ 44.9 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสก่อนหน้า โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ 96.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นมากจาก 17.5 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า
          ในเดือนตุลาคม 2559  SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1,495.7 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากสิ้นเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี ทำให้นักลงทุนกลับมาขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย 18.1 พันล้านบาท
          อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกช่วงอายุ  ในไตรมาสที่สาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าในเกือบทุกช่วงอายุโดยมีสาเหตุมาจาก  (1) นักลงทุนชะลอการลงทุนจากการคาดว่าจะมีการออกตราสารหนี้ระยะยาวมูลค่ากว่า 86,000 ล้านบาท และ (2) การคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนกันยายน ทำให้ นักลงทุนต่างชาติทยอยขายตราสารหนี้ในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เมื่อ Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายน จึงเกิดแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ ทำให้ในไตรมาสที่สามนักลงทุนต่างชาติยังมียอดซื้อสุทธิ 109.1 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากการซื้อสุทธิ 132.2 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนมูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 89.8 พันล้านบาท ลดลงจาก 98.2 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสก่อนหน้า
          ในเดือนตุลาคม 2559 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยสาเหตุสำคัญมาจากความกังวลต่อความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายในประเทศ และการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ  ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 11.3 พันล้านบาท มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 89.4 พันล้านบาท
          เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สาม แม้ว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าจากการเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างมาก แต่ในไตรมาสนี้มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 6.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากการไหลออกสุทธิ 1.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากมีการนำเงินฝากออกไปฝากในต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF) การออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ในมูลค่าสูง และการชำระคืนเงินกู้ในเครือของธุรกิจค้าปลีกที่ใช้เพื่อซื้อกิจการจากผู้ถือหุ้นต่างชาติในไตรมาสแรกของปี 2559
          ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสที่สามของปี 2559 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10,291 ล้านดอลลาร์ สรอ. (358,628 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 7,973 ล้านดอลลาร์ สรอ. (281,129 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 6,213 ล้านดอลลาร์ สรอ. (218,727 ล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 8,973 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 1,318 ล้านดอลลาร์ สรอ.
          เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 180.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 20.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 11.8 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สามของปี 2559)
          อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สามของปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของราคาเนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ และไข่และผลิตภัณฑ์นมเป็นสำคัญ ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 0.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า การลดลงของดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มในไตรมาสนี้เป็นผลมาจากการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2559 ที่ลดลง 33.29 สตางค์ต่อหน่วย และในรอบเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2559 ที่ลดลง 33.29 สตางค์ต่อหน่วย และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลง ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานลดลงร้อยละ 7.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 9.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 เท่ากับร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า(3)

          หมายเหตุ
          (3) ในเดือนตุลาคม 2559 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.3 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 รวม 10 เดือนแรกของปี 2559  อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.1 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7

          ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สามของปี 2559 ลดลงร้อยละ 0.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองลดลงร้อยละ 9.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 12.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติลดลงในอัตราที่ช้าลงจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลง ในขณะที่ราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.0 เร่งตัวขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร และปลาและสัตว์น้ำ(4)

          หมายเหตุ
          (4) ในเดือนตุลาคม 2559 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 0.5 รวม 10 เดือนแรกของปี 2559 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 1.5

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสที่สามของปี 2559
          ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่เก้า ในไตรมาสที่สามของปี 2559 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 44.69 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 49.37 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และเป็นการปรับตัวลดลงในทุกตลาดโดยเฉพาะตลาดดูไบและโอมาน ในขณะที่ตลาดเวสท์เท็กซัสปรับตัวลดลงเล็กน้อย และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่สามของปี 2559 ลดลงจากไตรมาสที่สองของปี 2559 ร้อยละ 0.1
          การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC มาอยู่ที่เฉลี่ย39.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 38.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน) (2) ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD (เช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3,049 ล้านบาร์เรล (สูงกว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 2,934 ล้านบาร์เรล) และ (3) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ

3. เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สาม
          ในไตรมาสที่สาม เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร กลุ่มประเทศยูโรโซน และประเทศสำคัญๆ  อื่นๆ ในขณะที่จีนยังสามารถรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ในกรอบเป้าหมาย แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สามสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมในประเทศสำคัญๆ ที่เริ่มกลับมาอยู่เหนือระดับ 50 ได้มากขึ้นรวมทั้งการหดตัวช้าลงของมูลค่าการส่งออกของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียซึ่งสามารถเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในบางประเทศ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยูโรโซน สหราชอาณาจักร และประเทศสำคัญๆ ในภูมิภาคเอเชียเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น  การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจท่ามกลางการลดลงของแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดทำให้สหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้ที่ระดับเดิมแม้ว่าสหราชอาณาจักรจะผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงหลังการลงประชามติเพื่อขอแยกตัวจากสหภาพยุโรป
          - เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สาม ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 1.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของการสะสมสินค้าคงคลังและการขยายตัวของการส่งออก รวมทั้งการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาวะการจ้างงาน โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 5.75 แสนตำแหน่งและอัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 4.9 ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เป็นเฉลี่ยร้อยละ 1.1 แม้กระนั้นก็ตามในการประชุมเมื่อวันที่ 1 - 2 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช่วงร้อยละ 0.25 - 0.50 ต่อปี
          - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 1.6 เท่ากับไตรมาสที่ผ่านมาโดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 10.0 และอัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมาเป็นบวกร้อยละ 0.3 เทียบกับร้อยละ -0.1 ในไตรมาสก่อน การปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจและการลดลงของแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมและรักษาระดับวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์จนกระทั่งสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2560 พร้อมทั้งส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากมีความจำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
          - เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 0.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 28 ล้านล้านเยน ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และเงินเยนที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลให้แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง โดยอัตราเงินเฟ้อติดลบที่ร้อยละ 0.6 ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ไว้ที่ระดับเดิม และปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินโดยกำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีไว้ที่ร้อยละ 0.0
          - เศรษฐกิจจีน ในไตรมาส 3 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 6.7 เท่ากับการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายรัฐบาลภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของยอดการค้าปลีกร้อยละ 10.4 ในช่วง 9 เดือนแรก อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.7 อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ในขณะที่เงินหยวนยังคงอ่อนค่าลงสอดคล้องกับการลดลงอย่างช้าๆ ของทุนสำรองระหว่างประเทศ
          - เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอื่น ๆ ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจไต้หวันและฮ่องกงที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 0.7 และร้อยละ 1.7 ในไตรมาสที่สองเป็นร้อยละ 2.1 และร้อยละ 1.9 ในไตรมาสที่สาม ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้และเศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 2.7 และร้อยละ 0.6 ชะลอลงจากร้อยละ 3.3 และร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออก โดยเศรษฐกิจเวียดนาม และมาเลเซียขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 6.4 และร้อยละ 4.3 เทียบกับร้อยละ 5.8 และร้อยละ 4.0 ในไตรมาสที่สอง ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่ชะลอตัวลงตามอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก
          ในช่วงต้นไตรมาสที่สี่ เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ อย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี ISM ของสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน และจีน ในเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 53.4 53.5 และ 51.2 เทียบกับระดับ 51.5 52.6 และ 50.1 ในเดือนกันยายน ในขณะที่ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 51.4 เทียบกับระดับ 50.4 ในเดือนกันยายน แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ในช่วงไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่ คาดว่าจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก แม้กระนั้นก็ตาม การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของประเทศสำคัญๆ ในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกทั้งปียังขยายตัวประมาณร้อยละ 3.1 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2558 โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ขยายตัวร้อยละ 1.7 ร้อยละ 1.6 ร้อยละ 0.5 และ ร้อยละ 6.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ร้อยละ 1.6 ร้อยละ 0.5 และร้อยละ 6.9 ในปี 2558 ในกลุ่มประเทศ NIEs คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวันจะขยายตัวร้อยละ 2.9 2.0 และร้อยละ 0.9 เทียบกับร้อยละ 2.6 2.0 และ ร้อยละ 0.7 ในปี 2558 ตามลำดับ

4. เศรษฐกิจโลกในปี 2560
          ในปี 2560 เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นจากครึ่งหลังของปี 2559 อย่างต่อเนื่อง  โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2559 ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศสำคัญอื่นๆ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนและกลุ่มประเทศยูโรโซนยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างช้าๆ ก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 3.6 ในปี 2560 ในขณะที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในปี 2559
          ในกรณีฐานคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในปี 2559 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การบริโภคภาคครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน (2) การปรับตัวดีขึ้นของบรรยากาศทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง (3) การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และในสาขาพลังงาน กลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอลงอย่างช้าๆ จากร้อยละ 1.6 ในปี 2559 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดที่สำคัญๆ ได้แก่ (1) ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการเจรจาและเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหราชอาณาจักร (2) ภาระหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินในหลายประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูงท่ามกลางแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยยังเป็นข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ และ (3) ความวิตกกังวลต่อผลการเลือกตั้งในประเทศสำคัญๆ ซึ่งอาจให้พรรคการเมืองที่สนับสนุนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปมีคะแนนเสียงมากขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.5 ในปี 2559 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นทางการคลัง มูลค่า 28 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ตาม การขยายตัวยังมีความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินเยนที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของการส่งออกและแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่พลวัตรการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.6 ในปี 2559 ตามแนวโน้มการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการลดความเสี่ยงในภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์  แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคบริการและการบริโภคในประเทศ รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินหยวน และการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
          การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญๆ เมื่อรวมกับพลวัตรการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) และกลุ่มประเทศอาเซียนปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในกลุ่มประเทศ NIEs คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ร้อยละ 1.8 ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ร้อยละ 0.9 ร้อยละ 1.5 และร้อยละ 2.0 ในปี 2559 ตามลำดับ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ที่คาดว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามจะขยายตัวร้อยละ 5.2 ร้อยละ 4.6 ร้อยละ 7.2 และร้อยละ 6.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ร้อยละ 4.2 ร้อยละ 7.0 และร้อยละ 6.1 ในปี 2559 ตามลำดับ
          แม้กระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปี 2559 และในปี 2560 ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนจาก  (1) ทิศทางและแนวนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง (2) ผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญในอิตาลีวันที่ 4 ธันวาคม 2559 (3) การใช้อำนาจตามมาตรา 50 ภายใต้สนธิสัญญาลิสบอน ฉบับปี 2552 ของ สหราชอาณาจักรในเดือนมีนาคม 2560 และผลการเจรจาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป (4) การคาดการณ์และผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสในวันที่ 23 เมษายน 2560 (5) การคาดการณ์การเลือกตั้งในเยอรมนีในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2560 (6) ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในยุโรป และ (7) ปัญหาในภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์จีน โดยที่เหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางการดำเนินนโยบายของประเทศสำคัญๆ ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินมีความผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีฐานคาดว่าการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและค่าตอบแทนแรงงานท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของการคาดการณ์เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม 2559 ในขณะที่ประเทศสำคัญอื่นๆ ที่มีแนวโน้มที่จะชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมมากขึ้น แต่มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหราชอาณาจักร ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่นจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในกรณีที่เหตุการณ์สำคัญๆ ข้างต้นทำให้ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันของการแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญอื่นๆ

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559
          เศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 0.8 และ 2.8 ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 0.2 เทียบกับติดลบร้อยละ 0.9 ในปี 2558 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11.3 ของ GDP เทียบกับการเกินดุลร้อยละ 8.2 ของ GDP ในปี 2558
          ในการแถลงข่าววันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 ซึ่งอยู่ในช่วงการประมาณการร้อยละ 3.0-3.5 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่  15 สิงหาคม 2559 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.2  สูงกว่าขอบล่างของการประมาณในช่วงร้อยละ 0.1 - 0.6 โดยสรุปการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ได้ดังนี้
          1) มูลค่าส่งออก ในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.0 ดีกว่าการปรับตัวลดลงร้อยละ 1.9 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจาก (1) มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่สามกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส ร้อยละ 0.4 เร็วกว่าที่คาดไว้ (2) ราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้และส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกในไตรมาสที่สาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 ไตรมาส และส่งผลให้ราคาส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 ลดลงเพียงร้อยละ 0.8 เมื่อรวมกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกในไตรมาสที่สี่ คาดว่าจะทำให้ราคาสินค้าส่งออกเฉลี่ยทั้งปี 2559 จะลดลงเพียงร้อยละ 0.2 น้อยกว่าการลดลงร้อยละ (-1.5) - (-1.0)  ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา (3) การเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ปริมาณการส่งออกในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเริ่มกลับมาขยายตัวเร็วกว่าการคาดการณ์ และคาดว่าจะทำให้ปริมาณการส่งออกทั้งปี 2559 สามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อย่างช้าๆ ร้อยละ 0.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.9 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
          2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจาก (1) การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสก่อนหน้า (2) การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งรัดเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ทำให้ฐานการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐในไตรมาสที่สามอยู่ในเกณฑ์สูง (3) อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำทั้งปีของปีงบประมาณ 2559 อยู่ที่ร้อยละ 97.2 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 98.0 อยู่เล็กน้อย
          3) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคครัวเรือน มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.0 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 2.7 เนื่องจาก (1) การฟื้นตัวของการผลิตภาคเกษตรที่ดีกว่าการคาดการณ์ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น และ (2) การดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้มีรายได้น้อยภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

6. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560
          เศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออกซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น (2) การฟื้นตัวและการขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นของการผลิตในภาคเกษตรซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (3) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง และ (4) ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม  ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
          เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเงินเฟ้อขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของราคาน้ำมันและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างช้าๆ ในขณะที่การจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการผลิตภาคเกษตร และดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินในเกณฑ์สูง

          - ปัจจัยสนับสนุน
          1) แนวโน้มการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออก ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสำคัญๆ ในตลาดโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ ในปี 2559 โดยในไตรมาสที่สามของปี 2559 มูลค่าการส่งออกสินค้าเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส โดยราคาสินค้าส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนร้อยละ 0.8 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงเดือนสิงหาคม 2559 การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกสอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ รวมทั้งการหดตัวช้าลงของมูลค่าการส่งออกของประเทศในภูมิภาค และดัชนี ISM ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50 ได้มากขึ้น ในช่วงที่เหลือของปี 2559 และในปี 2560 เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นช้าๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกในปี 2560 เริ่มกลับมาขยายตัวหลังจากปรับตัวลดลง 3 ปีติดต่อกัน
          2) แนวโน้มการฟื้นตัวและการขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคเกษตร ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของฐานรายได้และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน หลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงของภาวะเอลนีโญ (El Ni๑o) ซึ่งทำให้การผลิตภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 3.8 และร้อยละ 1.3 ในปี 2558 และในครึ่งแรกของปี 2559 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 การผลิตภาคเกษตรเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบแปดไตรมาส และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 และในปี 2560 ตามปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญๆ ที่อยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของฐานรายได้และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนได้มากขึ้นแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตจะทำให้ราคาผลผลิตในบางสินค้าเริ่มปรับตัวลดลงเข้าสู่ระดับปกติก็ตาม
          3) รายจ่ายการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ตามความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม 20 โครงการ วงเงินรวม 1,410,763.35 ล้านบาท ซึ่งเริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้นในปี 2559 และคาดว่าจะเร่งขึ้นในปี 2560 (ดูรายละเอียดในกล่องข้อความ) ในขณะที่ในด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (คนพ.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ได้ให้ความเห็นชอบร่างแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (พ.ศ. 2560 - 2564) ประกอบด้วย 173 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 712,645.23 ล้านบาท โดยในปี 2560 เริ่มดำเนินการโครงการเร่งด่วน 48 โครงการ วงเงินรวม  6,992.67 ล้านบาท

ความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง
          ในปี 2559 การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มีความคืบหน้าชัดเจนมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นในปี 2560 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนแผนปฏิบัติการฯ จำนวน 20 โครงการ วงเงิน 1,410,763.35 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) โครงการที่เริ่มก่อสร้างแล้วจำนวน 4 โครงการ วงเงิน 45,471.97 ล้านบาท ซึ่งเริ่มมีการเบิกจ่ายแล้วในปี 2559 และมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นในปี 2560  (2) โครงการที่ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีแล้วและอยู่ในช่วงของการประกวดราคาจำนวน 9 โครงการ วงเงิน 487,775.04 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการเริ่มก่อสร้างและเบิกจ่ายงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2560 (3) โครงการที่อยู่ในช่วงของการเตรียมการนำเสนอคณะรัฐมนตรี 3 โครงการ วงเงิน 175,881.37 ล้านบาท (4) โครงการที่อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) 2 โครงการ วงเงิน 247,201.16 ล้านบาท และ (5) โครงการที่อยู่ระหว่างเจรจาและศึกษาความเหมาะสมอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการความร่วมมือก่อสร้างทางรถไฟไทย - จีน (ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช) และโครงการความร่วมมือก่อสร้างทางรถไฟไทย - ญี่ปุ่น (ช่วงกรุงเทพฯ - พิษณุโลก)
          4) แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในปี 2558 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 20.6 และร้อยละ 12.4 ตามลำดับ และเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นและความวิตกกังวลของนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับกิจกรรมท่องเที่ยวในช่วงการไว้ทุกข์และมาตรการแก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญของภาครัฐ ในปี 2560 คาดว่าผลกระทบจากความวิตกของนักท่องเที่ยวต่อเรื่องดังกล่าวจะผ่อนคลายลงตามลำดับและทำให้จำนวนและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

          - ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง
          1) ความเสี่ยงด้านความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและสนับสนุนให้ภาคการส่งออกในปี 2560 เริ่มกลับมาขยายตัวก็ตาม แต่ในช่วงที่เหลือของปี 2559 และในปี 2560 ยังมีปัจจัยที่จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมีความผันผวนซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดประกอบด้วย (1) ทิศทางและแนวนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง (2) ผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญในอิตาลีวันที่ 4 ธันวาคม 2559 (3) การใช้อำนาจตามมาตรา 50 ภายใต้สนธิสัญญาลิสบอน ฉบับปี 2552 ของสหราชอาณาจักรเพื่อขอแยกตัวจากสหภาพยุโรปในเดือนมีนาคม 2560 (4) การคาดการณ์และผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสในวันที่ 23 เมษายน 2560 (5) การคาดการณ์การเลือกตั้งในเยอรมันในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2560 (6) ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในยุโรป และ (7) ปัญหาในภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน

          - ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2560
          1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.1 และร้อยละ 2.6 ในปี 2559 โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาสำคัญอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะสามารถชดเชยแนวโน้มการชะลอตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจจีน ที่มีข้อจำกัดการขยายตัวจากการปฏิรูปเศรษฐกิจและภาคการเงิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนซึ่งมีข้อจำกัดการขยายตัวจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปรวมทั้งปัญหาข้อจำกัดในภาคการเงินและความวิตกกังวลต่อผลการเลือกตั้งในประเทศสำคัญๆ

ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ กับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
          แนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ในช่วงการรณรงค์ หาเสียงแนวนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของนายโดนัลด์ ทรัมป์ แบ่งออกเป็น (1) แนวนโยบายทางด้านการคลังโดยส่วนใหญ่เป็นการปรับลดภาษีทั้งในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล และ (2) นโยบายทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่มีทิศทางต่อต้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งทั้ง 2 แนวนโยบายดังกล่าวมีนัยยะต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกที่แตกต่างกัน โดยในด้านนโยบายการคลังมีการคาดการณ์กันว่าหากดำเนินการทั้งหมด จะทำให้รายรับรัฐบาลลดลงประมาณ 10.5 Trillion USD ในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาวแต่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงแรกของการดำเนินการ ในขณะที่การดำเนินการตามนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศตามที่หาเสียงไว้จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังการเลือกตั้งแนวนโยบายดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในข้อสัญญาที่จะทำในช่วง 100 วันแรก ได้มีการปรับลดรายละเอียดและตัดบางรายการออกไป ทำให้ทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และนัยยะที่จะมีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2560 ยังไม่มีความชัดเจน
          แม้กระนั้น ก็ตามภายใต้เงื่อนไขสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ ความคาดหวังของประชาชน และสภาพแวดล้อมทางด้านการกำหนดนโยบายและกลไกในระบบการเมืองของสหรัฐฯ ในกรณีฐาน คาดว่าแนวนโยบายทางด้านการคลังมีแนวโน้มที่จะถูกขับเคลื่อนก่อนเป็นลำดับแรกแม้ว่าจะไม่มากเหมือนตอนที่ได้หาเสียงไว้ ในขณะที่นโยบายในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีลักษณะต่อต้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจะมีการปรับลดระดับความรุนแรงลงมากกว่าแนวนโยบายทางด้านการคลังและเป็นการดำเนินการในภายหลังหรืออาจจะไม่มีการดำเนินการใดๆ ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว คาดว่าทิศทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2560 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการคาดการณ์ทางบวกของนักลงทุนที่ส่งผลให้ดัชนีหลักทรัพย์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร และการคาดการณ์เงินเฟ้อในประเทศสำคัญๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น

          2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2560 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 35.3 - 36.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากเฉลี่ย 35.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2559 ตามแนวโน้มการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทและสกุลเงินอื่นในภูมิภาคมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างช้าๆ  โดยเฉพาะเงินหยวนที่มีทิศทางอ่อนค่าตามกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น
          3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2560 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 42.0 - 52.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูง
          กว่าราคาเฉลี่ย 41.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2559 โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย (1) ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น (2) การบรรลุข้อตกลงเพื่อลดระดับการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC ลดลงประมาณ 750,000 บาร์เรลต่อวัน (3) ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่จะทำให้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นไปอย่างช้าๆ ประกอบด้วย (1) แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ตามการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (2) ปริมาณการผลิตในอเมริกาเหนือที่มีแนวโน้มกลับมาผลิตเพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และแคนาดา ตามจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันซึ่งเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2559 หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 50 ดอลลาร์ สรอ. (3) เศรษฐกิจจีนและยุโรปซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในช่วงของการชะลอตัว
          4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 - 1.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.2 ในปี 2559 โดยเป็นผลจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ราคาสินค้าประมง และราคาสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปี 2559 สอดคล้องกับแนวโน้มราคาน้ำมันในปี 2560 ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ด้านราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 - 3.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.7 ในปี 2559 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าสำคัญๆ ในตลาดโลก
          5) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2560 คาดว่าจะมีจำนวน 35.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 จากประมาณ 33.0 ล้านคนในปี 2559 ขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวในปี 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.95 ล้านล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10.8 จาก 1.76 ล้านล้านบาท ในปี 2559(5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ (1) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีความสงบ (2) การขยายท่าอากาศยาน 3 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง ภูเก็ต และอู่ตะเภา ทำให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น (3) การขยายเส้นทางการบินของสายการบินต้นทุนต่ำที่เดินทางระหว่างประเทศในระยะใกล้ และ (4) แนวโน้มนักท่องเที่ยวจากยุโรป รัสเซีย และจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
          6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 94.4 ของวงเงินงบประมาณ จำแนกเป็นอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำร้อยละ 98.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนร้อยละ 80.0 (2) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 80.0 (3) การเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีร้อยละ 75.0 (4) การเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณภายใต้โครงการน้ำและถนน และอื่น ๆ ประมาณ 12,000 ล้านบาท ลดลงจาก 47,661 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2559 และ (5) การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2561 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม - ธันวาคม 2560) คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 30.0

          หมายเหตุ
          (5) คำนวณโดยการประมาณการรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคนคูณกับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี โดยอาศัยข้อมูลดุลบริการรับในดุลบัญชีเดินสะพัดสำหรับประมวลผลข้อมูลรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคนดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559

          - ประมาณการเศรษฐกิจปี 2560
          เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ  2.8 และ 3.2 ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 - 2.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 10.2 ของ GDP

          - องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
          1) การใช้จ่ายเพื่อการบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอลงเล็กน้อยจากการขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 ในปี 2559 โดยเป็นการชะลอลงในช่วงครึ่งปีแรกซึ่งเป็นการชะลอตัวจากฐานที่สูงในปี 2559 (ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งขึ้นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายในหมวดสินค้ารถยนต์ในช่วงของการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่) อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของภาคครัวเรือนซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกและการผลิตในภาคเกษตร ในขณะที่ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในปี 2559
          2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2559 โดยการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในปี 2559 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจาก (1) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินเริ่มปรับตัวลดลงอย่างช้าๆ และเริ่มกระตุ้นความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น (2) ความคืบหน้าของการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่ประกวดราคาไปแล้วและสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ รวมทั้งการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความชัดเจนให้แก่นักลงทุนภาคเอกชน (3) แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามายังประเทศไทย  การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 11.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 10.0 ใน

ความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐและการส่งออก
          การลงทุนภาคเอกชน ประกอบด้วยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนหมวดก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 และร้อยละ 20 ของการลงทุนรวมของภาคเอกชน โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ต่ำและปรับตัวลดลง โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนในเครื่องมือเครื่องจักรมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการขยายตัวของการส่งออก ในกรณีที่การส่งออกลดลง กำลังการผลิตส่วนเกินจะเพิ่มขึ้นทำให้ภาคธุรกิจไม่มีความจำเป็นในการขยายการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร ในทางตรงกันข้าม หากการส่งออกเพิ่มขึ้นจะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินลดลงและผู้ประกอบการจะลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น ในขณะที่การลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนมีความสัมพันธ์ตามการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ  ดังนั้น การขยายตัวในเกณฑ์ต่ำและการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา  จึงมีสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของมูลค่าการส่งออกตั้งแต่ปี 2553 - 2555 ก่อนที่จะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2.2 ในช่วงปี 2556 - 2558 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ของการลงทุนก่อสร้างภาครัฐในช่วงปี 2554 - 2557 อย่างไรก็ตาม นับจากปี 2558 เป็นต้นมา ภาครัฐให้ความสำคัญกับการลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนในภาคก่อสร้างของภาครัฐเริ่มกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มที่จะเริ่มกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2560 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ปี 2559 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนและการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทั้งในส่วนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ และโครงการที่อยู่ในขั้นตอนของการประกวดราคา (ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว) จำนวน 9 โครงการซึ่งจะทยอยเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างมากขึ้น ตามลำดับ
          3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 0.0 ในปี 2559 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 สูงขึ้นจากการขยายตัวประมาณร้อยละ 0.2 ในปี 2559 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก ในขณะที่ราคาส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.2 ในปี 2559 เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามรายรับจากนักท่องเที่ยวคาดว่าจะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0
          4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 5.2 ในปี 2559 โดยคาดว่าปริมาณการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกและการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.5 ในขณะที่ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ตามแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าอื่นๆ ในตลาดโลก เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการ คาดว่าปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6
          5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 33.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงอย่างช้าๆ จากการเกินดุลประมาณ 36.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2559 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่ามูลค่าการส่งออก เมื่อรวมกับดุลบริการคาดว่าจะส่งผลให้ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 42.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 10.2 ของ GDP
          6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2560 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-2.0 สูงขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2559 ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก รวมทั้งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท

7. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
          เศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐ และแนวโน้มการฟื้นตัวและขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคเกษตร ทั้งนี้ แนวโน้มการชะลอตัวลงจากฐานที่สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวทำให้แรงขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าและแรงขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจมากขึ้น ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตามทิศทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ เงื่อนไขทางการเมืองในยุโรป ผลการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป รวมทั้งปัญหาความอ่อนแอของภาคการเงินในประเทศสำคัญๆ ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2559 และในปี 2560 จึงควรให้ความสำคัญกับ
          1) การเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย (1) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80  (2) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และ (3) อัตราการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ควบคู่กับการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ ทั้งการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
          2) การรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับ (1) การดำเนินการตามยุทธศาสตร์แผนการตลาดท่องเที่ยวปี 2560 (2) การชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกี่ยวกับมาตรการทัวร์ศูนย์เหรียญ (3) การประชาสัมพันธ์กิจกรรมท่องเที่ยวกับนักท่องเที่ยวและบริษัทท่องเที่ยวต่างชาติ และ (4) การรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ
          3) การสนับสนุนและเร่งรัดการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัว โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการส่งออกของไทยปี 2560 โดยเฉพาะการขยายตลาดส่งออกเชิงรุก การตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มตลาดเป้าหมาย การส่งเสริมการค้าชายแดนเชื่อมโยงประเทศใน CLMV การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการด้วยการใช้นวัตกรรม และการติดตามและระมัดระวังมาตรการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของกระแสการต่อต้านการค้าที่ไม่เป็นธรรมในประเทศสำคัญๆ
          4) การฟื้นฟูเกษตรกรและการเตรียมมาตรการรองรับการขยายตัวของการผลิตทางการเกษตร โดยให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ การปลูกพืชและการใช้วิธีการผลิตที่มีความเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ และการลดขั้นตอนทางการตลาดเพื่อให้รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเป็นของเกษตรกรมากขึ้น
          5) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวในระดับที่เหมาะสมเพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม  (2) การดำเนินมาตรการเชิงรุกชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมายการพัฒนาและบริการสำหรับอนาคตการพัฒนาประเทศ เช่น อุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายภายใต้กรอบการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และกรอบการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ICT)  (3) การดำเนินการและประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (4) การอำนวยความสะดวกนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศและนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตจากประเทศที่มีข้อจำกัดในด้านการส่งออก (5) การประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับ Roadmap ทางการเมืองรวมทั้งเจตนารมณ์และสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาและการปฏิรูปประเทศภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ

                                         ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2559 - 2560 1
                                                  ข้อมูลจริง                               ประมาณการ
                                                                                ปี 2559                   ปี 2560
                                            ปี 2557      ปี 2558
                                                                     ณ 15 ส.ค. 59     ณ 21 พ.ย. 59    ณ 21 พ.ย. 59
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)              13,132.2    13,533.6           14,034.3         14,034.3        14,806.2
รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)                   195,995.2   201,284.9          208,055.2        208,055.2       218,853.7
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)         404.3       395.1              395.3            397.6           413.6
รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)            6,033.6     5,876.5            5,860.7          5,893.9         6,113.2
อัตราการขยายตัวของ GDP (CVM, %)                  0.8         2.8            3.0-3.5              3.2         3.0-4.0
การลงทุนรวม (CVM, %)                           -2.4         4.7                3.3              3.0             5.0
ภาคเอกชน (CVM, %)                             -1.0        -2.0                1.5              1.2             2.8
ภาครัฐ (CVM, %)                                -7.3        29.8               10.0             10.0            11.2
การบริโภคภาคเอกชน (CVM, %)                      0.6         2.1                2.7              3.0             2.7
การบริโภคภาครัฐบาล (CVM, %)                      2.1         2.2                3.9              0.6             2.1
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)           0.2         0.1                2.5              3.2             3.0
มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)          226.7       214.1              208.0            214.1           219.2
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %) 2/                    -0.3        -5.6               -1.9              0.0             2.4
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/                    0.7        -3.4               -0.9              0.2             1.2
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)          -5.3        -0.4               -1.3             -1.5             3.6
มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)          209.4       187.2              166.7            177.5           185.5
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %) 2/                    -7.9       -10.6               -6.1             -5.2             4.5
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/                   -6.2         0.3               -2.6             -2.5             1.5
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                    17.3        26.8               41.3             36.6            33.7
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)               15.1        32.1               38.6             45.0            42.1
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                         3.8         8.2                9.8             11.3            10.2
เงินเฟ้อ (%)
ดัชนีราคาผู้บริโภค                                  1.9        -0.9            0.1-0.6              0.2         1.0-2.0
GDP Deflator                                   1.0         0.2            0.1-0.6              0.5         1.5-2.5

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 21 พฤศจิกายน 2559

หมายเหตุ: 1/ เป็นข้อมูลที่คำนวณบนฐานบัญชีประชาชาติอนุกรมใหม่ ซึ่ง สศช. เผยแพร่ทาง www.nesdb.go.th

2/ ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ