(ต่อ5)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2552-2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 21, 2009 15:55 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายและภาพรวมปี 2552

2.1 เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามพลวัตรของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเม็ดเงินภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตและการจ้างงานที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับฐานเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายมีอัตราการขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนและข้อจำกัดดังนี้

ปัจจัยสนับสนุน

(1) การฟื้นตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว ในไตรมาสสุดท้ายของปีจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สาม ในประเทศอุตสาหกรรมสำ คัญ ๆ จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามการลดลงของแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ก็ตาม แต่ฐานการฟื้นตัวที่เป็นวงกว้างมากขึ้น จะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมทั้งภาพลักษณ์ทางการเมืองที่ปรับตัวดีขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี

(2) การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคเอกชน ตามฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับตัวของตลาดแรงงานและราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นจากต้นปี 2552 ในขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น รวมทั้งผลจากมาตรการประกันรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

(3) มาตรการเร่งรัดการดำ เนินงานตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี จากการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555

(4) สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจคาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์สูงเนื่องจากการขยายการใช้จ่ายภาครัฐ การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งการบริหารสภาพคล่องและการขยายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและรายจ่ายภาคครัวเรือน

ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด

(1) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวในภาคท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ และ การดำเนินมาตรการภาครัฐ ทั้งนี้เสถียรภาพทางการเมืองที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ความไม่สงบเดือนเมษายนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความคืบหน้าซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นทั้งในด้านการผลิตและการใช้จ่ายภาคเอกชน อย่างไรก็ตามการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ที่มีความถี่มากขึ้นและเริ่มเชื่อมโยงกับปัญหาความ ขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ยังปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ และอาจพัฒนาไปสู่ระดับที่เป็นปัญหาต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งความต่อเนื่องและประสิทธิผลของการดำเนินมาตรการของภาครัฐ

(2) ความผันผวนของราคาน้ำมันซึ่งเกิดจากการอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. และความต้องการเก็งกำไรในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนและเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยที่หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานแล้วคาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยในไตรมาสสุดท้ายของปีจะอยู่ในช่วงประมาณ 75-80 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนตัว

(3) สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) ที่อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว จากข้อมูล ล่าสุดพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นดังนั้นหากการระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในประเทศ

(4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สรอ. เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักรวมทั้งค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่การใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ของจีนทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนตัวลงตามค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่ค่าเงินบาท และเงินสกุลเอเชียอื่นมีแนวโน้มแข็งค่า

2.2 ประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2552

คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 3.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2551 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ -0.9 เทียบกับร้อยละ 5.5 ในปี 2551 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 8.8 ของ GDPจากที่เกินดุลร้อยละ 0.5 ของ GDP ในปี 2551

ในการแถลงข่าวครั้งวันที่ 24 สิงหาคม 2552 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงร้อยละ(-3.5)-(-3.0) โดยมีค่ากลางของการประมาณการของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ -3.3 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ (-1.0)-(-0.5) และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.6 ของ GDP

ในการแถลงข่าววันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 นี้ สศช. คาดว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากกว่าร้อยละ 3.0 น้อยลงจึงได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงของการประมาณการเดิมเป็นร้อยละ -3.0 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ -0.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.8 ของ GDP ด้วยเหตุผลดังนี้

(1) เศรษฐกิจโลกหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมโดยเศรษฐกิจโลกในปี 2552 มีแนวโน้มที่จะหดตัวร้อยละ1.1 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 1.8 — 1.3 ในสมมติฐานการประมาณการเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าร้อยละ 3.0 ลดลง และส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มที่จะหดตัวน้อยลงกว่าที่ประมาณการไว้เดิมเล็กน้อยจากร้อยละ 13.6 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นการหดตัวร้อยละ 13.2 ในการประมาณการครั้งนี้รวมทั้งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม 13.2 ล้านคนในการประมาณการครั้งที่แล้วเป็น 13.7 ล้านคนในการประมาณการครั้งนี้

(2) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) ที่มีความรุนแรงในช่วงต้นไตรม สที่สาม และผลกระทบสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนเมษายน 2552 โดยคาดว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนหดตัวร้อยละ 1.2 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.8 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552

(3) ปริมาณการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 22.8 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 20.3 ในการประมาณการครั้งก่อนเนื่องจากการฟื้นตัว ของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่ประมาณการไว้เดิม

(4) ดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุล 21.8 พันล้าน ดอลลาร์ สรอ. เมื่อรวมกับการเกินดุลบริการคาดว่าจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ประมาณ 22.3 พันล้าน ดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณร้อยละ 8.8 ของ GDP ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับประมาณการการส่งออก

3. แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2553

3.1 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2553

เศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ 2.8 — 3.2 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 1.1 ในปี 2552 แต่ต่ำกว่าการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.6 ในปี 2545-2550 ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ยังมีแนวโน้มอ่อนตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักและค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย แรงกดดันด้าน เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.3 ในปี 2545-2550

เศรษฐกิจโลกในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 — 3.2 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการหดตัวประมาณร้อยละ 1.1 ในปี 2552 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.6 ในช่วงปี 2545 — 2550 โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนำโดยการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 เนื่องจากภาคการเงินและการผลิตยังคงมีความแข็งแกร่งและแรงส่งจากฐานการฟื้นตัวที่เป็นวงกว้างมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี2552 เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ร้อยละ 1.5 เนื่องจากภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะที่การว่างงานสูงและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขณะที่การปรับตัวของภาคการเงินยังไม่ปรับสู่ภาวะปกติ การอ่อนตัวของอุปสงค์ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในประเทศอุตสาหกรรมทำให้ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ ประมาณร้อยละ 2.5 เทียบกับการหดตัวประมาณร้อยละ 12.0 ในปี 2552 และต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.3 ในปี 2545-2550

อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง มีความไม่แน่นอนและขึ้นอยู่กับทิศทางและช่วงเวลาในการยกเลิกมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Exit Strategy) ซึ่งยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในกรณีฐานคาดว่าการขยายตัวที่ยังต่ำ กว่าศักยภาพจะทำ ให้ประเทศอุตสาหกรรมสำ คัญมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายทางการคลังและการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกก่อนที่จะเริ่มปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อลดแรงกดดันด้านการคาดการณ์เงินเฟ้อ

ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว ปัจจัยพื้นฐานของการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรก เมื่อรวมกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายปริมาณเงินในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจคาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าขั้นปฐม รวมถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งจะส่งผลให้มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องและฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ทำให้ประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มที่เริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวในช่วงครึ่งปีแรก หรือปรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2552 เนื่องจากการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินของประเทศต่าง ๆ ความต้องการเงินทุนเพื่อชดเชยการขาดดุลการคลัง และความต้องการเงินทุนของภาคเอกชนในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว

แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ

(1) สหรัฐอเมริกา คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 2.0 เทียบกับการหดตัวประมาณร้อยละ 2.6 ในปี 2552 และการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.8 ในปี 2545-2550 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจคาดว่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากภาครัฐเริ่มลดลงตามลำดับ ในขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชนยังคงอ่อนตัวเนื่องจากภาระหนี้สินของครัวเรือนและธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและคาดว่าจะเข้าสู่ระดับสูงสุดที่ประมาณร้อยละ 11-12 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง แนวโน้มดังกล่าวทำให้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายการขยายปริมาณเงินและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีแรก13 ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้เงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักรวมทั้งค่าเงินในเอเชีย อย่างไรก็ตามธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่สาม หรือในไตรมาสสุดท้ายของปีเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากการขยายปริมาณเงินในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างช้าๆ และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้นในช่วง ครึ่งปีหลังคาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 0.5 เทียบกับประมาณร้อยละ -1.2 ในปี 2552 ในขณะที่การอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. และการอ่อนตัวของอุปสงค์ในประเทศคาดว่าจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลง

(2) กลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0.7 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 4.2 ในปี 2552 และการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.8 ในช่วงปี 2545 — 2550 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 เทียบกับร้อยละ 0.3 ในปี 2552 การฟื้นตัวมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ นำโดยการฟื้นตัวของเยอรมนีและฝรั่งเศสซึ่งคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.2 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ ในขณะที่ สเปน และอิตาลี คาดว่าจะยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ความแตกต่างในวัฏจักรเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกมี แนวโน้มที่จะทำให้อัตราว่างงานของกลุ่มประเทศยูโรโซนโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในครึ่งปีแรก ในขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างช้า ๆ เมื่อรวมกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าสหรัฐฯ (การขยายตัวของปริมาณเงินในช่วงวิกฤติการณ์น้อยกว่าสหรัฐฯ) และแรงกดดันด้านการแข็งค่าของสกุลเงินยูโรคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหภาพยุโรปจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในช่วงหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายในสหรัฐฯ

(3) ญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.6 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 5.4 และการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.7 ในช่วงปี 2545 — 2550 โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 ยังถูกจำกัดโดยอุปสงค์โลกที่อ่อนตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่น ในขณะที่การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนยังมีข้อจำกัดจากการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง การลดลงของมูลค่าทรัพย์สิน และการอ่อนตัวของค่าเงินเยน การขยายรายจ่ายภาครัฐยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่การลงทุนภาคธุรกิจมีข้อจำ กัดทั้งจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ การอ่อนตัวของอุปสงค์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้ระดับราคาในปี 2553 ลดลง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ -0.5 ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นยังไม่ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปี 2553

(4) ประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชีย การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ทำให้ฐานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขยายตัวกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของการค้าในภูมิภาคซึ่งจะสนับสนุนให้พลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียมีความมั่นคงมากขึ้น เมื่อรวมกับแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวประมาณร้อยละ 6.8 เทียบกับประมาณร้อยละ 5.0 ในปี2552 แต่ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.9 ในช่วงปี 2545-2550 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียยังคงมีข้อจำกัดที่สำ คัญ คือ การฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของภูมิภาคเอเชียและแนวโน้มการแข็งค่าของสกุลเงินต่าง ๆ ในภูมิภาค ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.8 นำ โดยการขยายตัวของจีนที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 9.0 อินเดียร้อยละ 7.0 กลุ่มประเทศ NIEs และ ASEAN-5 ร้อยละ 3.6 และ 4.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการขยายสินเชื่อจำ นวนมหาศาลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียในปี 2553 ยังคงขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นสำคัญ

3.2 แนวโน้มราคาน้ำมันปี 2553

(1) คาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 80 - 90 ดอลลาร์ สรอ. สูงกว่าราคาเฉลี่ยของ เดือนตุลาคมที่ระดับ 73.01 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล และทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยในปี 2552 อยู่ที่ประมาณ 62-64 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 93.65 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในปี 2551 โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีจะปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย การอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. และการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของประเทศตะวันตก ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วง 10 เดือนแรกของปีเฉลี่ยเท่ากับ 58.63 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล และราคา ณ วันที่ 10 พ.ย.52 เท่ากับ 77.33 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล

ประมาณการราคาน้ำมันปี 2552

          EIA (ณ สิงหาคม 2552)                     WTI = 59.94 US$/Barrel
          Merrill Lynch (ณ สิงหาคม 2552)           WTI = 58.50 US$/Barrel
          Morgan Stanley (ณ กรกฎาคม 2552)         WTI = 65 US$/Barrel
          Goldman Sachs (ณ มิถุนายน 2552)           WTI = 64 US$/Barrel และ ณ สิ้นปี WTI = 85

US$/Barrel

(2) ในปี 2553 ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับสูงกว่าราคาเฉลี่ยของปี2552 โดย Energy Information Administration (EIA) คาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ WTI ในปี 2553 จะอยู่ที่ 78.13 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล และหลายสถาบัน คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในปี 2553 จะอยู่ในช่วง 60-80 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สศช. คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ จะอยู่ในช่วง 75-85 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลสูงกว่าราคาเฉลี่ยของปี 2552 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 62-63 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล

(3) ปัจจัยที่ทำให้คาดว่าราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยในปี 2553 จะสูงกว่าราคาเฉลี่ยในปี 2552 ประกอบด้วย

  • ปริมาณความต้องการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นสำคัญ จากรายงานภาวะตลาดน้ำ มัน เดือนพฤศจิกายนของ EIA คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งจะเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส และปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโดยรวมของโลกในปี 2553 จะเพิ่มขึ้น 1.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปี 2552 โดยความต้องการใช้น้ำมันส่วนใหญ่จะมาจากประเทศนอกกลุ่ม OECD ที่ปริมาณความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น 1.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ของกลุ่มประเทศ OECD จะเพิ่มขึ้นเพียง 0.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ปริมาณความต้องการใช้ที่มากขึ้นจะเป็นไปตามการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดย EIA ได้คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกในปี 2553 จะอยู่ที่ 85.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับผลิตที่ 84.19 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2552 โดยประเทศนอกกลุ่มโอเปกจะผลิตเพิ่มขึ้น 0.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเป็นการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศรัสเซียเดิม (Former Soviet Union : FSU) ประเทศบราซิล และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะชดเชยการผลิตที่ลดลงของประเทศเม็กซิโก และประเทศแถบทะเลเหนือ สำหรับประเทศกลุ่มโอเปกจะผลิตเพิ่มขึ้น 1.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน และการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้กลุ่มโอเปกจะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 22 ธันวาคม 2552 ที่ประเทศแองโกลา เพื่อประเมินสถานการณ์ตลาดน้ำมัน
  • ปริมาณน้ำมันสำรองของกลุ่มประเทศ OECD มีแนวโน้มลดลงเข้าสู่ระดับปกติ โดยจากตัวเลขเบื้องต้น ณ สิ้นไตรมาสที่สาม ปี 2552 กลุ่มประเทศ OECD มีปริมาณน้ำมันสำรอง 2,753 ล้านบาร์เรล สามารถพอใช้ได้ถึง 61 วัน สูงกว่าปกติที่ควรอยู่ที่ 55 วัน อย่างไรก็ตาม EIA คาดการณ์ว่าในปี 2553 ปริมาณน้ำมันสำรองของกลุ่มประเทศ OECD จะปรับลดลงเข้าสู่ระดับปกติ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
  • ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มอ่อนค่าลง มีแนวโน้มว่าค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2553 จะอ่อนค่าลง เนื่องจากภาวะ

เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่ฟื้นตัวชัดเจนเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ดังนั้นการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. จะทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินออกจากตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้มาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดน้ำมันในฐานะที่เป็นการลงทุนทางเลือก และเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินที่ลดลงและอัตราเงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้น

ปริมาณการใช้น้ำมันของโลก

(million barrels per day)

----------- year-------------- ------------ 2009 ----------

Consumption              2007    2008   2009_f   2010_f      1st     2nd     3rd   4th_f
OECD                    49.13   47.58    45.46    45.58    46.42   44.33   45.16   45.96
  U.S. (50 States)      20.68   19.50    18.72    19.01    18.84   18.47   18.71   18.86
  U.S. Territories       0.32    0.27     0.27     0.27     0.26    0.27    0.27    0.27
  Canada                 2.36    2.26     2.17     2.19     2.20    2.06    2.18    2.24
  Europe                15.30   15.35    14.74    14.71    14.92   14.22   14.81   14.99
  Japan                  5.01    4.78     4.23     4.00     4.72    4.03    3.91    4.26
  Other OECD             5.46    5.41     5.34     5.39     5.47    5.28    5.28    5.34
Non-OECD                36.67   38.20    38.68    39.82    37.12   39.24   39.28   39.02
  Former Soviet Union    4.28    4.35     4.21     4.18     4.09    4.19    4.24    4.30
  Europe                 0.79    0.80     0.79     0.80     0.77    0.77    0.82    0.82
  China                  7.58    7.83     8.21     8.66     7.62    8.44    8.33    8.45
  Other Asia             8.78    9.31     9.33     9.54     9.30    9.53    9.17    9.33
  Other Non-OECD        15.24   15.91    16.13    16.63    15.33   16.32   16.73   16.13
Total WorldConsumption  85.80   85.78    84.14    85.40    83.54   83.57   84.45   84.99

ที่มา : Energy Information Administration (EIA)

(ยังมีต่อ).../3.3 แนวโน้มเศรษฐกิจไทย..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ