(ต่อ6)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2552-2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 24, 2009 14:57 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3.3 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2553

ประเด็นหลัก: เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้าย ปี 2552 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามแรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต่อการขยายตัวของการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากอุปสงค์ในประเทศอุตสาหกรรมที่ยังอ่อนตัว ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้นการบริหารเศรษฐกิจจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลให้อุปสงค์ในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการรักษาความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ โดยที่ภาพรวมของการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะมีแหล่งที่มาของการขยายตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น

  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระดับที่น่าพอใจภายใต้เงื่อนไขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง การดูแลแก้ไขปัญหาการลงทุนภาคเอกชน และการรักษาความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของอุปสงค์ในตลาดโลก ขณะที่การลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มีความคืบหน้ามากขึ้น เมื่อรวมกับแรงส่งจากฐานเศรษฐกิจที่ต่ำ (Low Base Effect) ในปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในช่วงครึ่งปีหลัง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะแข็งแกร่งมากขึ้นซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อภาคการส่งออกของไทยมากขึ้น การดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐส่งผลต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ในขณะที่ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากพลวัตรการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง เนื่องจากฐานที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 แม้ว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การใช้จ่ายภาครัฐ และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกจะเริ่มกระตุ้นให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ตาม

  • อย่างไรก็ตามแรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัดจากอุปสงค์ในประเทศอุตสาหกรรมที่ยังอ่อนตัวซึ่งทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ต่ำรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลหลักการขยายตัวของการส่งออกในปี 2553 ยังมีอุปสรรคจาก (1)การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยในช่วง 2545-2550 (2) อุปสงค์ในประเทศอุตสาหกรรมยังอ่อนตัวเนื่องจากการว่างงานที่สูงและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ในขณะที่การอ่อนตัวของค่าเงินจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าของประเทศอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น (3)อุปสงค์ในประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีขนาดจำ กัดรวมทั้งขึ้นอยู่กับระดับการฟื้นตัวในประเทศอุตสาหกรรมและความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ปริมาณการค้าโลกในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5 ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.3 ในช่วงปี 2545-2550 เมื่อรวมกับแนวโน้มการอ่อนตัวของค่าเงินหยวนตามการอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ปัจจัยดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นข้อจำ กัดต่อการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2553
  • แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะมีสาเหตุมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงการสิ้นสุดลงของนโยบาย “5 มาตรการ 6 เดือนเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน” ในเดือนธันวาคม 2552 ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันคาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์ท่ามกลางการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจ ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลก การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพืชพลังงาน และผลกระทบจากความเสียหายในแหล่งผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนั้น แนวโน้มการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. จะยังคงสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ในขณะที่อัตราดอกเบี้ย (Nominal Term) มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก รวมทั้งปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้นและความต้องการเงินทุนของภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออก การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนซึ่งเป็นสถานการณ์ที่จะต้องระมัดระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด
  • ในปี 2553 การบริหารเศรษฐกิจยังต้องให้ความสำคัญกับการดูแลรวมถึงกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำ กัดด้านการขยายตัวของการส่งออก โดยเฉพาะการดำ เนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นอุปสงค์และการลงทุนในประเทศควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว การดูแลรักษาเสถียรภาพด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ การเร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการลงทุน รวมทั้งการดำ เนินนโยบายการเงิน การบริหารสภาพคล่องและการรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้สภาพแวดล้อมของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกรวมทั้งแรงกดดันด้านอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  • เศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะมีแหล่งที่มาของการขยายตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่จะกลับมาขยายตัวเทียบกับการหดตัวในปี 2552 การลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการขยายการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และการสะสมสินค้าคงคลังหลังจากการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในปี 2552 อย่างไรก็ตามแรงสนับสนุนจากการส่งออกสุทธิจะลดลงในช่วงของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่จะเป็นการปรับเปลี่ยนจากแรงสนับสนุนของการส่งออกสุทธิที่เกิดจากการหดตัวของการนำเข้าสูงกว่าการหดตัวของการส่งออกในปี 2552 มาเป็นแรงสนับสนุนของการส่งออกสุทธิที่น้อยลง เนื่องมาจากการนำเข้าขยายตัวสูงกว่าการส่งออกในปี 2553

ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

  • การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นวงกว้างและถูกขับเคลื่อนโดยอุปสงค์ภาคเอกชนมากขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกและภาคการผลิตของไทยปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าแรงส่งจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีข้อจำกัดก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้นรวมทั้งมาตรการประกันรายได้เกษตรกรจะทำให้ฐานรายได้ของภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นเป็นวงกว้างและสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน
  • การดำ เนินการขยายการลงทุนของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในขณะที่การขยายตัวของภาคการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก โดย ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2552 มีเม็ดเงินภายใต้โครงการที่ผ่านการอนุมัติแล้วจำนวน 1.296 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นการเบิกจ่ายภายใต้กรอบเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 350,000 ล้านบาท และคาดว่าในปีงบประมาณ2553 จะมีงบประมาณที่เบิกจ่ายได้จำ นวน 288,246 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมโครงการที่เป็นการลงทุนโดยตรงและมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนชุมชนรวมถึงเศรษฐกิจฐานราก การประกันรายได้เกษตรกร และการเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
  • แรงส่งจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งในด้านการจ้างงาน ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ การใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะมีความต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 และเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553

ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด

  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวในปี 2552 แต่การฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญๆ ยังมีข้อจำกัดจากการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 จะยังคงขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนทิศทางมาตรการทางการเงินในประเทศสำคัญ ๆ ซึ่งล่าสุด จีนเริ่มระมัดระวังการกระตุ้นเศรษฐกิจและจำกัดการปล่อยสินเชื่อในหลายอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นประกาศเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวต่อไป
  • ความต่อเนื่องของการดำเนินมาตรการภาครัฐและพลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการขับเคลื่อนมาตรการการลงทุนภาครัฐและการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการดำเนินมาตรการภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งทางความคิดที่อาจพัฒนาไปสู่การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ และมีความเข้มข้นมากขึ้นจนพัฒนาไปสู่ระดับที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  • การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน เนื่องจากการอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. และความต้องการเก็งกำไรและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำ ให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชาชน
  • อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดมากขึ้นในปี 2553 รวมทั้งความต้องการเงินทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีความล่าช้าเนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
  • ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องตามแนวโน้มการอ่อนตัวของเป็นวงกว้างของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักรวมทั้งค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่การใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ของจีนทำให้ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนตัวพร้อม ๆ กับค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่ค่าเงินบาทและเงินเอเชียอื่นๆ ซึ่งอาจกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออก
  • รายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2553 ยังมีข้อจำกัดจากภาษีรายได้ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานรายได้ปี 2552 การลดภาษีภายใต้กรอบอาฟต้าเพิ่มขึ้น การชะลอลงของราคาน้ำมันเทียบกับราคาในปัจจุบันซึ่งมีผลของการเก็งกำไรในช่วงแรกของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่มาก

3.3.1 ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2553

  • เศรษฐกิจโลกในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.8 — 3.2 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2552 ที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 1.1 แต่ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.6 ในปี 2545 — 2550 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอุปสงค์โลกนำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชีย ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งทำให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5 ต่ำกว่าการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.3 ในปี 2545 — 2550 แต่ปรับตัวดีขึ้นมากจากการหดตัวประมาณร้อยละ 12.0 ในปี 2552
  • ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2553 เท่ากับ 75 — 85 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาคาดการณ์บาร์เรลละ 63 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2552 แต่ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 93.65 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลในปี 2551 เทียบกับการคาดการณ์ของสถาบันต่างๆ ที่คาดว่าราคาน้ำมัน (WTI) ในปี 2553 จะอยู่ในช่วง 60-80 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรล โดยปัจจัยสำคัญ ๆ ที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้แก่ (1) แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (2) ปริมาณน้ำ มันสำ รองของกลุ่มประเทศ OECD มีแนวโน้มลดลงเข้าสู่ระดับปกติตามภาวการณ์ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (3) การอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์ สรอ.ท่ามกลางสภาพคล่องส่วนเกิน การฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจและการคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำ ให้มีแรงจูงใจในการลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่จะทำให้ราคาน้ำมันในปี 2553 ไม่สูงมากนักได้แก่ (1) พลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนตัวทำให้ความต้องการใช้น้ำมันยังไม่เพิ่มเร็วเกินไป (2) กฎหมายที่จะให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าของสหรัฐฯ (The Commodity Futures Trading Commission: CFTC) เ ข้า ไ ป ค ว บ คุมการเก็งกำไรในราคาน้ำมัน (3) การขาดทุนของ Hedge Fund จากการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าในช่วงปี 2551-2552 คาดว่าจะทำให้แรงจูงใจในการเก็งกำไรลดลงและมีความระมัดระวังตัวในการเก็งกำไรมากขึ้น (4) แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว (5) ความตึงเครียดด้านการเมืองระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าปี 2551
  • ราคาสินค้าส่งออกในรูปของเงินดอลลาร์ สรอ.คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ในขณะที่ราคานำเข้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการค้า (Term of Trade)ปรับตัวลดลง การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกและนำเข้าเป็นการปรับตัวจากฐานที่ต่ำในปี 2552 และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เนื่องจากความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเก็งกำไรรวมทั้งราคาสินค้าเกษตรหลายรายการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในแหล่งผลิตสำคัญ ๆ เช่น ข้าว กาแฟ และอ้อย และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาพืชพลังงาน อย่างไรก็ตามคาดว่าราคาสินค้าอุตสาหกรรมจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนักเนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกยังอ่อนตัวและประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ๆ โดยเฉพาะจีนยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงและมีความได้เปรียบด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้การแข่งขันด้านราคาในปี 2553 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2553 คาดว่าจะมีประมาณ14.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 13.7 ล้านคนในปี 2552

3.3.2 ประมาณการเศรษฐกิจปี 2553: เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้ม

ขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 2.5-3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.3 ของ GDP โดยที่เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4 ภายใต้เงื่อนไขของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกร้อยละ 2.8-3.2 การดำเนินมาตรการรัฐบาลภายใต้กรอบทิศทางการบริหารเศรษฐกิจในปี 2553 อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิผล การดูแลรักษาเสถียรภาพด้านต่าง ๆ เพื่อให้การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การเร่งรัดดูแลแก้ไขปัญหาการลงทุนภาคเอกชน และราคาน้ำมันไม่สูงเกินกว่าบาร์เรลละ 75 ดอลลาร์สรอ.

(ยังมีต่อ).../3.3.3 องค์ประกอบของการขยา..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ