สรุปสำหรับผู้บริหารการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2556

ข่าวผลสำรวจ Thursday March 20, 2014 11:03 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแหงชาติ ดำเนินการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2556 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม พ.ศ. 2556 จากจำนวนครัวเรือนตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือนการสำรวจที่ผ่านมาในปี 2546 - 2548 สำรวจเฉพาะการอ่านหนังสือของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป และตั้งแต่ปี 2551 ได้สำรวจเพิ่มเรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี) ผลการสำรวจที่สำคัญในปี 2556 สรุปได้ดังนี้

1. การอ่านหนังสือของเด็กเล็ก

การอ่านหนังสือของเด็กเล็ก ในที่นี้หมายถึงการอ่านหนังสือของเด็กเล็กที่อ่านในช่วงนอกเวลาเรียนด้วยตัวเอง รวมทั้งที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง

1.1 อัตราการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน

จากผลการสำรวจปี 2556 พบว่า เด็กเล็กที่อ่านหนังสือมีประมาณ 2.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 58.9 เด็กผู้หญิงมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าเด็กผู้ชายเล็กน้อย (ร้อยละ 60.5 และร้อยละ 57.3 ตามลำดับ) นอกจากนี้ อัตราการอ่านหนังสือของเด็กเล็กมีความแตกต่างกันระหว่างเขตการปกครองและภาค โดยในเขตเทศบาลมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่านอกเขตเทศบาล เด็กเล็กในกรุงเทพมหานครมีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุด (ร้อยละ 70.1) ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด (ร้อยละ 53.5)

เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจที่ผ่านมา พบว่าอัตราการอ่านของเด็กเล็กในปี 2554 มีร้อยละ 53.5 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 58.9 ในปี 2556 เด็กหญิงมีอัตราการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นมากกว่าเด็กผู้ชาย เด็กเล็กที่อาศัยนอกเขตเทศบาลและภาคเหนือมีอัตราการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่น

1.2 ความถี่ของการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน

เด็กเล็กที่อ่านหนังสือมีความถี่ในการอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 2 - 3 วัน มากที่สุด (ร้อยละ 37.6) รองลงมาคือ อ่านทุกวันและอ่านสัปดาห์ละ 4 - 6 วัน ใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 26.1 และ 22.9 ตามลำดับ) และพบว่า มีเด็กเล็กที่อ่านหนังสือแต่อ่านนาน ๆ ครั้งอยู่ร้อยละ 4.8

เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มเด็กเล็กที่อ่านหนังสืออย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ กับกลุ่มที่อ่านนาน ๆ ครั้ง พบว่า เด็กเล็กมีความถี่ในการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น คือเด็กเล็กที่อ่านหนังสืออย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์มีเพิ่มมากขึ้น (ปี 2556 มีร้อยละ 95.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 93.8 ในปี 2554) ในขณะที่ร้อยละของเด็กเล็กที่อ่านนาน ๆ ครั้งมีแนวโน้มลดลง

2. การอ่านหนังสือของประชากร (อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป)

2.1 อัตราการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน

จากผลการสำรวจปี 2556 พบว่า คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 81.8 ผู้ชายมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย(ร้อยละ 82.8 และ 80.8 ตามลำดับ) และเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า อัตราการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10.0 จากปี 2554 ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

เมื่อพิจารณาอัตราการอ่านหนังสือตามเขตการปกครองและภาค พบว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่านอกเขตเทศบาล (ร้อยละ 86.2 และ 78.2 ตามลำดับ) กรุงเทพมหานคร มีอัตราการอ่านหนังสือสูงที่สุด(ร้อยละ 94.6) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด (ร้อยละ 77.2)

2.2 กลุ่มวัย

การอ่านหนังสือของประชากรมีความแตกต่างกันตามวัย กลุ่มวัยเด็กมีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุดถึงร้อยละ 95.1 รองลงมาคือ กลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยทำงานและต่ำสุดคือ กลุ่มวัยสูงอายุ (ร้อยละ 90.1 83.1 และ 57.8 ตามลำดับ) และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า ปี 2556 การอ่านหนังสือของประชากรทุกกลุ่มวัย มีอัตราการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจากปี 2554

2.3 ระดับการศึกษา

จากผลการสำรวจ พบว่า การศึกษาและอัตราการอ่านหนังสือ มีความสัมพันธ์กันเชิงบวก กล่าวคือ ผู้มีระดับการศึกษาที่สูงกว่า มีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าผู้มีการศึกษาระดับต่ำกว่า

2.4 ประเภทของหนังสือที่อ่านนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน

หนังสือพิมพ์เป็นประเภทของหนังสือที่มีผู้อ่านสูงสุด คือ ร้อยละ 73.7 รองลงมาคือ วารสาร/เอกสารประเภทที่ออกเป็นประจำ (ร้อยละ 55.1) ตำรา/หนังสือ/เอกสารที่ให้ความรู้ (ร้อยละ 49.2) นิตยสาร (ร้อยละ45.6) และหนังสือ/เอกสารเกี่ยวกับคำสอนทางศาสนา (ร้อยละ 41.2) สำหรับนวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น และแบบเรียน/ตำราเรียนตามหลักสูตรมีผู้อ่านน้อยกว่าร้อยละ 40.0 (ร้อยละ 38.5 และ 29.5 ตามลำดับ) และหนังสือประเภทอื่น ๆ มีผู้อ่านเพียงร้อยละ 5.4

คนที่มีวัยแตกต่างกัน มีความสนใจเลือกประเภทหนังสือที่อ่านแตกต่างกัน โดยวัยเด็กอ่านแบบเรียน/ตำราเรียนตามหลักสูตรสูงสุดถึงร้อยละ 96.0 รองลงมาคือ นวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น สำหรับวัยเยาวชนและวัยทำงานส่วนใหญอ่านหนังสือพิมพ์แต่ลำดับรองลงมา มีความแตกต่างกันคือวัยเยาวชนชอบอ่านตำรา/หนังสือ/เอกสารที่ให้ความรู้ สวนวัยทำงานชอบอ่านวารสาร/เอกสารประเภทที่ออกเป็นประจำ สำหรับวัยสูงอายุส่วนใหญ่อ่านหนังสือ/เอกสารเกี่ยวกับคำสอนทางศาสนา รองลงมาคือ หนังสือพิมพ์

2.5 ประเภทเนื้อหาสาระของหนังสือที่อ่านนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน

เนื้อหาสาระที่ผู้อ่านหนังสือชอบอ่านมากที่สุด คือ ข่าว (ร้อยละ 54.3) รองลงมาคือ สารคดี/ความรู้ทั่วไป บันเทิง ความรู้วิชาการ และคำสอนทางศาสนา (ร้อยละ 36.4 32.3 23.2 และ 13.4 ตามลำดับ) ส่วนโฆษณา เนื้อหาสาระประเภทความคิดเห็น/วิเคราะห์ และอื่น ๆ มีผู้อ่านเพียงเล็กน้อย

2.6 เวลาเฉลี่ยที่ใช้อ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน

สำหรับผู้อ่านหนังสือที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปทั้งหมด ใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานเฉลี่ย 37 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนใช้เวลาอานหนังสือฯ เฉลี่ย 46 -50 นาทีต่อวัน มากกว่า กลุ่มวัยทำงานและสูงอายุที่ใช้เวลาอ่านหนังสือฯ เฉลี่ยประมาณ 31 - 33 นาทีต่อวัน

เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 พบว่า เกือบทุกวัยใช้เวลาอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ยกเว้นกลุ่มวัยสูงอายุที่ใช้เวลาอ่านหนังสือลดลง

2.7 วิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านหนังสือ

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป เกี่ยวกับวิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านหนังสือ พบว่าวิธีการรณรงค์ที่ได้รับการเสนอแนะมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ หนังสือควรมีราคาถูกลง(ร้อยละ 39.0) ปลูกฝังให้รักการอ่านผ่านพ่อ แม่/ครอบครัว (ร้อยละ 26.3 ) ให้สถานศึกษามีการรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน และส่งเสริมให้มีห้องสมุด/ห้องสมุดเคลื่อนที่/มุมอ่านหนังสือในชุมชน/พื้นที่สาธารณะ (มีร้อยละ 25.2 เท่ากัน) และรูปเล่ม/เนื้อหาน่าสนใจ หรือใช้ภาษาง่าย ๆ (ร้อยละ 23.2)

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

แท็ก ข้อมูล   นวนคร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ