เปิดผลโครงการการส่งเสริมใช้เครื่องจักรกลฯ สศก. มั่นใจ เกษตรกรได้ความรู้ ปรับซ่อมเครื่องจักรตนเองได้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 21, 2014 13:36 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ติดตามความก้าวหน้าโครงการการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร ปี 57 ในพื้นที่จังหวัด สระบุรี และลพบุรี เผย เกษตรกรที่เข้าอบรมสามารถปรับความรู้เพื่อใช้ซ่อมแซมเครื่องจักร ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมเครื่องจักรลงได้สูงสุด 1,200 บาทต่อปี

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรอบยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตร ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและใช้เครื่องจักรกลด้านการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน โดยมีพันธกิจที่ภาครัฐต้องดำเนินการในช่วงของแผนปี 2557 – 2561 ในด้านการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตร และระบบสนับสนุนการผลิต การจัดรูปแบบการผลิตให้สอดคล้องกับการใช้เครื่องจักรกล และการพัฒนาเทคโนโลยีตามความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการ

ในเรื่องดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร ปี 2557 ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนการผลิตของเกษตรกรรายย่อยในภาคเกษตรที่ขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันมีอายุสูงขึ้นและคนวัยหนุ่มสาวห่างหายการทำอาชีพเกษตรกรรม โดยโครงการฯ ได้มีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรหนึ่งของเกษตรกร ซึ่งมีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรง และทดแทนแรงงานในครัวเรือนที่เคลื่อนย้ายไปทำงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นในลักษณะของการซื้อ เช่า หรือจ้าง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง และเกษตรกรบางส่วนมีการนำเครื่องจักรกลมาใช้งานเพื่อให้คุ้มค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตร และจากการโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตรดังกล่าวพบว่า การดำเนินงานโครงการฯ ได้มีการจัดฝึกอบรมให้เกษตรกรมีความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซม ดูแลรักษา ให้เครื่องจักรกลสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และลพบุรี ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมร้อยละ 72 เป็นสมาชิกสหกรณ์ และร้อยละ 28 เป็นเกษตรกรทั่วไป โดยผู้เข้าอบรมร้อยละ 89 มีอาชีพหลักทำการเกษตร ได้แก่ อ้อยโรงงาน ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล้วย และผัก ซึ่งเกษตรกรร้อยละ 67 มีแรงงานในครัวเรือนทำการเกษตร เพียง 1 – 2 ราย/ครัวเรือน และส่วนใหญ่มีเครื่องจักรกลการเกษตร ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้า รถไถเดินตาม รถไถนั่งขับขนาดเล็กและใหญ่ เพื่อใช้ในการทำเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม พบว่า ก่อนเข้ารับการอบรมเครื่องจักรเหล่านั้นมีการชำรุดเสียหาย เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายแรงงานในการซ่อมเครื่องจักรกลเกษตรดังกล่าว ในอัตราค่าซ่อมตั้งแต่ 100 บาท ถึง 1,200 บาทต่อปี

ทั้งนี้ หลังผ่านการอบรมเกษตรกร ได้นำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับเครื่องจักรกลที่มีอยู่ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม โดยปรับใช้ความรู้ที่ได้รับนี้ไปซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรกลของตนเองให้อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมใช้งานได้ ซึ่งไม่ต้องเสียค่าแรงงานในการซ่อมอีกต่อไป โดยมีเกษตรกรร้อยละ 62 คาดว่าจะทำการซ่อมเครื่องจักรกลเอง ซึ่งสามารถประหยัดต้นทุนการผลิตได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ