ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 6, 2017 14:06 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯจำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก(ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว(ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้ามีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการข้าวเพื่อส่งออกตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,291 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,297 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.06

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,455 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,387 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.92

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 21,790 บาท ราคาลดลงจากตันละ 22,110 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.45

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,450 บาท ราคาทางตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 638 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,128 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 652 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,660 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.15

ข้าวหอมไทย สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 506 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,550 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 505 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,551 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 369 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,798 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 27 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 363 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,590 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 26 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,006 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 27 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.6836 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีความเป็นห่วงว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจว่าปริมาณน้ำในเขื่อนมีเพียงพอ ซึ่งไม่ต้องการให้ประเมินสถานการณ์น้ำแบบปีต่อปี แต่ต้องการให้มองสถานการณ์ต่อเนื่องไป 2-3 ปี เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว หากปีนี้ปริมาณฝนน้อยจะเกิดปัญหาและส่งผลกระทบในปี 2561 ที่อาจจะเกิดภาวะแล้งเหมือนเช่นปี 2558 และปี 2559 โดยปัจจุบันเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังแล้วไม่ต่ำกว่า 7.28 ล้านไร่ ซึ่งมากกว่าแผนที่กำหนดไว้ 4 ล้านไร่ อยู่ประมาณ 3.28 ล้านไร่ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ หรือซิงเกิลคอมมานด์ และกรมชลประทาน จะเป็นผู้ดูแลเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

ซึ่งที่ผ่านมา นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายของรัฐมนตรีฯ ที่จะขับเคลื่อนลงสู่ภาคปฏิบัติว่า จากการรายงานข้อมูลของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรถึงสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ประสบภัยแล้ว 1 จังหวัด คือ สระแก้ว เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 6,106 ราย พื้นที่เสียหายสิ้นเชิงกว่า 1 แสนไร่ คิดเป็นเงินช่วยเหลือ 111.83 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้ให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเป็นการช่วยเหลือเพื่อการอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำพูน ลำปาง นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด นครนายก ปราจีนบุรี สระบุรี ชัยนาท กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สระแก้ว กาญจนบุรี อุทัยธานี และอ่างทอง รวมทั้งสนับสนุนรถบรรทุกน้ำในกับจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนี้ ได้ส่งเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ 1) พื้นที่ปลูกข้าวนาปีและพืชไร่ จำนวน 6 จังหวัด ได้เก่ จังหวัดลำปาง น่าน บุรีรัมย์ เลย สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี และ 2) พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ พะเยา กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย แพร่ อุตรดิตถ์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม นครนายก สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครสวรรค์ ชัยนาท และอ่างทอง อย่างไรก็ตาม ปีนี้หากฝนมาล่าช้า มั่นใจว่าปริมาณน้ำจะมีเพียงพอไปถึงเดือนกรกฎาคมนี้

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง ขณะที่ผู้ซื้อข้าวจากต่างประเทศยังคงรอให้ราคาข้าวของ เวียดนามอ่อนตัวลงอีก 1-2 เดือน ซึ่งตรงกับช่วงฤดูเก็บเกี่ยวฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ (the Winter-Spring) โดยราคา เอฟโอบี ข้าวขาว 5% อยู่ที่ระดับ 345-350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงจาก 352-355 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน สมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association; VFA) ระบุว่า เวียดนามมีสต็อกข้าวคงเหลือ ณ สิ้นเดือนมกราคม ประมาณ 955,900 ตัน เป็นสต็อกข้าวของ บริษัท Vietnam Southern Food Corporation ประมาณ 318,000 ตัน บริษัท Vietnam Northern Food Corporation ประมาณ 109,800 ตัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 528,000 ตัน เป็นของบริษัทเอกชนรายอื่นๆ

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม รายงานว่า ณ วันที่ 15 มกราคม 2560 เวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 12.25 ล้านไร่ ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยภาคเหนือของเวียดนามปลูกข้าวประมาณ 0.58 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวในภาคใต้มีประมาณ 11.66 ล้านไร่ ลดลงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559

โดย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ประมาณกิโลกรัมละ 0.227 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับวันที่ 15 ธันวาคม 2559 โดยราคาข้าวที่หน้าคลังสินค้า ข้าวขาวราคากิโลกรัมละ 0.32 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.3 ข้าวหอม (Jasmine) 5% ราคากิโลกรัมละ 0.464 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ข้าวหอม (Fragrance) ราคากิโลกรัมละ 0.446 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ข้าวหอมพันธุ์ KDM (Kow Dak Mali) ราคากิโลกรัมละ 0.486 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ทั้งนี้ ราคาข้าวหอมในเวียดนามส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม รายงานสถานการณ์ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ 5 อันดับแรกของเวียดนาม ในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2559 ได้แก่ จีน ร้อยละ 36.0 กานา ร้อยละ 11.5 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 7.7 อินโดนีเซีย ร้อยละ 5.9 และมาเลเชีย ร้อยละ 5.4

ทั้งนี้ สมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) มีความกังวลถึงสถานการณ์ข้าวของเวียดนามที่ปริมาณอุปทานข้าวเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกข้าวที่มีสัญญาซื้อขายที่ทำไว้เมื่อปี 2559 มีปริมาณเพียง 547,000 ตัน ซึ่งลดลงร้อยละ 57.9 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ส่งออกได้มากถึง 1.3 ล้านตัน นอกจากนี้ เวียดนามยังมีข้าวคงคลัง ในปี 2560 เหลืออยู่ 990,000 ตัน มากกว่าปี 2559 ที่มีปริมาณ 700,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.4

สำหรับปีนี้ VFA ตั้งเป้าส่งออกประมาณ 5 ล้านตัน ขณะที่ปีที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวได้ 4.8 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่งอุปสรรคในการส่งออกข้าวของเวียดนาม คือ การที่เวียดนามไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศเพื่อนบ้านได้ ประกอบกับอุปสงค์ของผู้นำเข้าที่ลดลง ทำให้การส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากไม่สามารถเร่งปริมาณการส่งออกข้าวในช่วงต้นปีได้ จะส่งผลต่อตัวเลขการส่งออกของปี 2560

เดือนมกราคมที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 337,000 ตัน ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือลดลงร้อยละ 31 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงอยู่ที่ 144 ล้านดอลลาร์ หรือลดลงร้อยละ 33.8 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกในช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญของเวียดนาม คือ จีน ฟิลิปปินส์ และ ไอวอรี่โคสต์

แม้ว่าการส่งออกข้าวของเวียดนามจะมีปริมาณไม่มากนัก แต่ราคาข้าวในท้องตลาดของเวียดนามกลับสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอม ซึ่งประธานบริษัทข้าว Yen Ngoc ให้ความเห็นว่า ราคาข้าวเปลือกหอมที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากความต้องการบริโภคข้าวหอมของคนเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ปริมาณผลผลิตข้าวหอมลดลง เพราะเกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกข้าวเหนียว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือนธันวาคม 2559 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 432,784 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.98 เมื่อเทียบกับจำนวน 363,734 ตัน ในพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ 14.24 เมื่อเทียบกับจำนวน 504,651 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดเอเชีย จำนวน 299,710 ตัน ตลาดแอฟริกา จำนวน 55,775 ตัน ตลาดอเมริกา จำนวน 59,110 ตัน ตลาดยุโรปและเครือรัฐเอกราช (Europe and CIS countries) จำนวน 8,159 ตัน และตลาดออสเตรเลีย จำนวน 10,030 ตัน โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2559 เวียดนามส่งออกข้าวขาว 5% ปริมาณ 175,440 ตัน ข้าวขาว 10% ปริมาณ 9,716 ตัน ข้าวขาว 15% ปริมาณ 23,230 ตัน ตัน ข้าวขาว 25% ปริมาณ 9,209 ตัน ปลายข้าวขาว 100% ปริมาณ 18,583 ตัน ข้าวหอม (Jasmine rice) ปริมาณ 67,243 ตัน ข้าวเหนียว ปริมาณ 108,618 ตัน และข้าวชนิดอื่นๆ ปริมาณ 20,745 ตัน

ที่มา : Oryza.com, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์, VN Express

เกาหลี

คาดว่าการบริโภคข้าวต่อคนของประชาชนเกาหลีจะมีปริมาณลดลงในปี 2560 เนื่องจากคนเกาหลีปรับเปลี่ยนวิถีการรับประทานอาหาร โดยหันไปบริโภคพืชอาหารอื่นมากขึ้น เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ถั่ว และข้าวโพด ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปี 2560 อัตราการบริโภคข้าวต่อคนจะอยู่ที่ 59.6 กิโลกรัม หรือบริโภคคนละ 163 กรัม/วัน ซึ่งน้อยกว่าปี 2559 ที่มีอัตราการบริโภคต่อคนอยู่ที่ 61.9 กิโลกรัม หรือบริโภคคนละ 169.6 กรัม/วัน (อ้างอิงจาก the Korea Rural Economic Institute) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่อัตราการบริโภคข้าวต่อคนต่ำกว่า 60 กิโลกรัม หรือบริโภคเพียงร้อยละ 40 ของการบริโภคข้าวของคนเกาหลี ในปี 2513 ซึ่งมีการบริโภคข้าวคนละ 136.4 กิโลกรัม ทั้งนี้ การบริโภคข้าวของคนเกาหลีมีแนวโน้มลดลงตลอดตั้งแต่ปี 2527 ที่มีการบริโภคข้าวคนละ 130.1 กิโลกรัม และลดลงเรื่อยมา โดยในปี 2539 มีการบริโภคข้าวคนละ 104.9 กิโลกรัม เป็นการทำลายสถิติการบริโภคข้าวต่ำสุดที่เคยทำไว้ในปี 2506 ที่มี

การบริโภคข้าวคนละ 105.5 กิโลกรัม นอกจากนี้ ทางสถาบันยังมีการคาดการณ์ว่าการบริโภคข้าวจะลดลงไปถึงจุดที่มีการบริโภคข้าวคนละ 47.5 กิโลกรัม/ปี หากแนวโน้มการบริโภคข้าวยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ขณะที่การบริโภคข้าวของคนเกาหลีมีแนวโน้มลดลง แต่ปริมาณผลผลิตข้าวในปี 2559 กลับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลมีข้าวในสต็อกถึง 2 ล้านตัน ซึ่งอุปทานส่วนเกินนี้ส่งผลให้ราคาข้าว (80 กิโลกรัม/กระสอบ) ลดลงต่ำกว่า 130,000 วอน (หรือ 115 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3,989 บาท)

ทั้งนี้ รัฐบาลควรจะเชิญชวนให้คนเกาหลีมีการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างทางสังคมและประชากรเปลี่ยนไป ครัวเรือนมีสมาชิกเพียงคนเดียว และประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 เกาหลีมีครัวเรือนที่มีสมาชิกเพียงคนเดียวถึง 5.2 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 27.2 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด และกลายเป็นประเภทครัวเรือนที่มีมากที่สุดในเกาหลี โดยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2543 ที่มีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 7 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14 ในปี 2560

ที่มา : Yonhap News Agency

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 27 ก.พ. - 5 มี.ค.60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ