ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 4, 2017 13:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯจำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม นบข. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 7 โครงการ ดังนี้

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ด้านการผลิต

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ : ข้าวอินทรีย์ (กข.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ด้านการตลาด

(1) อบรม GMP/HACCP โรงสีติดดาว/4.0 นวัตกรรมข้าวและความรู้ด้านการตลาดและเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการโรงสี (คน.)

(2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (คน.)

(3) โครงการสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากบางพื้นที่มีฝนตกในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ข้าวเปลือกมีความชื้นสูง แต่โดยรวมแล้วตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,230 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,255 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,459 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,481 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.29

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 21,610 บาท ราคาลดลงจากตันละ 21,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.18

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 647 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,167 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 644 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,214 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47 แต่ลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 47 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 374 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,814 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 373 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,866 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 52 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,608 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 366 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,625 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 17 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 371 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,711 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,763 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 52 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.2611 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงเนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมีน้อยลง โดยข้าวนึ่ง 5% ราคาอยู่ที่ 371-376 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงจาก 372-377 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ค่าเงินรูปีแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 17 เดือน ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออก โดยในช่วงนี้ข้าวอินเดียไม่สามารถแข่งขันกับ ข้าวไทยที่มีราคาถูกกว่าได้ เนื่องจากผู้ซื้อจากแอฟริกาหันไปซื้อข้าวจากไทยและเวียดนามแทน

ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

นายโคลิน คาร์เตอร์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจการเกษตรและทรัพยากรแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส ระบุว่า ชั้นบนของโอโซนอาจส่งผลกระทบทางลบต่อผลผลิตข้าวอย่างหนัก โดยอาจได้รับผลกระทบมากถึงร้อยละ 2 ซึ่งนับเป็นสถิติที่สำคัญ เนื่องจากจีนผลิตข้าวได้ร้อยละ 30 ของการผลิตข้าวโลก แต่มีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่ส่งออกไปขายในตลาดโลก ผลผลิตที่เหลือนำไปบริโภคภายในประเทศ ซึ่งหมายความว่า ผลผลิตข้าวในจีนที่ลดลงอาจส่งผลกระทบต่อประเทศยากจนด้วย ทั้งนี้ มลพิษชั้นผิวโอโซนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับมลพิษจากไนโตรเจนไดออกไซด์ที่มาจากไอเสียของรถยนต์ โรงไฟฟ้า และโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นผลพวงจากการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในจีน

นายคาร์เตอร์ ระบุด้วยว่า ตัวแปรที่สำคัญอื่นๆ คือ การที่จีนประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหามลภาวะ และมลพิษ ทำให้สถานการณ์เรื่องนี้เลวร้ายลง ซึ่งหากตั้งข้อสังเกตจะเห็นว่ามลพิษในชั้นโอโซนในจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียเพิ่มขึ้นตามมา และส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวโลก ทำให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในอีกหลายปีข้างหน้า โดยเฉพาะแอฟริกา อินเดีย และปากีสถาน

ผลการวิจัยนี้ ยังกล่าวว่า ราคาข้าวอาจคุกคามความมั่นคงทางด้านอาหารของโลก ทำให้ชาติที่ยากจนที่สุดในโลก ซึ่งพึ่งพาข้าวเป็นหลัก มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะทุพโภชนาการและขาดแคลนอาหารมากขึ้น

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

แอฟริกาใต้

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ความต้องการบริโภคข้าวในปีการตลาด 2560/61 คาดว่าจะมีประมาณ 820,000 ตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากการที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวโพดปรับลดลงและผู้บริโภคก็จะหันไปบริโภคข้าวโพดแทนข้าว และข้าวสาลี (ปกติชาวแอฟริกาใต้จะนิยมบริโภคธัญพืชที่สำคัญทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ)สำหรับในปี 2559/60 นั้น คาดว่าความต้องการบริโภคข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 880,000 ตัน

การนำเข้าข้าว ในปีการตลาด 2560/61 คาดว่าจะมีประมาณ 1 ล้านตัน ลดลงจากปี 2559/60 ที่คาดว่าจะมีการนำเข้าประมาณ 1.04 ล้านตัน โดยในปีปัจจุบัน (พฤษภาคม 2559-มกราคม 2560) แอฟริกาใต้นำเข้าข้าวแล้วประมาณ 775,477 ตัน ขณะที่ในปี 2558/59 มีการนำเข้าประมาณ 944,1921 ตัน โดยนำเข้าจากประเทศอินเดียประมาณ 269,825 ตัน และไทย 597,623 ตัน

สำหรับการส่งออกนั้น แอฟริกามีการส่งออกข้าวจำนวนเล็กน้อยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปี 2558/59 มีการส่งออกประมาณ 131,370 ตัน และในปี 2559/60 นี้ คาดว่าจะมีประมาณ 150,000 ตัน และเพิ่มเป็น 170,000 ตัน ในปี 2560/61

ที่มา USDA, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 27 มี.ค. - 2 เม.ย. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ