ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 1, 2017 14:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯจำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม นบข. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 7 โครงการ ดังนี้

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ด้านการผลิต

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ : ข้าวอินทรีย์ (กข.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ด้านการตลาด

(1) อบรม GMP/HACCP โรงสีติดดาว/4.0 นวัตกรรมข้าวและความรู้ด้านการตลาดและเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการโรงสี (คน.)

(2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (คน.)

(3) โครงการสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงนี้ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาด และผู้ประกอบการโรงสีบางรายต้องการข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกไว้

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,084 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,785 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,452 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.46

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 20,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,790 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.20

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 663 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,653 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 651 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,191 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.84 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 462 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 387 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,223 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 383 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,056 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.04 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 167 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 372 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,710 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 371 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,647 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 63 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,325 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 385 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,124 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.20 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 201 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.1667 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว ขณะที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศมีน้อยลง เพราะราคาข้าวสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะไทยที่ราคาข้าวเก่าต่ำกว่าเวียดนาม ประกอบกับผู้ซื้อมีความกังวลในเรื่องคุณภาพข้าวหลังจากมีฝนตกลงมาในพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญ ทำให้ข้าวมีความชื้นสูง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการขนส่ง

โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 350-355 ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

จากสถิติของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม ในช่วง 3 เดือนแรกปี 2560 เวียดนามส่งออกข้าวได้ปริมาณรวม 1.3 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 18.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2559 โดยมีมูลค่าการ ส่งออก (ราคา FOB) รวม 566 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2559 ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ 5 อันดับแรกของ เวียดนามในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2560 ได้แก่ จีน (ร้อยละ 35.9) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 24.8) โกตดิวัวร์(ร้อยละ 5.5) มาเลเชีย (ร้อยละ 3.7) และกานา (ร้อยละ 3.1)

ตามรายงานของสถาบันวิจัยการบริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนกลางของเวียดนาม (Central Institute for Economic Research: CIEM) แสดงให้เห็นว่า การผูกขาดในการส่งออกข้าวของสมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) โดยการกำหนดราคาขั้นต่ำและการจัดสรรโควตาการส่งออกข้าว ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกข้าวรายอื่นๆ นอกจากนี้ หลังจากบริษัทส่งออกข้าวลงนามสัญญาซื้อขายข้าวแล้ว ยังต้องรายงานให้ VFA ทราบภายใน 3 วันทำการด้วย ทั้งนี้ ผู้จัดทำรายงานฯ เปิดเผยว่า ข้อกำหนดหลายข้อเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกข้าวของเวียดนามในการเข้าสู่ตลาดโลก อาทิ ผู้ส่งออกข้าวต้องมีคลังเก็บข้าวที่มีความจุขั้นต่ำ 5,000 ตัน จำนวน 1 แห่ง โรงสีข้าวต้องมีกำลังการผลิต 10 ตันต่อชั่วโมง จำนวน 1 โรง และต้องส่งออกข้าวไปต่างประเทศในระยะเวลา 12 เดือนติดต่อกัน รวมทั้งกำหนดจำนวนผู้ประกอบการที่อนุญาตให้ส่งออกข้าวได้ไม่เกิน 150 ราย ผู้ส่งออกจะถูกยึดใบอนุญาตการส่งออก หากส่งออกข้าวไปต่างประเทศต่ำกว่า 10,000 ตันต่อปี ภายในระยะเวลา 2 ปี และบริษัทที่มีพื้นที่เพาะปลูกแบบร่วมมือกับเกษตรกรหรือรับซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยตรงจะได้รับการจัดลำดับความสำคัญเป็นพิเศษ นอกจากนั้น ยังจำกัดจำนวนบริษัทค้าข้าวที่ไม่มีความร่วมมือกับเกษตรกร และในระยะยาวบริษัทส่งออกข้าวต้องพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกของตนเองโดยร่วมมือหรือรับซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยตรง

ขณะที่นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้กล่าวในงานประชุมหารือแนวทางพัฒนาการค้าข้าวในจังหวัด An Giang ว่าต้องกฎระเบียบที่ซับซ้อนในการส่งออกข้าว ควรยกเลิกการจำกัดจำนวนบริษัทส่งออกข้าว และยกเลิกอำนาจหน้าที่ของ VFA ในการกำหนดราคาขั้นต่ำและการจัดสรรโควตาการส่งออกข้าว

ที่มา Oryza.com, Riceonline.com, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงขยับตัวสูงขึ้นจากที่ค่าเงินรูปียังคงแข็งค่าขึ้น ประกอบกับราคาข้าวเปลือกในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ในช่วงนี้ความต้องการข้าวจากต่างประเทศลดลง สวนทางกับราคาข้าวที่ขยับสูงขึ้น โดยข้าวนึ่ง 5% ราคาตันละ 384-389 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากตันละ 382-387 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินรูปีแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 5.2 ซึ่งใกล้เข้าสู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 20 เดือน ขณะที่อุปทานข้าวในประเทศเริ่มลดลง เพราะการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูการผลิตฤดูร้อน (summer-sown crop) ลดลงแล้ว โดยอีกไม่นานจะเริ่มมีการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูการผลิตฤดูหนาว (winter crop) ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มอ่อนตัวลง

ที่มา Oryza.com และ Riceonline.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 24 - 30 เม.ย. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ