สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 1, 2019 13:55 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 25 - 31 มกราคม 2562

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด10 โครงการดังนี้

(1) ด้านการผลิต*ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)

2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์

3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง

4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)

5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร

7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด
  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการนบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิสัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,393 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,914 บาท บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.21

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,687 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,633 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.70

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,590 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9825

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวขาว 5% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับลดลงก่อนที่จะเข้าสู่เทศกาล Tet (the Lunar New Year Holiday) ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 340 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากตันละ 355-360 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยช่วงนี้ภาวะการค้าค่อนข้างซบเซาและจะยังคงเป็นเช่นนี้ไปจนถึงช่วงสิ้นสุดเทศกาล Tet หลังจากนั้น คาดว่าภาวะการค้าจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวฤดูใหม่จะออก สู่ตลาดปริมาณมาก

ทางด้านวงการค้าข้าว ระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะใช้มาตรการรับซื้อข้าวเพื่อเก็บสต็อกไว้ เป็นการพยุงราคาข้าวไม่ให้ลดต่ำลงมากกว่านี้ ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้มีการรับซื้อข้าว เพราะในช่วงเวลานั้นราคาข้าวในตลาดอยู่ในระดับสูงจึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงตลาด

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the General Statistics Office) คาดการณ์ว่า ในเดือนมกราคมนี้ เวียดนามจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 400,000 ตัน มูลค่าประมาณ 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 18.5 และร้อยละ 24.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และลดลงจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 16 และร้อยละ 21 ตามลำดับ

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

มาเลเซีย

กระทรวงเกษตร (The Malaysian Agriculture and Agro-based Industries Ministry) ตั้งเป้าในช่วง 3-4 ปี นับจากนี้ ประเทศต้องสามารถพึงพาผลผลิตข้าวในประเทศได้ ในระดับร้อยละ 75 จากปัจจุบันที่อัตราการพึ่งพาผลผลิตในประเทศอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70 ทั้งนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมา มาเลเซียนำเข้าข้าวประมาณ 740,000 ตัน จากทุกประเทศ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 286.434 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันนี้ มาเลเซียมีผลผลิตข้าวประมาณ 2 ล้านตัน และนำเข้าประมาณปีละ 1 ล้านตัน

ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ รัฐบาลมาเลเซียจะทบทวนนโยบายอาหารและเกษตรแห่งชาติหรือ National Agro-Food Policy (NAFP) ปี ค.ศ. 2011–2020 ทั้งฉบับ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของโครงการ The National Feed lot Corp (NFC) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของมาเลเซีย (Datuk Salahuddin Ayub) กล่าวว่า รัฐบาลจะทบทวนนโยบายดังกล่าวบนหลักพื้นฐาน 5 ด้าน คือ (1) การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารให้มีความทันสมัย (2) การเพิ่มผลผลิต (3) การส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน (4) การขยายการส่งออก และ (5) การลดราคาอาหารโดยเฉพาะข้าวเปลือก เนื้อสัตว์ (ประเภทโค แพะ แกะ) และอาหารทะเล ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างองค์กรหรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบบริหารและการดำเนินงาน

มาเลเซียจะทบทวนรายละเอียดนโยบายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 โดยทิศทางใหม่และกลยุทธ์ของ NAFP จะให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ความปลอดภัยด้านอาหาร (2) การพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท และ(3) การสนับสนุนการลงทุนและการค้าของภาคเอกชน ซึ่งต่างจากเป้าหมายเดิมของ NAFP ภายใต้การบริหารงาน ของรัฐบาลชุดก่อนที่มุ่งเน้นเฉพาะการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยของอาหาร การพัฒนา อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรให้สามารถแข่งขันได้และมีความยั่งยืน รวมถึงยกระดับรายได้ผู้ประกอบการเกษตร

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ