สศท.9 ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เกาะติดสถานการณ์โรคใบร่วงยางฯ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2021 14:13 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศท.9 ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เกาะติดสถานการณ์โรคใบร่วงยางฯ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum sp. ที่พบการระบาดใน 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยจังหวัดที่มีพื้นที่การระบาดมากที่สุด 4 อันดับแรก เป็นเขตภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ นราธิวาส ยะลา สงขลา และปัตตานี ซึ่งขณะนี้ (ข้อมูลจากการยางแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดนราธิวาส ณ 6 มกราคม 2564) พบการระบาดและสร้างความเสียหายมากที่สุดในจังหวัดนราธิวาส เนื้อที่เสียหายรวม 758,670 ไร่ หรือร้อยละ 94 ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดนราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ดำเนินการแก้ไขพร้อมเข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางอย่างเร่งด่วน

สศท.9 ได้ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 24-26 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่า จังหวัดนราธิวาสมีพื้นที่ยืนต้นยางพาราทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.จำนวน 799,803 ไร่ พบการระบาดซ้ำใน 13 อำเภอ เนื้อที่เสียหายรวม 758,670 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของเนื้อที่กรีดยางได้ทั้งจังหวัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตลดลงร้อยละ 60 โดยอำเภอที่พบการระบาดมากที่สุด 5 อำเภอแรก ได้แก่ อำเภอเจาะไอร้อง จำนวน 40,621 ไร่ อำเภอจะแนะ 127,000 ไร่ อำเภอสุคิริน 77,008 ไร่ อำเภอสุไหงปาดี 60,278 ไร่ และอำเภอแว้ง 60,737 ไร่ ซึ่งคาดว่าการระบาดของโรคจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคมที่ผ่านมามีฝนตกหนัก เพราะเป็นช่วงฤดูฝน มีความชื้นมาก และบางพื้นที่ลาดชั้นทำให้สารเคมีหรือสารชีวภัณฑ์ที่ใช้กำจัดเชื้อราถูกชะล้างไปกับน้ำฝน

สำหรับช่วงที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และ สศท.9 ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพารา โดยสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญในการให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาโรคดังกล่าว ผ่านเวทีการประชุมในระดับต่าง ๆ ร่วมกับสถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยยาง เพื่อศึกษาวิจัยหาเชื้อสาเหตุ รวมถึงวิธีการป้องกันในอนาคต ซึ่งจากการลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดใบร่วงยางพารา จังหวัดนราธิวาสได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันวิจัยยางและสถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช ดำเนินการวิจัยหาเชื้อสาเหตุและการป้องกันกำจัดโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ปัจจุบันมีการพบเชื้อที่แตกต่างกัน โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบเชื้อ Neopestalotiopsis 2 สายพันธุ์ คือ Neopestalotiopsiscubana และ N. formicarum สถาบันวิจัยยาง พบเชื้อ Pestalotiopsis sp. และเชื้อ Colletotrichum sp. ซึ่งมีความหลากหลาย การควบคุม กำจัด การใช้สารเคมี สารชีวภัณฑ์จึงแตกต่างกันไปการนำมาใช้กับแปลงทดลองจึงต้องพิจารณาปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น สภาพอากาศ สภาพพื้นที่ ความสูงต่ำของต้นยางพารา

ทั้งนี้ เกษตรกรควรหมั่นเฝ้าระวัง สังเกตอาการของโรคใบร่วงได้ด้วยตนเอง ซึ่งใบยางพาราโดยเฉพาะใบแก่จะมีลักษณะเป็นรอยช้ำเป็นกลุ่มเห็นชัดเจนด้านหลังใบ หลังจากนั้นจะแสดงอาการเป็นวงค่อนข้างกลมสีเหลือง ต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะแห้งตาย เป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยพบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล จากนั้นใบจะเหลืองและร่วงในที่สุดซึ่งอาการโรครุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วัน หากเกษตรกรพบหรือสงสัยว่ายางพาราที่ปลูกเป็นโรคดังกล่าวให้รีบติดต่อ การยางแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดนราธิวาส โทร. 0 7351 4745 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองนราธิวาส โทร. 0 7353 2221 และสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส โทร. 0 7353 2222

***********************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ