สศท.12 เผย ‘ขนุน’ จ.พิจิตร ไม้ผลเศรษฐกิจน่าจับตา ดันส่งออกตลาดจีน แนะเกษตรกรรักษาคุณภาพผลผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 10, 2021 14:43 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศท.12 เผย ?ขนุน? จ.พิจิตร ไม้ผลเศรษฐกิจน่าจับตา ดันส่งออกตลาดจีนแนะเกษตรกรรักษาคุณภาพผลผลิต

นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ?ขนุน? เป็นไม้ผลที่ได้รับความนิยมในด้านการบริโภคและการปลูกเพื่อการค้า จึงเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง เนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกเติบโตเร็ว ตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งจากข้อมูลกรมศุลกากร พบว่า ปี 2563 มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกขนุนสด จำนวน 49,006 ตัน คิดเป็นมูลค่า 629 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 45,319 ตัน มูลค่า 566 ล้านบาท (ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม เมียนมา และ สปป.ลาว

ปัจจุบัน ขนุนมีการปลูกอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ โดยพบมากที่ภาคตะวันออก รองลงมาภาคตะวันตกในส่วนของภาคเหนือมีการปลูกขนุนกระจายในหลายพื้นที่ ซึ่งจังหวัดพิจิตรเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เกษตรกรเริ่มปลูกขนุนเพื่อส่งออกมากขึ้น เนื่องจากขนุนเป็นไม้ผลที่ดูแลรักษาง่าย สามารถเก็บผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปี สร้างกำไรดี ประกอบกับจังหวัดมีสภาพภูมิอากาศ สภาพดิน และอุณหภูมิที่เหมาะสม พื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับการเจริญเติบโต จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร (ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2564) พบว่า มีเนื้อที่ปลูก จำนวน 281 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูก 163 ราย เกษตรกรมีการปลูกแบบรายเดียวและการรวมกลุ่มผลิตในรูปของกลุ่มเกษตรกร พันธุ์ที่นิยมปลูกคือ พันธุ์ทองประเสริฐ เนื่องจากให้ผลค่อนข้างใหญ่ ยวงหนา รสชาติหวาน กลมกล่อม และที่สำคัญเป็นพันธุ์ที่ตลาดประเทศจีนต้องการสูง

จากการลงพื้นที่ของ สศท.12 เพื่อติดตามสถานการณ์ผลิตและการตลาดขนุนในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยติดตามการดำเนินงานของกลุ่มผู้ปลูกขนุนเพื่อการส่งออกจังหวัดพิจิตร อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ เริ่มรวมกลุ่มเมื่อปี 2563 ปัจจุบันมีเนื้อที่ปลูก จำนวน 240 ไร่ สมาชิกเกษตรกร 62 ราย โดยได้รับการผลักดันและสนับสนุนองค์ความรู้ จากสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดพิจิตร สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิจิตร รวมทั้งภาคเอกชนผู้ส่งออกส้มโอที่มีประสบการณ์ในการส่งออกผลไม้ไปตลาดจีน ในเรื่องการปลูก การคัดเลือกพันธุ์ การดูแลรักษา รวมถึงเรื่องการตลาด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก

ด้านสถานการณ์ผลิต พบว่า มีต้นทุนการผลิต 10,749 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 2 ? 3 และเก็บเกี่ยวได้ 25 ปี) การปลูกเพื่อส่งออกเกษตรกรจะเน้นเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 รอบ คือ มีนาคมและสิงหาคม ผลผลิตเฉลี่ย 5,250 กิโลกรัม/ไร่/ปี เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 52,500 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 41,751 บาท/ไร่/ปี ราคาขายแบบคละเกรด ณ 7 สิงหาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 10 บาท/กิโลกรัม ซึ่งผลขนุนที่ตัดจากต้นแล้วสามารถเก็บไว้ได้นานและน้ำหนักไม่ลดลง ทั้งนี้ มีสมาชิกเกษตรกรบางส่วนเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตไปบ้างแล้ว สำหรับสถานการณ์ตลาด ผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มจะจำหน่ายให้พ่อค้ารวบรวมส่งให้กับล้งในจังหวัดนครราชสีมาเพื่อส่งออกไปยังตลาดประเทศจีน ซึ่งในอนาคตทางกลุ่มตั้งเป้าจะตั้งโรงรับซื้อเพื่อรวบรวมส่งออกไปจีน และโรงงานแปรรูปขนุน อาทิ อบแห้ง เชื่อม ทอด ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมแหล่งผลิตเพื่อรองรับความต้องการและตลาดส่งออก หากสามารถบังคับขนุนออกไม่ตรงกับช่วงผลไม้หวาน (ทุเรียน มังคุด) ออกสู่ตลาดได้จะส่งผลให้ราคารับซื้อปรับเพิ่มขึ้น

นอกจากเกษตรกรจะมีรายได้จากการจำหน่ายขนุนแก่แล้ว ยังสามารถขายขนุนอ่อนซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ เช่น ตำขนุน แกงขนุน ยำ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ส่วนอื่น ๆ ของขนุนยังมีประโยชน์ เช่น เม็ดช่วยบำรุงน้ำนม เนื้อหุ้มเม็ดสุกใช้หมักทำเหล้า แก่นของต้นนำมาใช้ทำสีย้อมผ้า และเนื้อไม้ของต้นสามารถใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และเครื่องดนตรี ทั้งนี้ การปลูกขนุนสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดีและเป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เกษตรกรควรเฝ้าระวังด้วงเจาะลำต้นซึ่งเป็นศัตรูสำคัญในการปลูกขนุน และควรตรวจดินและน้ำเพื่อเตรียมรับมือกับโรคเนื้อสนิม หากเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดขนุน สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ นายชูชาติ นาคสะอาด ประธานกลุ่มผู้ปลูกขนุนเพื่อการส่งออก จังหวัดพิจิตร หรือโทร 08 9703 8739 ซึ่งยินดีให้คำปรึกษาแก่ทุกท่าน

******************************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ