สำรวจกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ-ข้าวเหนียว ระบุ พายุโนรูกระทบผลผลิตลดลง ขณะที่ราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 8, 2022 15:13 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าข้าว ในจังหวัดกาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด แหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวที่สำคัญของประเทศ ซึ่ง สศก. โดยทีมสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ได้ลงพื้นที่เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า ปีการผลิต 2565/66 ทั้ง 2 จังหวัด มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิ 2.785 ล้านไร่ (กาฬสินธุ์ 0.427 ล้านไร่ และร้อยเอ็ด 2.358 ล้านไร่) ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.18 และมีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวเหนียว 1.783 ล้านไร่ (กาฬสินธุ์ 1.066 ล้านไร่ และร้อยเอ็ด 0.717 ล้านไร่) ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.17 โดยเนื้อที่เพาะปลูกทั้ง 2 จังหวัดลดลง เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน เพราะราคาอ้อยเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี และบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังและการทำเกษตรผสมผสานเนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าและดูแลรักษาง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตนั้นได้รับผลกระทบจากพายุโนรู ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มติดแม่น้ำชี มีน้ำท่วมขังนาน ทำให้ต้นข้าวล้มและเน่า ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ผลผลิตจึงลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าผลผลิตทั้ง 2 จังหวัดจะมีข้าวหอมมะลิประมาณ 0.904 ล้านตัน (กาฬสินธุ์ 0.150 ล้านตัน และร้อยเอ็ด 0.754 ล้านตัน) และข้าวเหนียวประมาณ 0.605 ล้านตัน (กาฬสินธุ์ 0.377 ล้านตัน และร้อยเอ็ด 0.228 ล้านตัน) หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.03 และร้อยละ 3.20 ตามลำดับ ซึ่งผลผลิตทั้ง 2 จังหวัดออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนธันวาคม 2565

สำหรับพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เนื่องจากทนต่อโรคและแมลงศัตรูพืช คุณภาพของเมล็ดข้าวเมื่อนำไปสีจะได้ข้าวเต็มเมล็ด และข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ทนแล้ง เมื่อนำไปหุง ข้าวจะมีความนุ่มและมีกลิ่นหอมซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด สำหรับพันธุ์ธัญสิริน (กข6 ต้นเตี้ย) ให้ผลผลิตต่อไร่สูง แต่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดมากนัก โดยข้าวเหนียวทั้ง 2 พันธุ์นี้ สามารถเห็นความแตกต่างทางกายภาพของเมล็ดข้าวเปลือกได้อย่างชัดเจน คือ พันธุ์ธัญสิริน เมล็ดจะมีลักษณะอ้วนป้อมกว่าพันธุ์ กข6 ที่เมล็ดมีลักษณะยาวเรียว ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวออกสู่ตลาดมากที่สุดทั้ง 2 จังหวัด มีผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วประมาณร้อยละ 75 - 80 ของผลผลิตทั้งหมด ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มีคุณภาพดี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอและฝนตกในช่วงเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่พบว่า ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาทั้งค่าปุ๋ยเคมี ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ส่งผลกระทบต่อค่าจ้างไถเตรียมดินและค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว ที่ปรับราคาขึ้นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

ด้านนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า หากพิจารณาถึงสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เดือนพฤศจิกายน 2565 ณ ความชื้น 15% พบว่า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาเฉลี่ยตันละ 14,000 - 15,000 บาท สูงขึ้นจากตันละ 11,000 - 12,000 บาท จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ยตันละ 12,000 - 13,000 บาท สูงขึ้นจากตันละ 8,100 - 8,200 บาท จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยภาพรวมราคาข้าวทั้ง 2 ชนิด ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่เกษตรกรนำไปจำหน่ายให้กับโรงสี เมล็ดข้าวมีความสมบูรณ์ดี มีวัชพืชหรือข้าวพันธุ์อื่นปนน้อยมาก และการที่มีฝนตกตลอดช่วงการเพาะปลูกได้ส่งผลดีต่อเนื่องถึงในช่วงเก็บเกี่ยว เพราะดินยังมีความชุ่มชื้นทำให้เมล็ดข้าวภายในแตกหักน้อย ประกอบกับเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด - 19 ส่งผลให้ต่างประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ราคาข้าวเปลือกจึงปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงสีให้ความเห็นว่า จะต้องติดตามสถานการณ์ทั้งด้านการผลิตและนโยบาย/มาตรการจากภาครัฐ ตลอดจนสถานการณ์ตลาดต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินทิศทางตลาดข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวในปี 2566 ต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยยึดตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช สำหรับสินค้าข้าวจะได้ไร่ละ 1,340 บาท ไม่เกิน 30 ไร่ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 3 โครงการ (โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อ เพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก) และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 กรอบวงเงินงบประมาณรวม 66,580,906 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรทั้ง 2 จังหวัด ให้ความเห็นว่าการที่ภาครัฐมีมาตรการ/โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เกษตรกรพอมีรายได้ที่เหมาะสมกับการยังชีพได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงสี/สถาบันเกษตรกรให้ความเห็นว่า มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ทั้ง 3 โครงการ เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายข้าวเปลือกในช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้โรงสีสามารถรับซื้อผลผลิตข้าวจากเกษตรกรได้มากขึ้น

สำหรับท่านที่สนใจสถานการณ์การผลิตข้าว และงานศึกษาวิจัยด้านข้าวของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจพืชไร่นาและธัญพืช สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 7554 ในวันและเวลาราชการ

************************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ