สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 22, 2024 11:43 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 15 - 21 มกราคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - มกราคม 2567 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 25.350 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 99.14 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 11.01 ร้อยละ 11.78 และร้อยละ 0.92 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 67.08ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับ กรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 - 31 มีนาคม 2567 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4

1.3 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,990 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,941 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,186 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,185 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.01

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 21,750 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 21,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.84

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 880 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,874 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 875 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,376 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.57 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 498 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 668 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,436 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตัน 646 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,426 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.41 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,010 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 647 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,699 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 640 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,218 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.09 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 481 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.0836 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนมกราคม 2567 ผลผลิต 513.543 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 512.960 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2565/66 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.11

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนมกราคม 2567 มีปริมาณผลผลิต 513.543 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.11 การใช้ในประเทศ 522.100 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.32 การส่งออก/นำเข้า 52.163 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.43 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 167.249 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 4.87

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปากีสถาน จีน กัมพูชา เมียนมา บราซิล อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ตุรกี และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อินเดีย ไทย เวียดนาม อุรุกวัย และปารากวัย
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ จีน สหภาพยุโรป อิรัก อิหร่าน บังกลาเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เม็กซิโก สหราชอาณาจักร เนปาล เยเมน และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย บราซิล กานา เคนยา และโมซัมบิก
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย ไนจีเรีย และญี่ปุ่น

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ฟิลิปปินส์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรจะไม่กำหนดราคาขายปลีกแนะนำ (Suggested Retail Prices : SRP) สำหรับข้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ แม้ว่าพระราชบัญญัติด้านราคา (the Price Act) จะอนุญาตให้กระทรวงเกษตรสามารถกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ให้คงที่ในกรณีฉุกเฉินได้ก็ตาม แต่การจำกัดราคามีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการจะลดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ประกอบกับมาตรการกำหนดเพดานราคาข้าวที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายน 2566 ได้ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนข้าว และความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ดังนั้นในช่วงนี้จึงไม่ควรควบคุมราคาข้าว

รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้รัฐบาลเตรียมมาตรการรองรับหากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยรัฐบาลเน้นดำเนินมาตรการด้านการนำเข้าข้าว เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภคก่อนที่จะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวครั้งต่อไปที่เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรได้ดำเนินการวางแผนจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีเพียงพอสำหรับการผลิตข้าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในปี 2566 การส่งออกข้าวของกัมพูชามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2565 จึงคาดว่าในปี 2567 การส่งออกข้าวของกัมพูชาจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ และค่าขนส่ง อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวได้

ประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (The Cambodia Rice Federation : CRF) กล่าวว่า ในปี 2566 เป็นปีที่ดีสำหรับการส่งออกข้าว ทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้นและการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศใหม่ๆ และได้เน้นย้ำถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกข้าวเปลือกจำนวนมากไปยังเวียดนามที่มีความต้องการสูง ส่งผลให้ราคาข้าวสารปรับสูงขึ้นตาม จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกษตรกรกัมพูชาสนใจขายข้าวเปลือกให้กับพ่อค้า ขณะที่โรงสีข้าวมีความลังเลที่จะซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสำรองไว้ เนื่องจากมีข้อจำกัดทางการเงินและความไม่แน่นอนของตลาด ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ส่งผลเสียต่อโรงสีข้าว เพราะต้นทุนข้าวเปลือกที่เพิ่มขึ้นได้จำกัดความสามารถของผู้ประกอบการส่งออกข้าวกัมพูชาในการจัดหาและการจัดเก็บข้าว เนื่องจากแนวโน้มราคายังคงเพิ่มขึ้นทุกปี

ทั้งนี้ การส่งออกข้าวเปลือกเมื่อปี 2566 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโรงสีข้าวในท้องถิ่น ทำให้กระบวนการจัดซื้อและจัดเก็บข้าวเปลือกเพื่อการสีและการส่งออกมีความซับซ้อนด้านการบริหารจัดการยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม กัมพูชายังคงบรรลุผลลัพธ์เชิงบวกจากการส่งออกข้าวสารในปี 2566 ซึ่งข้าวสารของกัมพูชาได้รับความสนใจและมีคำสั่งซื้อเป็นจำนวนมากจากประเทศที่เป็นตลาดใหม่ เช่น ติมอร์-เลสเต มีการนำเข้าประมาณ 4,000 ตัน อินโดนีเซีย มีการนำเข้าประมาณ 15,500 ตัน และฟิลิปปินส์ มีการนำเข้าประมาณ 2,500 ตัน โดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชาคาดหวังว่าในปี 2567 การส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศจะยังคงดำเนินต่อไป โดยมีปัจจัยหนุนจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย การตลาดที่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และราคาข้าวเปลือกที่มีเสถียรภาพเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดต่างประเทศ สำหรับสถานการณ์ด้านราคาข้าว สหพันธ์ข้าวกัมพูชารายงานว่า ราคาข้าวสาร ปี 2566 สูงขึ้นจากปี 2565 โดยข้าวหอมพันธุ์ Malys Angkor ราคาเฉลี่ยตันละ 980 เหรียญสหรัฐฯ (34,382 บาทต่อตัน) สูงขึ้นจากตันละ 790 เหรียญสหรัฐฯ (27,716 บาทต่อตัน) ข้าวหอมพันธุ์ Sen KraOb ซึ่งเป็นข้าวหอมระดับพรีเมียมเช่นกัน ราคาเฉลี่ยตันละ 840 เหรียญสหรัฐฯ (29,470 บาทต่อตัน) สูงขึ้นจากตันละ 760 เหรียญสหรัฐฯ (26,664 บาทต่อตัน) ส่วนข้าวขาว ราคาเฉลี่ยตันละ 780 เหรียญสหรัฐฯ (27,365 บาทต่อตัน) สูงขึ้นจากตันละ 600 เหรียญสหรัฐฯ (21,050 บาทต่อตัน)

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.0836 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ