สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 5, 2024 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 26.189 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 99.55 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 11.01 ร้อยละ 11.78 และร้อยละ 0.92 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 67.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67(มติ ครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 - 31 มีนาคม 2567 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4

1.3 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,190 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,054 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.97

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,617 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,306 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.75

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 21,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 21,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.82

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 883 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,070 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 881 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,221 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 151 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 655 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,047 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตัน 669 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,708 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.09 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 661 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 649 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,836 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 648 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,964 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.15 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 128 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.1866 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ปากีสถาน

ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวปากีสถาน (Rice Exporters Association of Pakistan : REAP) เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ในปี 2566/67 การส่งออกข้าวของปากีสถานมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าจะส่งออกข้าวประมาณ 5.0 - 5.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 3.7 ล้านตัน ในปี 2565/66 เนื่องจาก ในปี 2566 อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นร้อยละ 40 ของการส่งออกข้าวโลก ได้ประกาศมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวทุกชนิดยกเว้นข้าวบาสมาติ และมาตรการเก็บภาษีสำหรับผู้ส่งออกข้าวนึ่ง ทำให้ประเทศผู้นำเข้าเปลี่ยนมาซื้อข้าวจากปากีสถานมากขึ้น เพื่อเป็นการลดความกดดันด้านอุปทานข้าวในประเทศที่มีจำกัด นอกจากนี้ การที่ปากีสถานส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประเทศมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากขึ้น

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์

การส่งออกข้าวของปากีสถานคาดว่าจะพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่สิ้นสุด ณ เดือนมิ.ย.เนื่องจากอินเดียซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งได้ระงับการส่งออกข้าวส่งผลให้ผู้ซื้อหันมาซื้อข้าวเพิ่มขึ้นจากปากีสถานแทน

ยอดการส่งออกข้าวที่สูงเป็นประวัติการณ์ของปากีสถานช่วยผ่อนคลายอุปทานที่ตึงตัว อันเนื่องมาจากข้อจำกัดการส่งออกที่กำหนดโดยอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2566 นอกจากนี้ ยอดการส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้นยังช่วยเติมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของปากีสถานอีกด้วย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการนำเข้าสินค้า?เราเห็นอุปสงค์ข้าวที่แข็งแกร่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากอินเดียหยุดส่งออก? นายเชลา ราม เกวลานี ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวปากีสถาน (REAP) เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์

อินเดีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40% ของการส่งออกข้าวของโลก สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการสั่งห้ามการส่งออกข้าวทุกชนิดยกเว้นข้าวบาสมาติเมื่อปีที่ผ่านมา และยังเรียกเก็บภาษีสำหรับการส่งออกข้าวนึ่งอีกด้วย

นายเกวลานีระบุว่า การส่งออกข้าวของปากีสถานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 5 ล้านตันในปีงบประมาณ 2566/67 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 3.7 ล้านตันในปีก่อนหน้า ในขณะที่เจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมบางรายมีมุมมองเชิงบวกมากกว่านั้น โดยระบุว่า การส่งออกข้าวอาจสูงแตะ 5.2 ล้านตัน เมื่อพิจารณาจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้

ทั้งนี้ ตัวแทนจำหน่ายในอินเดียและบริษัทการค้าระดับโลกระบุว่า ปากีสถานอาจผลิตข้าวได้ถึง 9-9.5 ล้านตันในปี 2566/2567 หลังการผลิตลดลงเหลือ 5.5 ล้านตันในปีก่อนหน้าเนื่องจากน้ำท่วม

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ