สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 26, 2024 15:32 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 19 - 25 กุมภาพันธ์ 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต
          1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลง            จากปี 2565/66 ร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยผลผลิตออกสู่ตลาดเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปริมาณ 0.105 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.41 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2567 อีก 0.115 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.45 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 11.01 ร้อยละ 11.78 และร้อยละ 0.92 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยผลผลิตออกสู่ตลาดเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปริมาณ 0.495 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 7.80 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 67.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก ระยะเวลารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ? 31 มีนาคท 2567 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสารระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4

1.3 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,255 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,190 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.46

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,891 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,888 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.03

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,450 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 872 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,149 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 866 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,963 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.69 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 186 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 618 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,076 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตัน 615 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,989 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 87 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 624 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,290 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 620 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,168 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 122 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.7209 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ผลผลิต 513.735 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 512.955 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2565/66 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีปริมาณผลผลิต 513.735 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.15 การใช้ในประเทศ 522.898 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.58 การส่งออก/นำเข้า 52.383 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.79 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 167.182 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 5.20

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปากีสถาน จีน กัมพูชา เมียนมา บราซิล กายานา อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อินเดีย ไทย เวียดนาม อุรุกวัย ปารากวัย และตุรกี
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหภาพยุโรป อิรัก ไอเวอรี่โคสต์ เซเนกัล อิหร่าน บังกลาเทศ เม็กซิโก สหราชอาณาจักร เนปาล เยเมน และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม มาเลเซีย แอฟริกาใต้ บราซิล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กินี กานา ญี่ปุ่น เคนยา และโมซัมบิก
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ไทย ไนจีเรีย และญี่ปุ่น

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวม 52,974 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯ โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวม 14,867 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ ซึ่งปัจจุบันภาพรวมทั้งประเทศใช้น้ำไปแล้ว 13,216 ล้านลูกบาศก์เมตร และเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำไปแล้ว 4,743 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรัง พบว่า ทั้งประเทศปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 8.41 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 145 ของแผนการบริหารจัดการน้ำ และเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปลูกข้าวปรังไปแล้ว 5.64 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 186 ของแผนการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีการทำนาปรังเกินกว่าแผนที่วางไว้ ทำให้ต้องปรับแผนการส่งน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหาย โดยกรมชลประทานได้ขอความร่วมมือเกษตรกรหากเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้งดการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากต้องสำรองน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ให้มีปริมาณน้ำเพียงพอจนถึงช่วงต้นฤดูฝนตามแผนการบริหารจัดการน้ำที่ได้กำหนดไว้ ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวค่อนข้างทรงตัวหลังจากที่ปรับสูงขึ้นติดต่อกัน 4 สัปดาห์ โดยอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา ท่ามกลางภาวะอุปทานข้าวในประเทศที่มีจำกัด เนื่องจากรัฐบาลยังคงเร่งจัดหาข้าวเพื่อนำไปเก็บไว้ในสต็อกรัฐบาล ขณะที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศเริ่มลดลง โดยราคาข้าวนึ่ง 5% ตันละ 542 - 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 19,361 - 19,646 บาท) คงที่เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งวงการค้าข้าวระบุว่า ช่วงนี้ประเทศผู้ซื้อจากแอฟริกาได้ชะลอการสั่งซื้อหลังจากที่ราคาข้าวอินเดียปรับสูงขึ้น หน่วยงานพัฒนาการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป (The Agricultural and Processed Foods Exports Development Authority: APEDA) รายงานว่า ในช่วงเดือนเมษายน - ธันวาคม 2566 การส่งออกข้าวบาสมาติมีมูลค่า 3.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 141.81 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 3.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 118.95 พันล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เนื่องจากความต้องการข้าวจากประเทศต่างๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง เช่น ซาอุดีอาระเบีย และอิรัก นำเข้าข้าวช่วงเดือนเมษายน - ธันวาคม 2566 ปริมาณ 3.54 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 3.19 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ขณะที่การส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีมาตรการจำกัดการส่งออก ทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงเหลือ 8.34 ล้านตัน มูลค่า 3.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 119.31 พันล้านบาท) รวมทั้งการส่งออกธัญพืชมีมูลค่า 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 278.62 พันล้านบาท) ลดลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของ APEDA มีมูลค่า 17.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 638.69 พันล้านบาท) ลดลงร้อยละ 9.14 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.7209 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ