สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 25, 2024 13:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 18 - 24 มีนาคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยเดือนมีนาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.045 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.17 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2567 อีก 0.070 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.27 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.708 ล้านไร่ ผลผลิต 6.238 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 6.47 ร้อยละ 9.83 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนมีนาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 2.142 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 34.33 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ทั้งนี้ ผลผลิต จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.375 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 70.14 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,190 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,192 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.01

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,255 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,290 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.31

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,170 บาท ราคาลดลงจากตันละ 20,570 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.94

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 855 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,633 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 862 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,483 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.81 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 150 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 608 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,783 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตัน 630 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,279 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.49 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 496 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 614 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,998 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 627 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,173 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.07 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 175 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.8277 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนมีนาคม 2567 ผลผลิต 515.388 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 514.573 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2565/66 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนมีนาคม 2567มีปริมาณผลผลิต 515.388 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.16 การใช้ในประเทศ 522.865 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.52 การส่งออก/นำเข้า 53.338 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.17 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 169.702 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 4.22

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปากีสถาน จีน กัมพูชา เมียนมา บราซิล กายานา อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อินเดีย ไทย เวียดนาม อุรุกวัย ปารากวัย สหภาพยุโรป และตุรกี
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ สหภาพยุโรป อิรัก ซาอุดิอาระเบีย ไอเวอรี่โคสต์ เซเนกัล อิหร่าน บังกลาเทศ เม็กซิโก สหราชอาณาจักร เนปาล เยเมน และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ จีน เวียดนาม มาเลเซีย แอฟริกาใต้ บราซิล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กินี กานา ญี่ปุ่น เคนยา และโมซัมบิก
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน ไทย ไนจีเรีย และปากีสถาน

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ประเมินการส่งออกข้าวในภาพรวมของปี 2567 มีปริมาณ 7.5 ล้านตัน แต่จากการติดตามสถานการณ์ การส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ยังมีทิศทางและปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุที่อินเดียยังคงใช้มาตรการห้ามส่งออกข้าวขาวต่อไปจนถึงปลายปี ประกอบกับอินโดนีเซียมีความต้องการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 ล้านต้น จากเดิมที่ต้องการ 2.5 ล้าน ทำให้ประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม ปากีสถาน และไทย มีโอกาสที่จะส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ราคาข้าวขาวของทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว มีราคาใกล้เคียงกับไทยที่ตันละ 610 ? 620 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,854.90 ? 22,213.17 บาท) ทำให้ไทยสามารถแข่งขันด้านราคาได้

ดังนั้น จากการที่อินเดียยังคงมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาว และอินโดนีเซียมีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในปี 2567 ไทยมีโอกาสที่จะส่งออกข้าวได้มากกว่า 7.5 ล้านตัน แต่จะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ต่างๆ คาดว่าจะประกาศประมาณการตัวเลขการส่งออกข้าว ในปี 2567 ได้ใหม่ในเร็วๆ นี้ ซึ่งขณะนี้ปริมาณการส่งออกข้าวไทย เฉลี่ยเดือนละประมาณ 800,000 - 900,000 ตัน ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ทิศทาง การส่งออกข้าวไทยในปี 2567 ยังคงเป็นปีทองของเกษตรกรไทย เพราะหากเทียบราคาข้าวเปลือกโดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ราคาเฉลี่ยตันละ 11,000 - 12,000 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่เฉลี่ยตันละ 7,000 - 8,000 บาท ซึ่งราคาดังกล่าว ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ เนื่องจากเป็นราคาที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566

ที่มา สำนักข่าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.8277 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ