โครงการ Agri-Map หนุนเกษตรกร ปรับเปลี่ยนการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ สร้างรายได้เพิ่ม เสริมความมั่นคงในอาชีพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 24, 2024 14:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

โครงการ Agri-Map หนุนเกษตรกร ปรับเปลี่ยนการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่สร้างรายได้เพิ่ม เสริมความมั่นคงในอาชีพ

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นการผลิตสินค้าเกษตรชนิดใหม่ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ภูมิสังคม และตลาด และสร้างความมั่นคงทางอาชีพเกษตรกร โดยมี กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก มีหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่กรมส่งเริมการเกษตร กรมหม่อนไหม กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และ สศก.รับผิดชอบติดตามผลโครงการ

สำหรับผลการติดตามในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม จำนวน 70,714 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 98.85 ของเป้าหมาย 71,540 ไร่ มีการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร ได้จำนวน 2,070 ราย ครบตามเป้าหมาย โดยโครงการฯ ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นการทำเกษตรผสมผสาน การปลูกหม่อน การปลูกพืชอาหารสัตว์ การถ่ายทอดความรู้การปรับเปลี่ยนการผลิตและการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพ และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต โดยตัวอย่างจากการติดตามเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ปี 2566 ของกรมพัฒนาที่ดิน กิจกรรมเกษตรผสมผสาน พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และยโสธร จำนวน 32 ราย พบว่า เกษตรกรนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ การทำเกษตรผสมผสาน การผลิตปุ๋ยน้ำหมัก การปรับปรุงสภาพดินหลังจากปรับพื้นที่ โดยผลผลิตที่เกษตรกรได้รับ ได้แก่ ปลา กล้วย และพืชผักสวนครัวเป็นต้น ด้านผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวน 15 ราย หรือร้อยละ 83.33 ของจำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลผลิตแล้ว โดยมูลค่ารายได้ผลผลิตเฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจากก่อนเข้าร่วมโครงการ3,902 บาทต่อไร่ เป็น 4,805 บาทต่อไร่ หลังเข้าร่วมโครงการ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.16) และในภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการในระดับมากที่สุด

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สศก. ยังคงติดตามโครงการฯ ต่อเนื่อง โดยปี 2567 กำหนดเป้าหมายพื้นที่ 41,615 ไร่ เกษตรกร 1,835 ราย มีการถ่ายทอดความรู้เกษตรกรได้จำนวน 1,532 ราย คิดเป็นร้อยละ 83.49 ของเป้าหมาย นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการ ณ จังหวัดมหาสารคาม นครราชสีมา ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ ยโสธร และสุรินทร์ พบว่า ในภาพรวมอยู่ระหว่าดำเนินการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการผลิต ได้แก่ การทำเกษตรผสมผสาน และการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น และถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร ได้แก่ การทำเกษตรผสมผสาน การผลิตปุ๋ยน้ำหมัก ปรับปรุงสภาพดินหลังจากปรับพื้นที่ เป็นต้น โดยการดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กำหนด ทั้งนี้ สศก. จะได้มีการติดตามผลการดำเนินโครงการมานำเสนอต่อไป

*****************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ