สศก. มั่นใจ ศักยภาพผักไทยครองใจตลาดยุ่น

ข่าวทั่วไป Wednesday December 24, 2008 14:08 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ผักไทยไปได้สวยในตลาดญี่ปุ่น ความต้องการนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ชนะประเทศคู่แข่งอย่าง จีน ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ย้ำ ต้องเน้นถึงคุณภาพและการตรวจสอบย้อนกลับ พร้อมปรับปรุงระบบขนส่งให้ได้มาตรฐานและครบวงจร

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นยังมีความต้องการนำเข้าผักจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผัก GAP หากมีความเข้มงวดในเรื่องคุณภาพและการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งผักของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่นฟิลิปปินส์ และจีน และจากการศึกษาศักยภาพพืชผักส่งออกในตลาดญี่ปุ่น กรณีกระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง และข้าวโพดฝักอ่อน ในปี 2551 พบว่า ผักสดที่ส่งออกไปญี่ปุ่นต้องมาจากแปลง GAP และโรงงาน GMP ที่ผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร อยู่ภายใต้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ และขนส่งทางอากาศเท่านั้น โดยค่าใช้จ่ายในการส่งออกของกระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง และข้าวโพดฝักอ่อนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 118.52 บาท 168.52 บาทและ146.52 บาท ตามลำดับ ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเฉลี่ยกิโลกรัมละ 167.57 บาท 226.78 บาท และ 198.76 บาท ตามลำดับ สำหรับช่องทางการกระจายสินค้าในญี่ปุ่น ร้อยละ 60 กระจายไปรอบๆ กรุงโตเกียวและโอซากา ส่วนที่เหลือกระจายไปทุกจังหวัด สำหรับรสนิยม และพฤติกรรมการบริโภคผักของชาวญี่ปุ่น จะนิยมซื้อกระหล่ำปลีมากที่สุด และนิยมซื้อผักที่ผลิตในประเทศมากที่สุด รองลงมาคือไทย จีน ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน

ปัจจัยที่สำคัญในการเลือกซื้อผักจากไทยคือ คุณภาพ รองลงมาคือประโยชน์ต่อสุขภาพ รสชาติ และราคา โดยไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในการส่งออกหน่อไม้ฝรั่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งคือออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์และครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งเฉลี่ยร้อยละ 28 สำหรับความเชื่อมโยงของราคาขายส่งหน่อไม้ฝรั่งระหว่างตลาดขายส่งกรุงเทพฯ และตลาดขายส่งโตเกียวพบว่าทั้ง 2 ตลาดมีความเชื่อมโยงกันแต่ไม่ได้กำหนดราคาซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผักทั้ง 3 ชนิดของไทยจะมีศักยภาพในการส่งออกไปญี่ปุ่น แต่ปัญหาที่สำคัญ คือ คุณภาพเมื่อถึงปลายทางลดลงและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง ดังนั้น ทาง สศก. จะเร่งดำเนินการวางแผนเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศให้ครบวงจรและเร่งรัดประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดญี่ปุ่น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ