สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 22, 2010 15:56 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เดือนกันยายน 2553 อัตราการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 8.1 แม้ต้องเผชิญภาวะการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากได้มีการผลิตตามคำสั่งซื้อล่วงหน้า รวมทั้งบางรายได้มีการประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้แล้ว แต่ในช่วงปลายปีต่อเนื่องปี 2554 หากปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่าขึ้นยังคงมีต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงค่าเงินเหมือนบริษัทใหญ่ สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 20.0

การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(ก) ขยายตัวร้อยละ 8.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 แม้ต้องเผชิญภาวะการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากได้มีการผลิตตามคำสั่งซื้อล่วงหน้ารวมทั้งบางรายได้มีการประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้แล้ว แต่ในช่วงปลายปีต่อเนื่องปี 2554 หากปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่าขึ้นยังคงมีต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงค่าเงินเหมือนบริษัทขนาดใหญ่

อัตราการใช้กำลังการผลิต(ข) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.61 ในเดือนสิงหาคม 2553 เป็นร้อยละ 64.36 ในเดือนสิงหาคม 2553

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออก สินค้าอุตสาหกรรม เดือนกันยายน 2553 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องร้อยละ 20.0 โดยขยายตัวดีทั้งในตลาดสำคัญ และในสินค้าส่งออกที่สำคัญ

หมายเหตุ

(ก) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์

(ข) อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)

อุตสาหกรรมรายสาขา

อุตสาหกรรมอาหาร ในภาพรวมมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.3 โดยสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่แป้งมันสำปะหลังและสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 36.0 และ 40.5 จากปัญหาเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ทำให้ปริมาณวัตถุดิบขาดแคลน ประกอบกับอยู่นอกช่วงฤดูการผลิต ส่งผลให้ปริมาณวัตถุดิบลดลง กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองผลิตลดลงร้อยละ 13.8เมื่อเทียบกับปีก่อน

ด้านการส่งออกโดยรวมในรูปเงินบาทลดลงจากปีก่อนร้อยละ 9.8 จากการชะลอรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเนื่องจากปัจจัยการแข็งค่าของเงินบาท โดยเฉพาะในสินค้าปลาทูน่ากระป๋อง น้ำตาล ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสับปะรดกระป๋อง ส่งผลให้มูลค่าส่งออกเมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงร้อยละ 15.6 55.4 3.8 และ 9.1 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 2.2 40.8 และ 16.6 ตาม ลำดับ เนื่องจากเนื่องจากการจำหน่ายและการส่งออกที่ขยายตัวขึ้น ทั้งนี้การส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาด ทั้งอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 26.3 31.2 และ 22.0 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตลดลงร้อยละ 7.60 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ10.84 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 65.33 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 36.22 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 3.50 โดย ลวดเหล็ก ลดลง ร้อยละ 13.67 ซึ่งสาเหตุที่ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกมีการผลิตที่ลดลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตร เช่น สัปปะรดกระป๋องที่ลดลงในช่วงปลายฤดูการผลิต และสินค้าในกลุ่มอาหารทะเลบางชนิดที่มีวัตถุดิบลดลง นอกจากนี้จากการที่ค่าเงินบาทแข็งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้นซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีสต๊อกของวัตถุดิบที่มีต้นทุนสูงทำให้ไม่สามารถสู้กับราคาสินค้าสำเร็จรูปที่นำเข้ามาได้ ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB)โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea)ในช่วงเดือนกันยายน 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่สำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 141,416คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 36.87 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์) และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2553 ร้อยละ 0.26 สำหรับการส่งออกยังขยายตัวดีที่ร้อยละ 67.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.69 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.64 ถึงแม้จะเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า จากการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตามการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวดี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.26 เนื่องจากเนื่องจากอุปสงค์ต่อเนื่องจากสินค้าสำเร็จรูปประเภท Consumer Electronics และ ITขยายตัวมากจากช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวในอัตราที่สูงในส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.41 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 5,013.18ล้านเหรียญสหรัฐ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ