สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 24, 2010 14:52 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 3 ปี 2553 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ปัญหาการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงและปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ รวมถึงกระแสเงินทุนไหลเข้าจำนวนมหาศาลของประเทศทางเอเชีย ตลอดจนภาวะไร้เสถียรภาพของค่าเงิน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ยังคงฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ 73.82USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 อยู่ที่ 68.27 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น0.46 USD/Barrel โดยมีราคาอยู่ที่ 86.95 USD/Barrel เป็นผลมาจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative easing : QE2) เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น รวมทั้งปริมาณสต๊อกน้ำมันดิบ น้ำมันกลั่น น้ำมันเบนซิน ของสหรัฐฯ ยังลดลงอีกด้วย

สำหรับเศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ที่ผ่านมา ขยายตัวร้อยละ 9.1 ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องแต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 12.0 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 2ของปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -4.9 โดยปัจจัยที่ทำให้ GDP ยังคงขยายตัวในอัตราที่สูง คือ การบริโภคของครัวเรือนขยายตัวสูงขึ้นจากหมวดสินค้าคงทนประเภทรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าพืชผล และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐนอกจากนี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัวจากการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง และการส่งออกสินค้าและบริการยังคงปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี2553 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 7.0 - 7.5

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ตัวชี้วัดต่างๆ ส่วนใหญ่ขยายตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552 อาทิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing ProductionIndex : MPI) ดัชนีการส่งสินค้า ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน เป็นต้น

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 โดยในไตรมาสที่ 3 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 97,388.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 50,078.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 47,310.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.86 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.51ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ดุลการค้าเกินดุล 2,768.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.87 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ46.01 ทั้งนี้ในเดือนกันยายน การส่งออกมีมูลค่า 18,061.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมีมูลค่ารวม 38,264.47 ล้านบาทซึ่งลดลงร้อยละ 3.82 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 2 เดือน ในไตรมาสที่3 ของปี 2553 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 16,934.06 ล้านบาท และในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 21,330.41 ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนขยายตัวร้อยละ 34.17 สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 389 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 264 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 3 นี้มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 148,400ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.43 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 142 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 68,800 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 93 โครงการ เป็นเงินลงทุน 26,300 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 52,900 ล้านบาทรองลงมาคือ หมวดเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะมีเงินลงทุน 24,400 ล้านบาท และหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 21,200 ล้านบาท สำหรับแหล่งทุนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 92 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 33,046 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ที่มีจำนวน 13 โครงการ มีเงินลงทุน6,315 ล้านบาท ประเทศเบลเยี่ยมจำนวน 4 โครงการ เป็นเงินลงทุน 4,290 ล้านบาท และประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 4 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 3,552 ล้านบาทบาท

กล่าวโดยสรุป สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3/2553 ยังคงขยายตัวได้ แต่อัตราการขยายตัวจะชะลอลงเข้าสู่แนวโน้มปกติหลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ 1) การขยายตัวในครึ่งปีแรกที่สูงกว่าการคาดการณ์ในระดับที่ค่อนข้างมาก ซึ่งการฟื้นตัวที่รวดเร็วและต่อเนื่องนี้ทำให้ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติในปี 2551 หรือสูงกว่า ทำให้มีแรงส่งต่อการขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง และ 2) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียและเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดใหม่ ทำให้การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะชะลอลงบ้างในช่วงไตรมาสที่สามและสี่ อย่างไรก็ตามจะต้องมีการติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด อันได้แก่ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่การฟื้นตัวยังมีแนวโน้มเปราะบาง การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ(Quantitative Easing Policy) ของสหรัฐฯรอบที่ 2 หรือการการเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกครั้งอาจจะกดดันการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ในปัจจุบันผู้ประกอบการในหลายสาขาอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากได้มีการผลิตตามคำสั่งซื้อล่วงหน้า ที่มีเข้ามาก่อนเกิดภาวะเงินบาทแข็งค่าโดยมีออร์เดอร์ล่วงหน้าประมาณ 3-6 เดือน รวมทั้งบางรายได้มีการประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้แล้ว แต่ในช่วงปลายปีต่อเนื่องปี 2554 หากปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่าขึ้นยังคงมีต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงค่าเงินเหมือนบริษัทขนาดใหญ่

จากปัจจัยต่างๆดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2553 จะขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 15.0 — 16.0 ตามเป้าหมายที่ได้มีการประมาณการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี และอัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2553 จะอยู่ที่ร้อยละ 63-64 ซึ่งเป็นระดับในช่วงก่อนวิกฤตปี 2551

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวการณ์ผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3 ปี2553 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 123.62 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 1.55 จากการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง เช่น พัดลม โทรทัศน์สี (ขนาดจอเล็กกว่า 20 นิ้ว) และเครื่องปรับอากาศ ทั้งที่เป็นแบบคอนเดนซิ่งยูนิตและแบบแฟนคอยส์ซิ่งยูนิต หากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.05 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ ทั้งที่เป็นแบบคอนเดนซิ่งยูนิตและแบบแฟนคอยส์ซิ่งยูนิต พัดลม และคอมเพรสเซอร์ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ68.50 54.24 50.56 และ 29.97 ตามลำดับ เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากการเติมเต็มในส่วนสินค้าคงคลังที่ปรับลดลง และการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งจากช่วงไตรมาสแรกปี 2553 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงจากตลาดส่งออกอียูและอาเซียนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.00 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.52 โดยสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือ Other IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.38 รองลงมาคือ Semiconductorปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.12

แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงปี 2553 โดยดูจากดัชนีการส่งสินค้าของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.32 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.22 และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมตู้เย็น ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง ปี 2553 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.61 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตัวแปรดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 ซึ่งตัวแปรดังกล่าวนำมาพิจารณาในการประมาณการปี 2553หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Semiconductordevices Transisters ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.83 IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.67 และ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.66 ทั้งนี้เนื่องจากส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลก

เคมีภัณฑ์ ไตรมาส 3 ปี 2553 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 12.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 2.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 13.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ทั้งการผลิต การจำหน่าย นำเข้าและส่งออกน่าจะดีขึ้น เนื่องจากจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น มีมาตราการทางด้านการเงินออกมากระตุ้นภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ต้องระวังการแข็งค่าของเงินบาทว่าจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปิโตรเคมี ไตรมาส 3 ปี 2553 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.11 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 1.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการขยายกำลังการผลิตจากประเทศในแถบตะวันออกกลางและจีน ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นและปัจจัยที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ การแข็งค่าของเงินบาท สภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป และกรณีปัญหาโครงการปิโตรเคมีต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ดังนั้น ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ การรักษากลุ่มลูกค้าเก่าและการรุกหาตลาดใหม่ จะช่วยให้สามารถลดความเสี่ยงลงได้

เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.52 ความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.00เนื่องจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นสำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.27 และ 10.97 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 151.41 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 102.38 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 73.33

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในไตรมาสที่ 4 ของ ปี 2553 เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 3 ของ ปี 2553 คาดการณ์ว่าเหล็กทรงยาว ทั้งการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะขยายตัวขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงยาวที่สำคัญมีสถานการณ์ที่ฟื้นตัวขึ้น สำหรับเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ในประเทศจะขยายตัวขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีการผลิตรถยนต์ จำนวน 428,236 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.11 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.48, 59.55 และ 57.47 ตามลำดับ หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2553 ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.90 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.88, 10.36 และ 12.03 ตามลำดับ

สำหรับข้อมูลที่ได้จากแผนการผลิตผู้ประกอบการรถยนต์ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่สี่ ปี 2553 ประมาณ 410,000 คัน โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 46 และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 54

พลาสติก ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 มูลค่าส่งออกเท่ากับ 24,130 ล้านบาท โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 6,868 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดรองลงมาได้แก่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 5,764 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ยังมีปัจจัยหลายอย่างต้องคำนึงถึง จากสภาวะหลังน้ำท่วมที่บริโภคต้องการหาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น อาจจะมีบางส่วนที่งดการจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากไม่มีเงินในการซื้อ และเป็นไตรมาสที่เข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวช่วงปลายปี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความอ่อนไหวทางการเมือง ปัญหาในการควบคุมดูแลเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า ที่จะส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกโดยตรง ทั้งนี้ต้องรอการใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชยในกรณีน้ำท่วมบ้านพักอาศัย หรือพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีเงินมาซื้อสินค้า เกิดวงจรการผลิต นอกจากนี้ในหลายอุตสาหกรรมก็ยังมีการประมาณการณ์ที่น่าจะเติบโตขึ้น เช่น ก่อสร้างที่ต้องการการซ่อมแซม หรือรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิตการฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ในไตรมาส 3 ปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ในปี 2553 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงชะลอลงบ้าง แต่สำหรับดัชนีผลผลิตการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และ การผลิตรองเท้า ดัชนีการส่งสินค้า และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง มีอัตราการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส ที่ 3 ปี2553 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2553 อีกทั้งมูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเริ่มมีสัญญาณที่ดี เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อรองเท้าเข้ามามากขึ้น

แนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังคาดว่าทั้งปี 2553 แนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน เมื่อเทียบกับปี 2552 จะเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากฐานการผลิตและการส่งออกปี 2552 อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และสหราชอาณาจักร ทั้งปัจจัยบวกด้านอื่นๆ เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มของเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ปัจจัยด้านลบที่อาจจะส่งผลแต่แนวโน้มการส่งออกในช่วงไตรมาส 4 และตลอดทั้งในปี2554 คือ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ราคาน้ำมัน และปัญหาภาวะเศรษฐกิจของยุโรป

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากไตรมาสที่ 2 ปี 2553 เนื่องจากการผลิตในกลุ่มธัญพืชและแป้ง อาหารสัตว์ปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 7.7 7.2 และ 1.2 ตามลำดับ เป็นผลจากปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย ทำให้วัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้การนำเข้าวัตถุดิบมีราคาโดยเปรียบเทียบที่ลดลง

สำหรับแนวโน้มของการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 คาดว่า จะมีทิศทางการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก ที่ขยายตัวตามสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ยังชะลอการจับจ่ายใช้สอยประกอบกับการเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรง ได้แก่ อุทกภัยและโรคภัยไข้เจ็บที่ตามมา และมาตรการกีดกันการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง เช่นราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าขนส่งจะปรับตัวลดลง การเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งจะกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงปลายปี และการที่ประเทศผู้ผลิตอย่างจีน ยังคงถูกจับตามองและตรวจสอบในความปลอดภัยของสินค้าอาหารที่นำเข้าจากประเทศจีนอย่างเข้มงวด ทั้งจากประเทศญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีปริมาณการผลิต 2.49 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.73 และ 0.40 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการยังขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ และภาพการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนและการผลิตออกไป

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สถานการณ์การเมืองภายในประเทศเริ่มคลี่คลาย ตลาดโดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบนยังมีศักยภาพ และผู้ประกอบการน่าจะหันมาทำการตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้นแต่ปัจจัยลบ คือ การแข็งค่าของเงินบาท และความผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.08 และ 7.48 ตามลำดับ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ แบ่งออกเป็น การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางใน และถุงมือยางถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์ และยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.38 และ 9.94 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตยางใน ลดลงร้อยละ 2.89 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์ และยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.05 และ 4.08 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตยางใน ลดลงร้อยละ 4.96 ในส่วนของถุงมือยางมีการผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 2.17 และ 11.31ตามลำดับ

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องระวังคือ ผลของกรอบ FTA นอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิต เยื่อกระดาษ และกระดาษ โดยรวมในไตรมาสนี้ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากยังคงมีสินค้าในสต๊อก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศกระเตื้องขึ้นในอัตราที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาวะการนำเข้า และการส่งออกโดยรวมในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับปริมาณความต้องการอุปโภคบริโภคในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้าคาดว่าทั้งภาวะการผลิต การส่งออก และการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ จะทรงตัว เนื่องจากผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาท การประสบปัญหาภัยธรรมชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศตลอดจนภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อาจส่งผลให้อุปสงค์ตลาดทั้งภายในและตลาดโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกในประเทศที่จะกระตุ้นให้มีการซื้อหนังสือเพิ่มขึ้น จากการที่คาดว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายในการบริจาคหนังสือและการซื้อหนังสือ

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีปริมาณ 7,686.3 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.6 สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีปริมาณการผลิต 22,904.2 ตันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.4 โดยปริมาณการผลิตขยายตัว ตามยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ สำหรับประเภทยาที่มีปริมาณการผลิตเติบโตดี คือ ยาน้ำ เพราะเป็นยาที่ผลิตและจำหน่ายได้ง่าย รวมทั้งราคาไม่แพง นอกจากนี้ยังมี ยาครีม ที่ขยายตัวดีเช่นกัน เนื่องจากผู้ผลิตได้ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าจนเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1 โดยเป็นการลดลงของยาน้ำ เนื่องจากมีการชะลอการผลิตลงจากที่มีการผลิตไปปริมาณมากแล้วในไตรมาสก่อน

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสสุดท้าย ของปี 2553 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศรวมถึงการนำเข้าและส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค จะชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเนื่องจากผู้ผลิต รวมถึงผู้สั่งซื้อ จะบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือในปริมาณที่สูงมากในช่วงปลายปี

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิต การจำหน่ายในประเทศและการส่งออก ซึ่งมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนจากแนวโน้มตลาดมีความต้องการสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอที่จะส่งเข้าไปยังเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ15.2 และส่งออกไปในตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการรับคำสั่งซื้อมาล่วงหน้าแล้ว แต่สำหรับเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะมีการผลิตที่ชะลอตัว เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ส่งผลให้โรงงานต้องหยุดการผลิต โดยเฉพาะโรงงานสิ่งทอในจังหวัดนครราชสีมาและขอนแก่น ซึ่งมีโรงงานสิ่งทอตั้งอยู่และเป็นโรงงานค่อน ข้างใหญ่ และการที่โรงงานหยุดการผลิตจะส่งผลต่อต้นทุนที่ตามมาจากปัญหาการส่งมอบล่าช้า ซึ่งไม่สามารถขนส่งและส่งมอบงานได้ทันเวลา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านเงินบาทแข็งค่า การส่งออกชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ต้นทุนวัตถุดิบจากการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.65 ล้านตันการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 8.73 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนการผลิตปูนเม็ด และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 3.79 และ 5.42 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ด และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.52 และ 4.05ตามลำดับ ซึ่งภาวะการขยายตัวอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ได้รับผลกระทบจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองในช่วงต้นปี ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้ชะลอการลงทุนออกไป ทั้งทางด้านผู้บริโภคเองก็ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคและการผลักดันโครงการลงทุนใหม่ๆ ของภาครัฐ ก็มีความล่าช้าออกไปอีก ประกอบกับในไตรมาสที่ 3 เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคในก่อสร้าง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วยอย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมในช่วง 9 เดือน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูง และปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวเนื่องจากในไตรมาส 4 นั้น ถือเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายหลังจากปัญหาน้ำท่วม

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 41.67 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 0.42 ซึ่งเป็นการลดลงในช่วงฤดูฝน แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.30

สำหรับการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.88 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อน มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.30 และ 22.43 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสนี้ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก

สำหรับการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัด ซึ่งหลังน้ำลดจะมีความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเพิ่มมากขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.84 และการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 การส่งออกภาพรวมลดลงร้อยละ 47.82 เป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป ลดลงคิดเป็นร้อยละ 75.54ตามลำดับ สำหรับสาเหตุที่การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลงอย่างมาก เนื่องจากไตรมาสก่อนหน้ามีการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปอย่างมาก จึงมีการชดเชยสินค้าคงคลังในไตรมาสนี้ ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจึงเป็นจังหวะที่เหมาะต่อการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูป

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ปัจจัยด้านบวก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นและจากการที่ความสัมพันธ์ของราคาน้ำมันดิบกับราคาทองคำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้แนวโน้มราคาทองคำในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ระดับ 1,300 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์และมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่านี้อีก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ