สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 14:22 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลก(ก)

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 3 ปี 2553 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ปัญหาการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงและปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ รวมถึงกระแสเงินทุนไหลเข้าจำนวนมหาศาลของประเทศทางเอเชีย ตลอดจนภาวะไร้เสถียรภาพของค่าเงิน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ยังคงฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ 73.82 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3ปี 2552 อยู่ที่ 68.27 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 0.46 USD/Barrel โดยมีราคาอยู่ที่ 86.95USD/Barrel เป็นผลมาจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(Quantitative easing : QE2) เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น รวมทั้งปริมาณสต๊อกน้ำมันดิบ น้ำมันกลั่น น้ำมันเบนซิน ของสหรัฐฯ ยังลดลงอีกด้วย

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา(ข)

ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ปี 2553 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 2.7 เป็นผลมาจากการลงทุนและการส่งออกที่ขยายตัวดี การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 3 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 1.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ0.9 การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 3 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 23.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552ที่หดตัวร้อยละ 24.0 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 50.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.8 เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจและความวิตกกังวลที่มีต่ออัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 3ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 72.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 67.4 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 90.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ85.1

การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 14.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552ที่หดตัวร้อยละ 13.8 การนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 18.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 16

อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -1.6 อัตราการว่างงานไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 9.6 เท่ากับไตรมาส 3 ปี 2552

ทางด้านสถานการณ์การเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.25 (เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553) และประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE2) โดยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพิ่มอีก 6 แสนล้านดอลลาร์ภายในกลางปีหน้า เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและเพื่อทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดต่ำลง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3 ปี 2553 ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยมีสัญญาณการฟื้นตัวจากการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น แต่ยังได้รับแรงกดดันจากอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

เศรษฐกิจจีน(ค)

เศรษฐกิจประเทศจีนในไตรมาส 3 ปี 2553 GDP ขยายตัวร้อยละ 9.6 ซึ่งขยายตัวเท่ากับไตรมาส 3 ปี 2552 มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 3 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 18.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3ปี 2552 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 15.4 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 106.5เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 102.5 ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส3 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 24.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 33.1 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 54.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 57.7

การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 32.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 20.3 การนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 27.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 11.9

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศจีนในไตรมาส 3 ปี 2553 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.5เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -1.3 เนื่องจากระดับราคาอาหารโดยทั่วไปที่สูงขึ้นหลังจากเกิดปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่และปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูร้อน อัตราการว่างงานในไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.3

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 5.31 เป็นร้อยละ 5.56 เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3 ปี 2553 ยังคงขยายตัวแต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากนโยบายปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เป็นมาตรการควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นมาก

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น(ง)

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ปี 2553 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 5.9 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 1.8เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 1.1 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 3 ปี 2553อยู่ที่ระดับ 39.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 38.8 การลงทุนในภาคก่อสร้างไตรมาส 2 ปี 2553 หดตัวร้อยละ 19.6 หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 25.2ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 93.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552ซึ่งอยู่ที่ระดับ 83.2

การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 18.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 34.5 การนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 13.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี2552 ที่หดตัวร้อยละ 39.7

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2553 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.8เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -2.2 เป็นผลมาจากปัญหากำลังซื้อภายในประเทศตกต่ำอันเนื่องมาจากปัญหาการว่างงาน อัตราการว่างงานในไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 5.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.4

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.1เนื่องจากเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวระดับปานกลาง

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2553 ยังคงฟื้นตัวแต่การฟื้นตัวมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นจะผลต่อการส่งออก ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกและการผลิตที่ชะลอตัว และรัฐบาลได้ถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป(จ)

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปในไตรมาส 2 ปี 2553 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 5.2 ปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมาจากการส่งออก ในส่วนของ GDP ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 6.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 17.3 เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัว การบริโภคไตรมาส 2 ปี2553 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 0.7 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 95.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 88.7 และในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 95.6 และ 96.2

การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 25.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 20.5 สำหรับการส่งออกในกรกฎาคม และสิงหาคม ขยายตัวร้อยละ 22.2 และ 34.8 ตามลำดับ เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น การนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 29.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี2552 ที่หดตัวร้อยละ 27.9 สำหรับมูลค่าการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ขยายตัวร้อยละ 28.9และ 35.4 ตามลำดับ

ภาวะเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มประเทศยุโรปในไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -0.4 อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดและพลังงานเป็นหลัก อัตราการว่างงานในไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 9.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9.3 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปยังมีอัตราการว่างงานสูงมากโดยเฉพาะสเปนและฝรั่งเศส

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.0 (เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553) เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปยังไม่แข็งแกร่ง อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหภาพยุโรปในไตรมาส 3 ปี 2553 คาดว่ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องการส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของยุโรป อย่างไรก็ตามปัญหาการว่างงานและปัญหาการขาดดุลการคลังที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในหลาย ๆ ประเทศยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป

เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมในเอเชีย

เศรษฐกิจฮ่องกง(ฉ)

ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกงในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือ การส่งออกที่ปรับขยายตัวดี ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่มีราคาสูง รวมถึงสินค้าในกลุ่มยานพาหนะ และสินค้าคงทนอื่นๆ ด้านการลงทุนรวมในไตรมาสนี้การลงทุนในเครื่องจักร และอุปกรณ์ขยายตัวดี โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของภาคเอกชน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจในแง่บวก

ด้านภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 อยู่ที่ระดับ 93.1ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 108,502 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 26.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฮ่องกง ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 31.1 ขณะที่ด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 116,983 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 24.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการเงินการธนาคาร ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2553 ลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนค่าเช่าบ้านและค่าไฟฟ้า รวมถึงอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย โดยตลาดแรงงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 อัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาลอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.6

เศรษฐกิจเกาหลีใต้(ช)

ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือ การส่งออกสินค้า และการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มีอัตราการขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการลงทุนในภาคการก่อสร้างในไตรมาสนี้ยังคงหดตัว

ด้านภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 อยู่ที่ระดับ 139.4 ขยายตัวร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าในส่วนของภาคบริการยังคงขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเกษตรกรรมหดตัวอย่างเห็นได้ชัดจากการได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน

ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 117,269ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 23.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวดี โดยมีตลาดส่งออกหลักอันดับหนึ่งคือ ตลาดจีนที่ในไตรมาสนี้การส่งออกไปยังจีนขยายตัวร้อยละ 22.9 ขณะที่การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 105,656 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 24.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าจากตลาดหลักอย่างจีน, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ด้านภาคการเงิน ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 หลังจากที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 2.0 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.25 ในเดือนกรกฎาคม 2553 แม้จะเผชิญกับแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2553 อยู่ที่ระดับ 117.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอลล์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคแรงงานในเดือนกันยายน 2553 เกาหลีใต้มีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.4 คงที่จากในเดือนสิงหาคม 2553

เศรษฐกิจสิงคโปร์(ซ)

ภาวะเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 GDP ขยายตัวร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 19.6 ขณะที่อัตราการว่างงานหลังปรับฤดูกาลในเดือนกันยายน 2553 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ลดลงเล็กน้อยจากในเดือนมิถุนายน 2553ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.2

ด้านภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 46.2

ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 86,366ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 36.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดหลักต่างปรับขยายตัวดี สำหรับการส่งออกในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ22.9 และ 33.8 ตามลำดับ ด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 77,114 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 33.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 28.2 และ 26.7 ตามลำดับ

ด้านการเงิน ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากราคายานพาหนะ และค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ปรับตัวสูงขึ้น

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย(ฌ)

ภาวะเศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือ การส่งออก การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมที่ปรับขยายตัวดี ทั้งนี้ผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหาร เช่น รถยนต์รถจักรยานยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น โดยความต้องการบริโภคสินค้าภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวดีช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุนให้กับนักลงทุน

ด้านภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากในเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.7

ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 36,984 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 36.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่าง ญี่ปุ่น ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 50.1 ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ต่างปรับขยายตัวดีเช่นกันสำหรับการส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 28.9 ด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของ ปี2553 มีมูลค่าการนำเข้า 32,976 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 48.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 45.4

ด้านการเงินการธนาคาร ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของอินโดนีเซียยังคงไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 6.5 เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ และควบคุม การไหลเข้าของเงินทุน ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น

เศรษฐกิจมาเลเซีย(ญ)

ภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซียในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 GDP ขยายตัวร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือ การบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนรวม และการส่งออกยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ด้านภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 อยู่ที่ระดับ 108.1ขยายตัวร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.4 และ 4.0 ตามลำดับ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2553 เป็นผลจากดัชนีภาคการผลิต และดัชนีไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นสำคัญ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 48,507ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 33.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดหลักต่างปรับขยายตัวดีมีขนาดการขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลัก สำหรับการส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2553ขยายตัวร้อยละ 25.6 ด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 41,263 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 42.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม2553 ขยายตัวร้อยละ 30.7

ด้านการเงิน ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 ธนาคารกลางมาเลเซียได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 2.5 เป็นร้อยละ 2.75 เนื่องจากเศรษฐกิจมาเลเซียเริ่มฟื้นตัว โดยมีดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 114.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ด้านตลาดแรงงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 อัตราการว่างงานของอินโดนีเซียอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 3.1

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์(ฎ)

ภาวะเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการส่งออกที่ขยายตัวสูง รวมถึงการบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวดี

ด้านภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 อยู่ที่ระดับ 148.3 ขยายตัวร้อยละ 20.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ขยายตัวร้อยละ 15.4 และ 16.3 ตามลำดับ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 12,391ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 33.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 28.4 และ 24.8 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังสิงคโปร์ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 136.8 สำหรับการส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 36.0ด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 13,499 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ25.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 16.2

ด้านการเงินการธนาคาร ดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 อยู่ที่ระดับ 166.5 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ชะลอลงจากในเดือนสิงหาคม 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.0

เศรษฐกิจอินเดีย(ฏ)

ภาวะเศรษฐกิจของอินเดียในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 GDP ขยายตัวร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการที่ขยายตัวสูง โดยภาคการผลิตในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 310.4 ขยายตัวร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 15.2 และ 5.6 ตามลำดับ โดยผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2553 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากผลผลิตสินค้าทุนหดตัวร้อยละ 2.6 จากที่เดิมในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 63 ขณะที่ผลผลิตสินค้าขั้นพื้นฐานและสินค้าขั้นกลาง ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนกรกฎาคม 2553

ภาคการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกของอินเดียในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกรวม 50,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 32.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการส่งออกในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ขยายตัวร้อยละ 13.2 และ 22.5 ตามลำดับ ด้านการนำเข้า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 อินเดียมีมูลค่าการนำเข้า 83,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 33.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการส่งออกในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2553 ขยายตัว ร้อยละ34.3 และ 32.2 ตามลำดับ

ด้านภาคการเงินการธนาคาร ในวันที่ 16 กันยายน 2553 ธนาคารกลางอินเดียได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 5.75 เป็นร้อยละ 6 จากแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยในเดือนกันยายน 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงขยายตัวสูงที่ร้อยละ 8.6 จากราคาสินค้าอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นรวมถึงราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ที่ระดับสูง

หมายเหตุ

(ก) - ข้อมูลบางส่วนของบางประเทศล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 2 ปี 2553

  • ที่มา www.eia.doe.gov www.thaioil.co.th

(ข) - ที่มา www.worldbank.org www.imf.org www.bea.gov www.ceicdata.com

(ค) - ที่มา www.stats.gov.cn, www.pbc.gov.cn, www.ceicdata.com

(ง) - ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2 ปี 2553

  • www.cao.go.jp www.boj.or.jp www.stat.go.jp www.ceicdata.com

(จ) - ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2 ปี 2553

  • ที่มา eurostat, www.ecb.int www.ceicdata.com

(ฉ) ที่มา : http://www.censtatd.gov.hk, http://www.exim.go.th, http://www.ceicdata.com, http://www.gtis.com/gta

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553

(ช) ที่มา : http://ecos.bok.or.kr, http://mosf.go.kr, http://www.ceicdata.com, http://www.gtis.com/gta

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553

(ซ) ที่มา : http://www.singstat.gov.sg, http://www.ceicdata.com,http://www.gtis.com/gta

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553

(ฌ) ที่มา : http://www.bi.go.id, http://apecthai.org, http://www.ceicdata.com, http://www.gtis.com/gta

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553

(ญ) ที่มา : http://www.statistics.gov.my, http://www.exim.go.th,http://www.ceicdata.com, http://www.gtis.com/gta

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553

(ฎ) ที่มา : http://www.nscb.gov.ph, http://apecthai.org, http://www.ceicdata.com, http://www.gtis.com/gta

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553

(ฏ) ที่มา : http://rbi.org.in, http://www.ceicdata.com http://apecthai.org, http://bangkokbank.com

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ