สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 15:29 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (Petrochemical Industry)

ไตรมาส 3 ปี 2553 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียมีความผันผวน โดยปรับตัวลดลงในช่วงต้นไตรมาส ช่วงกลางไตรมาสปรับตัวเพิ่มขึ้น และปลายไตรมาสค่อนข้างทรงตัวโดยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาน้ำมันดิบ สาเหตุของการปรับลดลงเนื่องจาก มีปริมาณแนฟธาจำนวนมากจากตะวันออกกลางและอินเดียไหลเข้าสู่ตลาดเอเซีย สาเหตุของการปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจาก การเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายและความต้องการที่มีเข้ามาจากผู้ใช้ปลายทาง เพราะมีการปิดซ่อมบำรุงแครกเกอร์ตามแผนและการปิดกระทันหันเนื่องจากเกิดปัญหาทางเทคนิค ส่วนราคาเอทิลีนโดยเฉลี่ยของตลาดเอเชียมีการปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบและแนฟธา โดยปรับลดลงในช่วงต้นไตรมาส และปรับเพิ่มขึ้นในช่วงกลางต่อเนื่องถึงปลายไตรมาส มีปัจจัยหลักของการลดลง ได้แก่ ความต้องการใช้มีน้อยโดยเฉพาะผู้ใช้ในสาย PE ส่วนปัจจัยหลักของการเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุปทานในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมีน้อย จากการหยุดเดินเครื่องแครกเกอร์ในไตหวันและอุปทานเอทิลีนจากตะวันออกกลางเข้าสู่เอเชียลดลงเนื่องจากปัญหาด้านการผลิต และกิจกรรมการซื้อขายมีน้อย

สำหรับการซื้อขายเม็ดพลาสติกทั้ง PE และ PP ในช่วงต้นไตรมาสปรับลดลงค่อนข้างมากตามการปรับลดลงของราคาวัตถุดิบเอทิลีนและอุปทานสินค้ามีจำนวนมาก ส่วนในช่วงกลางต่อเนื่องปลายไตรมาสปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ อุปทานสินค้ามีจำกัด และการเพิ่มขึ้นของราคาในตลาดจีน

การผลิต

ไตรมาส 3 ปี 2553 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ มีการปิดซ่อมบำรุงแนฟธาแครกเกอร์ขนาดกำลังการผลิต 515,000 ตัน/ปี ในช่วงต้นไตรมาสที่ผ่านมา มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิต LDPE แห่งใหม่ขนาด 300,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ปี 2553 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการโรงแยกก๊าซเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเอทิลีนที่โรงอีเทนแครกเกอร์แห่งใหม่ขนาด 1 ล้านตัน/ปีรวมถึงมีแผนเปิดดำเนินงานโรงงาน HDPE แห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 250,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายไตรมาสที่ 4 ของปี 2553

สำหรับการผลิตในภูมิภาคเอเชีย รัฐบาลอินเดีย อนุมัติให้สร้างศูนย์กลางการผลิตปิโตรเคมีโดยคาดว่าโครงการเฟสแรกจะแล้วเสร็จในปี 2557 ขณะที่ทั้งโครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562

  • ประเทศจีน ดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตโพรพิลีนแห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 600,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2555 มีแผนสร้างโรงงานผลิต Polypropylene แห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 400,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2556 และมีแผนเปิดดำเนินการโรงงานผลิต carbide-based polyvinyl chloride (PVC) แห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 400,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ปี 2553 นอกจากนี้ ได้มีการลงนามความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในโครงการพลังงานและปิโตรเคมีในต่างประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างโรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมีขั้นปลายในภูมิภาคต่างๆ โดยเน้นการลงทุนไปที่อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และอเมริกากลาง เพื่อเพิ่มช่องทางในการเสาะหาทรัพยากร
  • ประเทศไตหวัน มีแผนลงทุนเพื่อขยายคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี โดยจะมีการก่อสร้างโรงงานใหม่ถึง 43 โรงงาน ทั้งที่เป็นขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมจาก Environmental Protection Administration (EPA) ของไตหวัน
  • ประเทศอินโดนีเซีย มีแผนควบรวมกิจการ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบริษัทใหญ่ในระดับภูมิภาค ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลง
  • ประเทศซาอุดิอาระเบีย เปิดดำเนินการอีเทนแครกเกอร์แห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 1.35 ล้านตัน/ปี
  • ประเทศอิหร่าน เปิดดำเนินการโรงงานปิโตรเคมีแห่งใหม่ 2 แห่ง ทำให้มีกำลังการผลิตปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นประมาณ 2.25 ล้านตัน โดยเน้นการผลิตเอทิลีน นอกจากนี้ได้เลื่อนการเปิดดำเนินการโรงงานผลิต LDPE ขนาดกำลังการผลิต 300,000 ตัน/ปี เป็นครั้งที่ 2 จากกลางไตรมาส 4 ปี 2553 เป็นต้นไตรมาสแรก ปี 2554
  • ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์อีเทนแครกเกอร์แห่งใหม่ขนาดกำลังการผลิต 1.5 ล้านตัน/ปี ในช่วงต้นไตรมาสที่ผ่านมา และได้เปิดดำเนินการโรงงานผลิต PP แห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 800,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายไตรมาสที่ผ่านมา

การตลาด

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2553 ราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก(ราคาเฉลี่ย SE Asia CIF) ในเดือนกันยายน 2553 ของ LDPE, HDPE, และ PP อยู่ที่ระดับ 43.39, 36.26และ 40.49 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE มีระดับราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ระดับราคา 42.91 บาท/กิโลกรัม ส่วน HDPE และ PP มีระดับราคาเฉลี่ยลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ระดับราคา36.86 และ 44.48 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 3 ปี 2553 การนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 3,226.41 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 6,622.65 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 24,275.48 ล้านบาทลดลงร้อยละ 6.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก

ไตรมาส 3 ปี 2553 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 8,995.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.11 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 11,834.69 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 49,992.75ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

จากการที่อุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการขยายกำลังการผลิตจากประเทศในแถบตะวันออกกลางและจีน ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น และปัจจัยที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ การแข็งค่าของเงินบาท สภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป และกรณีปัญหาโครงการปิโตรเคมีต่างๆในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ดังนั้น ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ การรักษากลุ่มลูกค้าเก่าและการรุกหาตลาดใหม่ จะช่วยให้สามารถลดความเสี่ยงลงได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ