สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 15:37 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีค่าดัชนีผลผลิต 101.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 3.3 และ 11.8 ตามลำดับ ในส่วนของภาวะการผลิตกระดาษ ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก ในไตรมาสนี้กระดาษพิมพ์เขียนและกระดาษคราฟท์ มีค่าดัชนีผลผลิต 116.2 และ 121.4 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 4.7 และ 5.8 ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับค่าดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษ และสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ที่ลดลง(ตารางที่ 1 และ ตารางที่ 2) เนื่องจากมีสินค้าคงคลังเหลือจากไตรมาสก่อน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศกระเตื้องขึ้นแต่ในอัตราที่ลดลง สำหรับภาวะการผลิตกระดาษแข็งและกระดาษลูกฟูก มีค่าดัชนีผลผลิต 144.3 และ 196.5 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และ 5.2 ตามลำดับ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นเช่นกันเนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้กระดาษดังกล่าวเพื่อบรรจุสินค้าและป้องกันความเสียหายจากการขนส่งในทุกภาคการผลิต ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคบริการ ในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ที่คาดว่าผู้บริโภคสินค้าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

หากเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 2553 กับช่วง 9 เดือนของปีก่อน ค่าดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษทุกประเภทเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันเป็นผลจากปัจจัยสนับสนุน อาทิ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ดำเนินโครงการไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ประกอบกับมีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ทำให้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษได้รับผลพลอยได้ขยายตัวตามไปด้วย จากปริมาณความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณา และไปรษณียบัตร เพิ่มขึ้น

2. การนำเข้าและการส่งออก

2.1 การนำเข้า

ภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่า 209.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.0 และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และช่วง 9 เดือนของปี 2553 กับ 9 เดือนของปีก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน(ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 4) เนื่องจากราคาเยื่อกระดาษและเศษกระดาษปรับตัวค่อนข้างสูงในช่วงต้นไตรมาสต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยมีราคาเยื่อกระดาษใยสั้นและใยยาว อยู่ที่เฉลี่ยตันละประมาณ 970 - 1,020 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมจะอยู่ที่เฉลี่ยตันละประมาณ 860 - 990 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 2553 กับ 9 เดือนของปีก่อนปริมาณการนำเข้ากลับเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้มีการขยายตัวของการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษจากทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศนอร์เวย์และฟินแลนด์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเยื่อใยยาวที่สำคัญของโลก ประกอบกับเป็นการรองรับการบริโภคที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

ภาวะการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่า 374.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.0 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และช่วง 9 เดือนของปี 2553 กับ 9 เดือนของปีก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับไตรมาสก่อน(ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 4) เนื่องจากมีการขยายตัวในการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษทุกประเภท ยกเว้นกระดาษหนังสือพิมพ์ เพื่อรองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญจากประเทศญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์

ภาวะการนำเข้าสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่า 46.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 61.9 และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552และช่วง 9 เดือนของปี 2553 กับ 9 เดือนของปีก่อน กลับเพิ่มขึ้นสวนทางกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3)ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์ มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า ยกเว้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีทิศทางเพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสก่อน (ตารางที่ 4)สาเหตุที่ปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากน้ำหนักของสิ่งพิมพ์แต่ละประเภทไม่เท่ากัน ซึ่งในไตรมาสนี้มีการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเป็นเล่มมากขึ้นโดยเฉพาะตำราเรียนจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งมีน้ำหนักมาก เมื่อเทียบกับสิ่งพิมพ์ประเภทอื่น ๆ เพื่อรองรับงานมหกรรมหนังสือ และการเรียนการสอนของนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้มูลค่าสิ่งพิมพ์นำเข้าถูกลงโดยเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบปริมาณกับมูลค่าการนำเข้า ในไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 และช่วง 9 เดือนของปีก่อน เพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ทำให้มีการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทฟุ่มเฟือยจำพวกภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และอื่น ๆจากประเทศเกาหลีใต้ มากเป็นอันดับ 1 ตามกระแสความนิยมในภาพยนตร์ ละคร บทเพลง และตัวนักแสดงนักร้อง

2.2 การส่งออก

ภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่า 25.5 334.2 และ 395.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 3.6 และ 29.2 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 มูลค่าการส่งออกเยื่อกระดาษ และกระดาษเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 79.6 และ 4.6 ตามลำดับหากเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 2553 กับ 9 เดือนของปีก่อน มูลค่าการส่งออกทั้งเยื่อกระดาษกระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์ เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 5) จากปัจจัยบวกที่สำคัญ คือการเตรียมรองรับอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ของประเทศคู่ค้า โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ตลาดอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง

ในส่วนปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 2553 กับ 9 เดือนของปีก่อน ปริมาณกลับลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออกของเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ (ตารางที่ 6) เนื่องจากราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป มีกำลังซื้อลดลง ด้วยเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว

3. นโยบายภาครัฐ

3.1 ปีงบประมาณ 2553 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้มีการดำเนินโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ โดยเน้นด้านการส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์ การเพิ่มประสิทธิภาพโซ่อุปทานสิ่งพิมพ์ และการเสริมสร้างทรัพยากรบุคคลและองค์ความรู้เพื่อใช้ในการส่งเสริม พัฒนา และแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้กับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทย ซึ่งจะมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้รับผลพลอยได้จากส่งเสริมและพัฒนาด้วย3.2 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 ให้กระทรวงการคลังและ

กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันศึกษาการนำมาตรการทางภาษีมาใช้เพื่อสนับสนุนการอ่าน ซึ่งคาดว่าจะมีการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายในการบริจาคหนังสือและการซื้อหนังสือ รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ โดยให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์เข้ามาอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราร้อยละ 0

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะการผลิต เยื่อกระดาษ และกระดาษ โดยรวมในไตรมาสนี้ ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากยังคงมีสินค้าในสต๊อก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศกระเตื้องขึ้นในอัตราที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาวะการนำเข้า และการส่งออก โดยรวมในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับปริมาณความต้องการอุปโภคบริโภคในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ และหากเปรียบเทียบช่วง 9 เดือนของปี 2553 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งภาวะการผลิต การนำเข้า และการส่งออกอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ดำเนินโครงการไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ประกอบกับมีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ทำให้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ได้รับผลพลอยได้ขยายตัวตามไปด้วย จากปริมาณความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณา และไปรษณียบัตร เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การปรับตัวที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจจะด้วยฐานข้อมูลของ ปี 2552 ต่ำกว่าปี 2553

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้าคาดว่า ทั้งภาวะการผลิต การส่งออก และการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ จะทรงตัวเนื่องจากผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาท การประสบปัญหาภัยธรรมชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อาจส่งผลให้อุปสงค์ตลาดทั้งภายในและตลาดโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกในประเทศที่จะกระตุ้นให้มีการซื้อหนังสือเพิ่มขึ้น จากการที่คาดว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายในการบริจาคหนังสือและการซื้อหนังสือ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ