สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมเซรามิก)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 15:45 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 41.67 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 0.42 ซึ่งเป็นการลดลงในช่วงฤดูฝนแต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.30สำหรับการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.88 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อน มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.30 และ 22.43 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสนี้ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก (ดังตารางที่ 1 และ 2)

การผลิตเซรามิก ในระยะ 9 เดือนของปี 2553 เติบโตเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้การผลิตเซรามิกเพิ่มขึ้น โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 122.19 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 5.29 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.62 และ 21.83 ตามลำดับ

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

การจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 39.80 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.06 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 6.23 และ 0.36 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดที่ซบเซาในช่วงฤดูฝน แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ10.57 และ 6.37 ตามลำดับ ซึ่งเติบโตตามการขยายตัวตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น (ดังตารางที่1 และ 2)

การจำหน่ายเซรามิก ในระยะ 9 เดือนของปี 2553 เติบโตเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยการจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 124.86 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 3.28 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนในอัตรา ร้อยละ 13.42 และ13.31 ตามลำดับ

2.2 การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่ารวม 169.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดังตารางที่ 3) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.11 และ23.12 ตามลำดับ โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้น กระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่การส่งออกลดลงในตลาดหลักที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา และของชำร่วยเครื่องประดับที่การส่งออกลดลงในตลาดหลักทั้งญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป

การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกส่วนใหญ่จะส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน เยอรมนี และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ในระยะ 9 เดือนของปี 2553มีมูลค่ารวม 453.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.03 ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์สามารถส่งออกเพิ่มขึ้น ยกเว้น ของชำร่วยเครื่องประดับ ที่ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง

2.3 การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เยอรมนี และสเปน โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่า 98.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.71 และ 46.00ตามลำดับ (ดังตารางที่ 4) สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ในระยะ 9 เดือนของปี 2553 มีมูลค่ารวม264.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 67.49 ซึ่งการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับใช้ตามห้องปฏิบัติการจะนำเข้าจากญี่ปุ่น และมาเลเซีย เป็นหลัก สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ส่วนใหญ่จะนำเข้ากระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่มีราคาถูกจากจีน และเวียดนามและนำเข้าอิฐทนไฟจากจีน เยอรมนี และญี่ปุ่น

3. สรุป

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ลดลงตามฤดูกาล เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศลดลง ในส่วนของการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ แม้ว่าไตรมาสนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่การเติบโตที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกสำหรับการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัด ซึ่งหลังน้ำลดจะมีความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเพิ่มมากขึ้น

การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ในภาพรวมมีการเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้น กระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่การส่งออกลดลงในตลาดหลักที่สำคัญคือสหรัฐอเมริกา และของชำร่วยเครื่องประดับที่การส่งออกลดลงในตลาดหลักทั้งญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่หากเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ อาจส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ