สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2553 และแนวโน้มปี 2554(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 21, 2010 14:16 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2553 คาดว่า มีปริมาณ 30,683.8 ตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 9.4 โดยปริมาณการผลิตขยายตัวตามยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ สำหรับประเภทยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ยาน้ำ เพราะเป็นยาที่ผลิตและจำหน่ายได้ง่าย รวมทั้งราคาไม่แพง ยาผง เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าหลักกลับเข้ามา หลังจากที่ลดลงไปเมื่อปีก่อน และยาครีม จากการที่ผู้ผลิตได้ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าจนเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2553 คาดว่า มีปริมาณ 30,619.4 ตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 13.6 เป็นผลจากการที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการควบคุมการเบิกค่าใช้จ่ายด้านยา ประกอบกับโครงการหลักประกันสุขภาพยังคงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีความต้องการใช้ยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น สำหรับช่องทางการจำหน่ายหลักของผู้ประกอบการยังคงเป็นโรงพยาบาล และคลินิก แต่เริ่มมีแผนที่จะวางจำหน่ายสินค้าในช่องทางร้านขายยามากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตดี โดยจะวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ในร้านขายยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค รวมถึงการหาลูกค้าร้านขายยาใหม่ ๆ ด้วย

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในปี 2553 คาดว่า จะมีมูลค่า 37,911 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 2.4 ตลาดนำเข้าที่สำคัญในปีนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศสเยอรมนี และสหราชอาณาจักร โดยการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมประมาณ 17,000ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้ายายังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งยาต้นแบบ และยาสามัญ ซึ่งบริษัทยานำเข้าได้ใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การจำหน่ายยาให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง การเริ่มปรับราคายาบางรายการลงมาให้สอดคล้องกับรายได้ของประชากร รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตามมูลค่าการนำเข้ามีอัตราการขยายตัวไม่สูงมากนัก เนื่องจากภาครัฐควบคุมการเบิกจ่ายยาและเวชภัณฑ์ ทำให้สถานพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลง

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในปี 2553 คาดว่า มีมูลค่า 6,342.1 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 13.0 ตลาดส่งออกสำคัญในปีนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซียและฮ่องกง โดยการส่งออกไปประเทศดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมประมาณ 4,000 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ทั้งนี้ การขยายตัวของการส่งออกยาเนื่องมาจากผู้ประกอบการได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า และสามารถขยายตลาดส่งออกทั้งเก่าและใหม่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้ผลิตในประเทศยังรับจ้างผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกผลิตยา เพื่อป้อนตลาดต่างประเทศด้วย ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกยาเพิ่มสูงขึ้น

5. นโยบายภาครัฐ

5.1 การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2552

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง การกำ หนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 โดยกำหนดให้สินค้า จำนวน 38 รายการ และบริการ จำนวน 1 รายการ รวม 39 รายการ เป็นสินค้าและบริการควบคุมในปี 2553 ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 ซึ่งยารักษาโรค เป็น 1 ในรายการสินค้าควบคุม ภายในหมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์

5.2 มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการควบคุมการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 เพื่อลดการใช้ยาเกินความจำเป็น ตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้

1) อนุมัติในหลักการให้มีการตรวจสอบและควบคุมการเบิกจ่ายค่ายาบางกลุ่มหรือรายการให้เป็นไปตามบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือตามเงื่อนไขและข้อบ่งชี้ที่องค์กรวิชาชีพกำหนด โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลและความคิดเห็น รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ทั้งนี้เพื่อให้การพิจารณาและดำเนินการเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ และสอดคล้องกับฐานอำนาจตามกฎหมาย

2) มอบหมายให้กรมบัญชีกลางร่วมกับหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ระบบการออมเพื่อสุขภาพ (Medisave) สำหรับข้าราชการบรรจุใหม่และแนวทางการอภิบาลระบบเพื่อปฏิรูปองค์กรบริหารจัดการระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

3) มอบหมายให้กรมบัญชีกลางร่วมกับหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องศึกษาการกำหนดอัตราจ่ายล่วงหน้ารายกลุ่มโรคสำหรับการรักษาประเภทผู้ป่วยภายนอก โดยกรมบัญชีกลางตกลงราคาเหมาจ่ายรายโรคให้กับสถานพยาบาล

6. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ตามยอดคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศ ประกอบกับผู้ผลิตได้ปรับปรุงสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น สำหรับปริมาณการจำหน่ายในประเทศมีการขยายตัวเช่นกัน จากการที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการควบคุมการเบิกค่าใช้จ่ายด้านยา รวมถึงโครงการหลักประกันสุขภาพยังคงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยช่องทางการจำหน่ายหลักของผู้ประกอบการยังคงเป็นโรงพยาบาลและคลินิก แต่เริ่มมีแผนที่จะวางจำหน่ายสินค้าในช่องทางร้านขายยามากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่เติบโตดี

สำหรับมูลค่าการนำเข้ายามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งยาต้นแบบ และยาสามัญ แต่อัตราการขยายตัวดังกล่าวไม่สูงมากนัก เนื่องจากภาครัฐควบคุมการเบิกจ่ายยาและเวชภัณฑ์ ทำให้สถานพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลง ในส่วนมูลค่าการส่งออก มีการขยายตัวเช่นกัน จากการที่ผู้ประกอบการได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า และสามารถขยายตลาดส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้ผลิตในประเทศยังรับจ้างผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกผลิตยา เพื่อป้อนตลาดต่างประเทศด้วย

ในปี 2554 ปริมาณการผลิต การจำหน่ายยา และการส่งออกยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากผู้ผลิตยาในประเทศเป็นผู้ผลิตยาสามัญ ซึ่งเป็นประเภทของยาที่ตลาดมีแนวโน้มความต้องการมากขึ้น เพราะมีราคาถูก รวมทั้งมียาสิทธิบัตรหลายชนิดที่กำลังจะหมดอายุลงในอนาคต ส่งผลให้ยาเหล่านั้นสามารถนำมาผลิตและจำหน่ายได้ ผู้ผลิตจึงเตรียมที่จะผลิตยาสามัญ ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด นอกจากนี้งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐรายหัวตามโครงการหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในปีงบประมาณ 2554 ได้ปรับเพิ่มขึ้นหัวละ 145 บาท เป็นหัวละ 2,546 บาทต่อปี ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในประเทศสำหรับการนำเข้า คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัว จากจำนวนประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้นำเข้ายังคงดำเนินกลยุทธ์ด้านการตลาดและสังคมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าอาจไม่ขยายตัวในอัตราที่สูงมาก เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการควบคุมการใช้จ่ายด้านยา

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ