สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมเซรามิก)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 15:46 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 36.29 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงในอัตราร้อยละ 12.64 แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.55 ในขณะที่การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.88 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.04 และ 23.32 ตามลำดับ ทั้งนี้ การเติบโตของเครื่องสุขภัณฑ์จะมีอัตราสูงกว่ากระเบื้องปูพื้น บุผนัง ซึ่งเครื่องสุขภัณฑ์สามารถขยายตัวได้ตามการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่มีเพิ่มมากขึ้น (ดังตารางที่ 1 และ 2)

ในปี 2553 การผลิตเซรามิกเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการปรับตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับมีการผลิตเพื่อรองรับการเร่งโอนกรรมสิทธิ์จำนวนมากให้ทันกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2553 โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 158.36 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 7.17 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ในอัตราร้อยละ 11.70 และ 22.21 ตามลำดับ

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

การจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 38.26 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.04 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงในอัตราร้อยละ 3.87 และ 1.31 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7.44 และ 5.39 ตามลำดับ (ดังตารางที่ 1 และ 2) ซึ่งการจำหน่ายเซรามิกในประเทศได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และยังต้องแข่งขันอย่างรุนแรงกับสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกจากจีน

ในปี 2553 การจำหน่ายเซรามิกเติบโตเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศและการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเร่งโอนกรรมสิทธิ์จำนวนมากให้ทันเวลา ทำให้ความต้องการใช้เซรามิกในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการผลิตเซรามิก โดยการจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนังมีปริมาณ 163.15 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 4.33 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ในอัตราร้อยละ 11.97 และ 11.29 ตามลำดับ

2.2 การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่ารวม 175.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3.89 และ 22.74 ตามลำดับ ดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เกือบทุกผลิตภัณฑ์มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ยกเว้น ของชำร่วยเครื่องประดับที่การส่งออกลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่การส่งออกลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกาเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน (ดังตารางที่ 3)

การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกจะส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน เยอรมนี และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ในปี 2553 มีมูลค่ารวม 629.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ในอัตราร้อยละ 15.59 ซึ่งเกือบทุกผลิตภัณฑ์มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ยกเว้นของชำร่วยเครื่องประดับที่ขีดความสามารถในการส่งออกลดลง โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

2.3 การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่ารวม 89.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงในอัตราร้อยละ 8.66 แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 28.78 (ดังตารางที่ 4) สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ในปี 2553 ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ โดยมีมูลค่ารวม 354.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2552ในอัตราร้อยละ 55.62 ซึ่งเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับใช้ตามห้องปฏิบัติการจากมาเลเซีย และญี่ปุ่นและนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ได้แก่ อิฐทนไฟจากประเทศจีน เยอรมนี และญี่ปุ่น หลอดหรือท่อเซรามิกจากเกาหลีใต้ และกระเบื้องปูพื้น บุผนัง จากจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย

3. สรุป

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจาก ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และยังต้องแข่งขันอย่างรุนแรงกับสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกจากจีน ทำให้ไม่สามารถเติบโตได้สำหรับการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของตลาดในช่วงฤดูกาลขาย และความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด

การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเกือบทุกผลิตภัณฑ์มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ยกเว้น ของชำร่วยเครื่องประดับที่ขีดความสามารถในการส่งออกลดลงซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจของโลก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ