สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2554(อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 6, 2011 14:09 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1.ภาวะทั่วไปของอุตสาหกรรม

ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 127.66 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 7.47 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.66 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น หม้อหุงข้าว สายไฟฟ้า ตู้เย็น เป็นต้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.48 16.99 และ 15.29 ตามลำดับ ยกเว้นสินค้าบางตัวที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ โทรทัศน์สี(CRT) ขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว และขนาดจอเท่ากับ 21 นิ้วหรือมากกว่า 21 นิ้วขึ้นไป อย่างไรก็ตามการผลิตในหมวดเครื่องใช้ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและส่งออก และความต้องการในตลาดส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การผลิตสูงขึ้น

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ารวม ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่า 5,730.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.21 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกในตลาดใหม่เพิ่มเติมในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการลดลงของภาษีศุลกากรตามข้อตกลงการเปิดการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) รวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกหลัก เช่น ญี่ปุ่น อียู และอาเซียน ส่งผลให้การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่าย TV, VDO และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าค่อนข้างมาก โดยสินค้าที่ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ Printer และ HDD สำหรับสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือ Other IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.07 รองลงมาคือ Semiconductor ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.09

มูลค่าส่งออกเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่ารวม 8,300.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.67 เมื่อเทียบไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.51 ตลาดส่งออกที่สำคัญของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ จีน อาเซียน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้นสำหรับตลาดอื่นๆ ที่ส่งออกได้ดี ได้แก่ ตลาดฮ่องกงและไต้หวันอันเป็นศูนย์กระจายสินค้า ไอทีที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียโดยรวม มูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี และเครื่องอุปกรณ์ใช้สำหรับโทรศัพท์ หรือโทรเลข อุปกรณ์อื่นๆ

แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3/2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องคอมเพรสเซอร์ อุตสาหกรรมตู้เย็น และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.48 8.89 และ 5.07 ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3/2554 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ IC เป็นหลัก หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95 HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.42 และ Semiconductor devices Transisters ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.94 โดยความต้องการสินค้า consumer electronics แต่คงมีอัตราการขยายตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากฐานที่สูง ทั้งนี้ส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลกรวมถึงความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปด้านไอทีมีผลเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมยังคงมีความต้องการแรงงานเพื่อรองรับกับการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นและความกังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศกับคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา มีตัวเลขเศรษฐกิจที่มิได้บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การว่างงานในสหรัฐฯยังมิได้ลดลง ส่วนประเทศในอียูบางประเทศ เช่น ประเทศกรีซ ที่ต้องพึ่งพาการกู้เงินจากธนาคารกลางยุโรป และมีการประท้วงของประชาชนที่ไม่ต้องการเสียภาษีที่เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยหนี้สินสาธารณะที่มีมาก เป็นต้น ทำให้การส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอนสูงที่จะส่งออกได้มากเหมือนช่วงก่อนวิกฤตส่วนปัจจัยในประเทศ นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้ว ความผันผวนของปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคของไทยยังคงเป็นปัจจัยที่กระทบกับภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เช่น ต้นทุนจากวัตถุดิบ น้ำมันที่ปรับราคาสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นกันอาจส่งผลต่อการผลิตได้

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

2.1 การผลิต

ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 127.66 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 7.47 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.66 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น หม้อหุงข้าว สายไฟฟ้า ตู้เย็น เป็นต้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.48 16.99 และ 15.29 ตามลำดับ ยกเว้นสินค้าบางตัวที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ โทรทัศน์สี(CRT) ขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว และขนาดจอเท่ากับ 21 นิ้วหรือมากกว่า 21 นิ้วขึ้นไป อย่างไรก็ตามการผลิตในหมวดเครื่องใช้ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและส่งออก และความต้องการในตลาดส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การผลิตสูงขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า (Household electrical machinary) ของประเทศญี่ปุ่นไตรมาสที่ 2 ปี 2554 ซึ่งรายงานโดย Ministry of Economic, Trade and Industry ประเทศญี่ปุ่น พบว่าดัชนีผลผลิตมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 2.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 ผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ได้แก่ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น และพัดลม การผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นไปได้ว่าญี่ปุ่นต้องการผลิตเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ที่สูญเสียไปกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิก็เป็นได้

2.2 การตลาด

จากรายงานดัชนีการส่งสินค้าของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.32 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.75

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ สายไฟฟ้า หม้อหุงข้าว และตู้เย็น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.41 16.89 และ 15.82 ตามลำดับ ทั้งนี้ภาวะการตลาดของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกประเภท ยกเว้น โทรทัศน์สี(CRT) ขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว โทรทัศน์สี (CRT) ขนาดจอเท่ากับ 21 นิ้วหรือมากกว่า 21 นิ้วขึ้นไป โดยมีอัตราการหดตัว 53.24% และ 49.55% ทั้งนี้เครื่องรับโทรทัศน์ (CRT-TV) ที่มีการปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้บริโภคหันมาซื้อโทรทัศน์ในกลุ่มจอแบน ทั้งแอลซีดีทีวี แอลอีดีทีวี และพลาสมา

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ารวม ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่า 5,730.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.21 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกในตลาดใหม่เพิ่มเติมในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการลดลงของภาษีศุลกากรตามข้อตกลงการเปิดการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) รวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกหลัก เช่น ญี่ปุ่น อียู และอาเซียน ส่งผลให้การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรกในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่าย TV, VDO และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร โดยมีมูลค่าส่งออก 1,095.72 ล้านเหรียญสหรัฐ 483.50 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 483.29 ล้านเหรียญสหรัฐ

เครื่องปรับอากาศมีมูลค่ารวม 1,095.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.38 โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศที่มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป และตะวันออกกลาง มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 37.44% และ 59.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวผู้ประกอบการได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค รวมถึงรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตทำให้ความสามารถในการทำตลาดดีขึ้น ส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศให้สูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับตลาดส่งออกหลักและมีสัดส่วนมากที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 ได้แก่ ตลาดอาเซียน มีมูลค่าส่งออก 1,030.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.02 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าหลักที่ส่งออกไปตลาดอาเซียน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร และมอเตอร์ขนาดเล็ก เป็นต้น

ตลาดที่มีมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับรองลงมา ได้แก่ ตลาดส่งออกญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า 14.75% มีมูลค่าส่งออก 844.17 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าหลักที่ส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น

3. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

3.1 การผลิต ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าค่อนข้างมาก โดยสินค้าที่ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ Printer และ HDD โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 94.56 และ 1.16 ตามลำดับ

สำหรับสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือ Other IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.07 รองลงมาคือ Semiconductor ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.09

3.2 การตลาด

จากรายงานดัชนีการส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสะท้อนภาวะตลาดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนภาวะตลาดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.54 และทรงตัวร้อยละ 0.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จากรายงานของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry Association) ของสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงร้อยละ 1.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.43 ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะในอียูสหรัฐอเมริกา และเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน เป็นตลาดสำคัญ และความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการเติบโตของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นตัวเร่งปริมาณชิ้นส่วนและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากตามไปด้วย ทั้งนี้ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นที่มีการปรับตัวลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวและสึนามิ

การส่งออก

มูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่ารวม 8,300.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.67 เมื่อเทียบไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.51 ตลาดส่งออกที่สำคัญของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ จีน อาเซียน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับตลาดอื่นๆ ที่ส่งออกได้ดี ได้แก่ ตลาดฮ่องกงและไต้หวันอันเป็นศูนย์กระจายสินค้า ไอทีที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียโดยรวม

มูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี และเครื่องอุปกรณ์ใช้สำหรับโทรศัพท์ หรือโทรเลข อุปกรณ์อื่นๆ

ตลาดหลักของการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ตลาดจีน มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 19.04% มีมูลค่าส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มูลค่า 1,580.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทรงตัวร้อยละ 0.80 สินค้าหลักที่ส่งออกในตลาดดังกล่าว ได้แก่ ส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์

ตลาดส่งออกอาเซียน มีสัดส่วนการตลาด 15.37% เป็นอันดับ 2 ของการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่า 1,276.05 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.35 สินค้าหลักที่ส่งออกไปยังตลาดดังกล่าว ได้แก่ วงจรรวมไมโครแอสแซมบลี (Integrated Circuit) และส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3/2554

จากการประมาณการดัชนีการส่งสินค้าประจำเดือนสิงหาคม 2554 ของแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3/2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องคอมเพรสเซอร์ อุตสาหกรรมตู้เย็น และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.48 8.89 และ 5.07 ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3/2554 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ IC เป็นหลัก หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95 HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.42 และ Semiconductor devices Transisters ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.94 โดยความต้องการสินค้า consumer electronics แต่คงมีอัตราการขยายตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากฐานที่สูง ทั้งนี้ส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลกรวมถึงความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปด้านไอทีมีผลเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมยังคงมีความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับกับการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นและความกังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศกับคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา มีตัวเลขเศรษฐกิจที่มิได้บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การว่างงานในสหรัฐฯยังมิได้ลดลง ส่วนประเทศในอียูบางประเทศ เช่น ประเทศกรีซ ที่ต้องพึ่งพาการกู้เงินจากธนาคารกลางยุโรป และมีการประท้วงของประชาชนที่ไม่ต้องการเสียภาษีที่เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยหนี้สินสาธารณะที่มีมาก เป็นต้น ทำให้การส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอนสูงที่จะส่งออกได้มากเหมือนช่วงก่อนวิกฤตส่วนปัจจัยในประเทศ นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้ว ความผันผวนของปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคของไทยยังคงเป็นปัจจัยที่กระทบกับภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เช่น ต้นทุนจากวัตถุดิบ น้ำมันที่ปรับราคาสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นกันอาจส่งผลต่อการผลิตได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ